กระแสการชุมนุมของฝ่ายประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นจากกลุ่มนักศึกษาทำให้เกิดการขับเคลื่อนประเด็นแตกแยกย่อยออกไปในหลายประเด็น ทั้งประเด็นความหลากหลายทางเพศ แรงงาน การศึกษา ศิลปะ รวมถึงประเด็นคนพิการด้วยเช่นกัน แฮชแทกที่เกิดขึ้นอย่าง #ถ้าการเมืองดี ถูกเอามาใช้เล่าถึงปัญหาทางสังคมต่าง ๆ มากมาย Thisable.me จึงอยากชวนผู้อ่านทุกคนมาดูว่า หากการเมืองดีแล้ว คนพิการฝันเห็นอะไร
ถ้าการเมืองดี คนพิการจะได้ออกมาใช้ชีวิต :
“ถ้าสภาพแวดล้อมสะดวกกว่านี้ คนพิการจะออกมาใช้ชีวิต ฟุตบาทหรือลิฟต์ที่มีในปัจจุบันไม่สามารถใช้ได้จริง เหมือนทำให้รู้ว่ามีก็เท่านั้น”
“เวลาที่เราเดินทางไปม๊อบต้องมีการต่อรถหลายสายเพราะลำพังเราเองก็ไม่ได้มีกำลังที่จะนั่งรถแท็กซี่ไปทุกครั้ง บางครั้งก็ต้องลงถนน สลับขึ้น ๆ ลง ๆ ระหว่างถนนกับฟุตบาทที่ค่อนข้างสูงมาก เพื่อนผู้หญิงที่ไปด้วยก็ช่วยไม่ไหวจนคนแถวนั้นต้องเข้ามาช่วยยก เรามองว่าการใช้ชีวิตของคนพิการในกรุงเทพฯ เป็นอะไรที่ลำบากมาก ยิ่งถ้าไม่มีรถส่วนตัวก็อาจทำให้คนที่พิการไม่มากกลายเป็นคนพิการสุด ๆ เพราะเขาไม่สามารถที่จะไปไหนได้
“เราไปร่วมชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากมีการสลายการชุมนุมที่ถนนเกียกกาย วันสลายการชุมนุมเราเองก็โดนความรุนแรงและเกิดอุบัติเหตุด้วย ขนาดว่าไม่ได้อยู่แถวหน้า แต่สะเก็ดแก๊สที่หลงเหลืออยู่ทำให้รู้เลยว่า พลังของมันแรงมากจริง ๆ แสบตาจนน้ำตาไหล ตอนนั้นคิดถึงคนที่อยู่แถวหน้าว่าเขาจะได้รับผลกระทบขนาดไหน ในช่วงชุลมุนเราเองก็รีบปั่นวีลแชร์ เพื่อน ๆ ในม๊อบก็มาช่วยกันเข็นและด้วยความชุลมุนก็เกิดอุบัติเหตุวีลแชร์สะดุดจนเราล้ม น็อตวีลแชร์หลุดหายไป 3 ตัว (หัวเราะ) แต่การล้มทำให้เห็นว่าทุกคนช่วยกัน ไม่มีใครทิ้งกัน หากใครมองว่าม็อบคณะราษฎรใช้กำลัง มีความรุนแรง เราจะขอเถียงเพราะตัวเองไปมาตลอดตั้งแต่ที่สนามหลวงจนถึงวันนี้ พวกเรามีแค่แว่นและน้องเป็ด คุณไม่เคยไปใช่ไหมถึงมองว่ารุนแรง เลยอยากชวนให้ลองมาสัมผัสเอง จะแฝงตัวมาก็ได้ จะใส่เสื้อสีอะไรมาก็ได้ อยากให้มาเห็นความประทับใจที่เราได้กลับมาตลอด ทุกคนคอยช่วยเหลือ ดูแลกันและกัน ไปด้วยอุดมการณ์เดียวกันที่อยากจะเปลี่ยนแปลง ถ้าคนไม่เดือดร้อนจริง ๆ ก็คงไม่ออกกันมาเยอะขนาดนี้”
“ทุกวันนี้ไม่กังวลเลย ตั้งแต่วันที่ไปสนามหลวงแล้วเขาบอกว่าจะเข้าสลายการชุมนุมเพราะเกินเวลา เราก็ยังตัดสินใจไปร่วม ไม่ได้กลัวแต่คิดว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงทำให้มันดีขึ้น อยากเป็นส่วนหนึ่งของการบอกว่า ขนาดหนูพิการ หนูมีความลำบากทางด้านร่างกาย แต่หนูเลือกออกมาม็อบเพราะหนูทนกับความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ไม่ได้ จนต้องยอมออกมาลำบากในม็อบทั้งที่ที่ม็อบไม่ได้สะดวกกับหนู นั่งนาน ๆ ขาก็บวม เข้าห้องน้ำก็ลำบาก หนูอยากแสดงให้เห็นว่าเรามาเพราะอยากให้ประเทศดีขึ้น ตอนนี้มีปัญหาหลายอย่าง ค่าครองชีพที่สูงมาก การเดินทางที่แย่ไม่ใช่แค่สำหรับคนพิการแต่คนที่ไม่พิการก็ต้องยืนรอรถเมล์นานมากทั้งที่เลิกงานแล้วก็ควรได้กลับบ้านพักผ่อน ชีวิตเขาไปไหนหมด กฎหมายอะไรที่ไม่ควรเอามาใช้ก็เอามาใช้ ทั้งที่มีคดีอีกมากที่ควรจะจับได้แต่ก็จับไม่ได้ นอกจากนี้เราก็ยังเห็นการปิดกั้นสื่อผ่านอำนาจของรัฐบาล ทั้งที่สื่อควรจะได้ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลที่รอบด้าน
