สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดเชียงใหม่
วานนี้ (2 พ.ย.63) เวลา 10.09 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเก็บผลิตภัณฑ์เกษตร และโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 ฝาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทรงเปิดโรงคัดบรรจุ และโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม โดยโรงคัดบรรจุจะคัดคุณภาพผลผลิต สำหรับนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ดอยคำ ออกแบบและวางสายการผลิตให้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกสุขลักษณะ และป้องกันการปนเปื้อน ภายใต้มาตรฐานการผลิตอาหาร GMP เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค สามารถประยุกต์ใช้ได้กับผลผลิตหลายชนิด ซึ่งตัวอาคาร ออกแบบตามบ้านเรือนในชุมชน ที่มีความเรียบง่าย สะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น
ส่วนโรงเรือนควบคุมสภาพแวดล้อม เป็นอาคารหลังคาโค้งคลุมพลาสติกแบบน็อคดาวน์ จำนวน 14 หลัง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา จัดทำขึ้นตามโครงการ “ยกระดับการแข่งขันในระบบธุรกิจเกษตร” ได้รับงบประมาณจากจังหวัด และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมอบให้กับกลุ่มเกษตรกรทำสวนโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำงอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้การผลิตสตรอว์เบอร์รี่ แบบ Smart Farmer โดยปี 2562 เริ่มส่งเสริมการเข้ามาเรียนรู้ทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ในระบบการควบคุม แสง อุณหภูมิ ความชื้น การให้น้ำ และการให้ธาตุอาหารพืช โดยมีนักวิชาการโรงงานหลวงฯ และสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่คอยให้คำแนะนำ
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงปฏิบัติการวิจัยทางพืช ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด เมื่อปี 2561 เพื่อเป็นแหล่งวิจัยปรับปรุงพัฒนาพืชสายพันธุ์ท้องถิ่น และสายพันธุ์จากต่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่ สามารถต้านทานโรคและแมลง เน้นผลิตพันธุ์พืชที่ปลอดโรค สามารถลดต้นทุนทางด้านการเพาะปลูกแก่เกษตรกร โอกาสนี้ ทอดพระเนตรโครงการ “สร้างโลกสีเขียว” กิจกรรม แกะ ล้าง เก็บ โดยให้ลูกค้านำกล่องยูเอชที ที่เป็นสินค้าของดอยคำออกสู่ตลาดปีละกว่า 60,000,000 กล่อง นำกลับมาแลกเป็นส่วนลด แล้วนำมารีไซเคิลพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในโรงงานหลวง และมอบให้ชุมชน อาทิ พาเลท, เก้าอี้เอนกประสงค์, กรวยจราจร , รวมถึงกระถางเพาะต้นไม้ในโรงเรือน
เวลา 14.25 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนบ้านขุนแม่หยอด อำเภอแม่แจ่ม ทรงติดตามการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ ที่ทรงรับโรงเรียนไว้ในโครงการฯ เมื่อปี 2562 เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียน 117 คน มีเด็กพิการซ้ำซ้อนและบกพร่องทางการเรียนรู้ เรียนร่วมด้วย ในการดำเนินงานปีการศึกษา 2563 มีการนำเทคนิค “แม่หยอดโมเดล” มาใช้ในสื่อ 60 พรรษา , การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม , การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทำให้ในปีการศึกษา 2562 นักเรียนที่จบการศึกษาทุกคน ได้เข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษา และวิทยาลัยการอาชีพ และมีนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ จำนวน 2 คน กำลังศึกษาที่โรงเรียน ด้านการเรียนการสอน มีโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ในปีการศึกษา 2563 เช่น ให้ครูนำสื่อ 60 พรรษามาใช้จัดการเรียนรู้ เน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียน การใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ , ส่งเสริมการใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLIT และ DLTV , ใช้แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน เช่น ห้องสมุด มีกิจกรรม เช่น ตะกร้าหนังสือเคลื่อนที่สู่ชุมชน ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีสวนพฤกษศาสตร์ มีพรรณไม้ประจำถิ่นคือ ต้นค้อ และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ศึก ยังเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่แปลงปกปักป่าชุมชน บ้านแม่หยอด และพื้นที่โรงเรียน
ในการนี้ ทอดพระเนตรการดำเนินงานบ้านพักครูพระราชทาน , การดำเนินกิจกรรมบ้านพักนักเรียน “แบบพึ่งตนเอง” 5 ด้าน เช่น การจัดสภาพแวดล้อม , การดูแลความประพฤติ และการจัดกิจกรรม โดยนักเรียนประจำหอพักยังคอยช่วยในโรงครัว มีการประกอบอาหารแบบ Thai Lunch School ตลอดจนการดำเนินงานระบบน้ำพระราชทาน ที่ใช้น้ำบาดาล ผ่านเครื่องกรองก่อนนำไปบริโภค โดยกรมชลประทานยังจะได้ก่อสร้างฝายพร้อมระบบส่งน้ำ และถังเก็บน้ำที่โรงเรียน และบ้านแม่ขุนหยอด รวมทั้งก่อสร้างระบบส่งน้ำ และถังเก็บน้ำที่บ้านยอดไผ่
จากนั้น ทอดพระเนตรการดำเนินงานเกี่ยวกับไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นภูมิปัญญา ของชาวปกาเกอะญอ ในการทำไร่บนวิถีแห่งการอนุรักษ์ป่า โดยใช้พื้นที่เพาะปลูกแบบหมุนเวียน เพื่อให้พื้นที่เดิมได้พักฟื้น และสะสมแร่ธาตุอาหาร ซึ่งระบบไร่หมุนเวียนได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรม เมื่อปี 2556 โรงเรียนได้นำมาประยุกต์ใช้เป็นหลักสูตรท้องถิ่นวิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง โดยมีสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือเบโด้ ร่วมกับหลายหน่วยงาน ดำเนินงานธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน เพื่อการขยายพันธุ์ และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ชุมชน สำหรับอาคารยูโซเน็ต กสทช.ได้ก่อสร้างขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของชุมชน และจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน โดยวันนี้ได้สาธิตการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ด้านโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน จัดทำเป็นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ และนำผลผลิต มาประกอบอาหารกลางวัน ให้แก่นักเรียน และรับซื้อข้าวเปลือกของชุมชน ที่สีด้วยเครื่องสีข้าวพระราชทาน ไว้บริโภคด้วย