“การโค้ช” จำเป็นสำหรับการพัฒนาคน ไม่ว่าการเรียน การสอน การทำงาน เพื่อให้พวกเขามีทักษะและความเข้าใจในมิติที่ลึกขึ้น โดยเฉพาะผู้นำในองค์กร จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ 4 ผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำและสถานศึกษา เผยว่า การ Coaching มีส่วนผลักดันศักยภาพของเยาวชนและพนักงานขององค์กร ช่วยพัฒนาองค์กร เพิ่มยอดขายให้ดีขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่จะทำแบบเดิม ๆ ไม่พัฒนาตัวเอง
สมาคมสหพันธ์การโค้ชนานาชาติ สาขากรุงเทพฯ จึงจัดงาน “การสร้างภาวะผู้นำในยุคปกติใหม่ด้วยการโค้ช” ขึ้น ฌอง-ฟรองซัวส์ คูแซง Immediate Past Chair จาก ICF Professional Coach Global Board ซึ่งทำงานด้านการโค้ชมานาน โดยเฉพาะผู้บริหารในกลุ่มบริษัท Fortune – 500 มีประสบการณ์การโค้ชกว่า 12,000 ชั่วโมง และยังเดินทางไปทั่วโลกเพื่อทำงานร่วมกับทีมผู้บริหาร บอกว่า ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพเยาวชน โดยใช้การโค้ชเป็นเครื่องมือการพัฒนา
“เราควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองเรียนรู้วิธีปีนต้นไม้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นไปได้ หากผู้ใหญ่คอยสนับสนุนอยู่ห่าง ๆ ผมขอยกตัวอย่างกรณี Ray Charles นักร้องและนักแต่งเพลงผู้พิการทางสายตาชื่อดัง ตอนเด็ก ๆ เขาร้องไห้ขอความช่วยเหลือจากแม่ แต่แม่ใจแข็งไม่ช่วยลูก พยายามฝึกฝนให้ลูกเรียนรู้วิธีการอยู่รอดด้วยตนเอง ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยดึงศักยภาพของเขาออกมา ภายใต้เงื่อนไขจำกัด”
ทางด้าน ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส Sustainable Development บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า กระบวนการโค้ชมีส่วนสำคัญในการผลักดันการศึกษาไปในทางใดทางหนึ่ง แผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษาใหม่บอกว่า ครูต้องเปลี่ยนจากเดิม ครูต้องเป็นโค้ชด้วย
“ครูคนหนึ่งจะสอนหลายวิชาเป็นไปไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนครูให้ทำหน้าที่อำนวยการให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วม ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่ปรึกษาของกลุ่มเซ็นทรัลฯ บอกว่าการศึกษาด้วยวิธีเดิม ๆ เป็นไปไม่ได้แล้ว ในกรรมการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ เราเสนอกระทรวงศึกษาเรื่องการปรับบทบาทให้ครูเป็นโค้ช เพราะครูส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าโค้ชคืออะไร ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงเยอะ การทำแบบเดิม ๆ ทำไม่ได้แล้ว ครูต้องมีหน้าที่กระตุ้นให้เด็กคิด ไม่ใช่เรืองง่าย”
สำหรับ ดร.ลักคณา วรศิลป์ชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกว่า ระบบการศึกษาและเส้นทางอาชีพในปัจจุบันล้มเหลวทั้งระบบ ในฐานะที่เรียนมาทางด้านการให้คำปรึกษาด้านอาชีพ (Career Counseing) เราจึงอาสาไปวางระบบให้โรงเรียน พบผู้ปกครองเพื่อบอกว่า อย่าบังคับลูกมากเกินไป ให้ลูกเลือกเรียนที่ชอบ
“ต้องเข้าใจก่อนว่า ครูไม่จำเป็นต้องเก่งกว่าเด็ก แต่ต้องปรับบทบาทเป็นโค้ชมากขึ้น การศึกษาควรเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนต้องมีการปฏิบัติจริง และทิศทางการเรียนรู้จะมีบทเรียนที่สั้นกะทัดรัด เฉพาะเจาะจงตามความสนใจ”
ส่วน พิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล รองกรรมการผู้จัดการบริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เล่าถึงการบริหารจัดการพนักงานในเครือประเทศไทยกว่า 75,000 คน ดังนั้นเวลาจะเปลี่ยนแปลงเรื่องใดต้องทำเป็นระบบ
“ที่นี่มีกระบวนการโค้ชเพื่อสร้าง “เถ้าแก่” ให้โอกาสเด็กจบใหม่ ให้เงินทุน ให้จับกลุ่มทำงาน ให้อิสระในการตัดสินใจ มีระบบติดตามผล และมีสปอนเซอร์คอยประกอบ แต่ห้ามชี้นำ ห้ามสั่ง เพราะหากให้คนรุ่นเก่าคอยบอกจะได้กระบวนคิดแบบเดิม ปรากฏว่ามีธุรกิจอย่างหนึ่งรายได้เพิ่มขึ้นถึง 2.6 เท่า”
ส่วน ธรรมศักดิ์ จิตติมาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด เล่าถึง การนำกระบวนการโค้ชมาใช้ช่วงโควิดระบาดว่า ได้บอกพนักงานว่าจะไม่มีการเอาใครออกจากงาน พนักงานก็เลยพร้อมที่จะทำตามคำแนะนำ
“ตอนนั้นเราเลือกช่องทางการตลาดด้วยการ Live ขายสินค้าทางออนไลน์ เปิดช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้ามากที่สุด เราเป็นผู้บริหารไม่เคยขายสินค้าผ่านช่องทางนี้ ก็ทดลองทำก่อน จากนั้นให้พนักงานลงมือทำ โดยบอกว่า ไม่มีการตั้งเป้ายอดขายใด ๆ ทั้งสิ้น เขาก็สบายใจ จากวันนั้นเราทำรายได้เป็น 10 ล้านบาท หยุดไม่ได้แล้ว”