“เรื่องการศึกษาก็เช่นกัน ทำไมคนกรุงเทพฯ กับคนต่างจังหวัดจึงได้รับคุณภาพการศึกษาที่ต่างกัน ทั้งที่ทุกคนเสียภาษีเท่ากัน ทำไมคุณภาพชีวิตเราถึงแย่กว่าชีวิตของคนกรุงเทพฯ ทำไมรัฐบาลมองไม่เห็นปัญหาตรงนี้ถึงออกแต่นโยบายที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างโครงการคนละครึ่ง หนำซ้ำไม่ใช่ทุกคนที่ได้ประโยชน์ เราเลยมองว่านี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่รัฐบาลควรทำ แต่ควรแก้ปัญหาได้ดีและยั่งยืนกว่านี้”
“เราไม่เหนื่อยเลย ยิ่งเห็นคนโดนจับยิ่งอยากออกไป อยากให้มีม็อบทุกวัน อยากออกไปให้ตำรวจเห็นว่าแกนนำไม่ใช่แค่คนที่ถูกจับ แต่ทุกคนก็คือแกนนำ ไม่ว่าใครก็สามารถขึ้นไปพูดปัญหาที่ตัวเองเจอได้ ต่อให้ไม่มีแกนนำ ม็อบก็เดินต่อได้อย่างที่ห้าแยกลาดพร้าวเพราะทุกคนมาด้วยอุดมการณ์เดียวกัน สิ่งที่เสียดายคือเรายังไม่ค่อยเห็นคนพิการในม็อบสักเท่าไหร่ อาจเพราะอุปสรรคด้านการเดินทาง หรืออย่างเราเองก็จะต้องชวนเพื่อนไป หากเพื่อนไม่พร้อมก็ต้องไล่ชวนคนอื่น ค่าใช้จ่ายก็เป็นเรื่องใหญ่ เราเองเก็บเงินสำรองไว้เป็นค่าแท็กซี่และจ่ายแทนเพื่อนด้วยเพราะมองว่าถ้าเพื่อนไม่ได้ไปกับเรา เพื่อนอาจนั่งรถเมล์หรือเลือกการเดินทางที่ประหยัดกว่านี้ได้ เราไม่ได้มีคนใหญ่คนโตหนุนหลังอย่างที่เขาบอกกันเลยไม่ได้เดินทางฟรี ฉะนั้นทุกการไปม็อบคือค่าใช้จ่าย
“ความคิดต่าง ๆ ที่ถูกปลูกฝังมาเราคิดว่าจะต้องแก้ตั้งแต่ระบบการศึกษา ผู้ใหญ่ที่ดูถูกเด็กในวันนี้เขาก็ถูกสอนด้วยชุดความรู้แบบหนึ่งและอาจไม่ได้มีโอกาสหาความรู้ชุดอื่น ๆ เพราะเทคโนโลยีในสมัยนั้นไม่ได้แพร่หลาย ฉะนั้นเมื่อปัจจุบันมีเทคโนโลยีแล้ว การเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ก็ควรต้องเปลี่ยนเพราะโลกข้างนอกไปไกลกว่าแบบเรียน คนตาสว่างกันแล้ว เลยอยากจะฝากถึงคนที่ไล่ให้เยาวชนไปเสียภาษีทั้งที่ทุกคนก็รู้กันว่าแค่ซื้อของในร้านสะดวกซื้อก็เสียภาษีแล้ว ให้มองเห็นคุณภาพชีวิตในอนาคต ไม่ใช่ว่าคุณอยู่ในพื้นฐานครอบครัวที่ดีอยู่แล้วจึงไม่มองคนรากหญ้า เราอยู่ประเทศเดียวกันก็ควรที่จะมองเห็นคุณภาพชีวิตของทุกคนเท่ากัน คนจน คนรากหญ้าก็มีฐานะเป็นประชาชนเจ้าของประเทศไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง เปิดใจสักนิด ใส่ใจคนข้างหลังสักหน่อยแล้วจะเข้าใจว่าตอนนี้เราออกมาเรียกร้องเพื่ออะไร”
ถ้าการเมืองดี ฟุตบาทจะดี :
“ถ้าการเมืองดี การวางแผนผังเมืองก็จะดีด้วย ตัวเราเองมีปัญหากับเรื่องฟุตบาทมากเพราะใช้เดินทางทุกวัน เสาไฟฟ้า สะพานลอย ป้อมตำรวจ ฝาท่อและทางลาดที่ใช้ไม่ได้ ทำให้เราต้องลงไปเข็นวีลแชร์บนถนน ซึ่งอันตรายมาก ถ้าการเมืองดีเราคงไม่ต้องมาเจออะไรแบบนี้”
“หากการเมืองดีเมื่อรัฐทำอะไรสักอย่างเขาก็จะนึกถึงคนทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใครต้องสามารถใช้ระบบขนส่งได้ เราจะมีงบประมาณในการปรับปรุงสิ่งที่มีปัญหา ถ้าคนที่มีอำนาจมากพอใส่ใจความเป็นอยู่ของประชาชนงบประมาณจะถูกเอามาใช้อย่างถูกต้องและทำให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศไม่ว่าจะพิการหรือไม่พิการดีขึ้น พอเราเห็นปัญหาเยอะแยะที่ไม่ถูกแก้ก็เกิดคำถามว่า คนที่มีอำนาจทำงานนั้นเก่งจริงหรือเปล่า มีความสามารถแค่ไหน
เหตุผลที่ไปม็อบเพราะเราเห็นความเหลื่อมล้ำ ถ้าเราเดินได้เราสามารถขึ้นรถเมล์ เดิน นั่งวินมอเตอร์ไซค์ไปทำงานก็ได้ ราคาก็ถูกกว่า แต่เมื่อนั่งวีลแชร์เราไม่สามารถใช้ฟุตบาทได้ เราไม่สามารถเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะได้ หลายครั้งต้องนั่งแท็กซี่จนเสียค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตมากกว่าคนอื่น เราอยากให้การออกมาร่วมในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถเรียกร้องสิทธิของตัวเองได้ ออกไปเพื่อให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ก็เจอปัญหา แม้ผู้มีอำนาจอาจมองไม่เห็นแต่อย่างน้อยคนทั่วไปก็จะได้รู้ว่า ปัญหาที่เราเจอนั้นแย่มาก ขนาดคนที่เดินทางลำบากยังต้องออกมาเรียกร้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การโดนข้อหาไม่ควรเกิดขึ้นเพราะทุกคนมีสิทธิที่จะพูด การใช้กฎหมายที่ผ่านมาเพื่อทำให้คนรู้สึกกลัวนั้นไม่ได้ผลหรอก เราไม่เคยกังวลเรื่องนี้แต่ก็เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย เหมือนที่หลาย ๆ คนน่าจะเห็นผ่านสื่อว่า บางครั้งก็มีการปะทะกัน หากเป็นคนทั่วไปก็อาจจะสามารถเอาตัวรอดได้ง่ายกว่า แต่เมื่อเรานั่งวีลแชร์โอกาสที่จะเกิดอันตรายก็สูง โอกาสที่จะเอาตัวเองออกมาจากเหตุการณ์ยากก็มี แต่ถ้าถามว่าคุ้มที่จะเสี่ยงไหมเราก็คิดว่าคุ้ม ดีกว่าอยู่บ้านเฉย ๆ โดยไม่มีใครรู้ปัญหาและไม่รู้ว่ายังมีอีกหลายอย่างในประเทศนี้ที่ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง”
“คนที่บอกว่าประเทศเราดีอยู่แล้วอาจเป็นเพราะเขามีความสุขสบายในชีวิต หากเปรียบเทียบสังคมคือบ้าน ขนาดบ้านคุณมีปัญหาพื้นพัง น้ำรั่ว อยู่ไม่สบายคุณยังต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้ากับคนในบ้าน สังคมก็เหมือนกัน หากคนที่อยู่มีปัญหา มีเรื่องไม่สบายก็ต้องได้รับการปรับปรุง ทำไมถึงบอกว่าบ้านเมืองของเราดีแล้วจนไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร ผู้ชุมนุมออกมาเล่าปัญหาเยอะแยะ ซึ่งเห็นได้ง่ายมากโดยเฉพาะเดี๋ยวนี้มีสื่อโซเชียลเราก็ไม่ควรจะปิดรับสิ่งที่จะพัฒนาให้ประเทศเราดีขึ้น ถ้าวันหนึ่งเรามีโอกาสได้คุยกับคนที่มองว่าเด็กและเยาวชนที่ออกมาม็อบเป็นพวกหัวรุนแรงหรือจาบจ้วง เราก็จะเล่าให้เขาฟังว่า สิ่งที่เราออกมาเคลื่อนไหวนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เราไม่ได้พูดแบบปั้นน้ำเป็นตัวหรือต้องการสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อให้เกิดความไม่สงบในประเทศ คุณควรพยายามทำความเข้าใจและหากไม่เข้าใจเราก็อยากชวนไปเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง อย่างเช่นปัญหาของคนที่ใช้วีลแชร์ซึ่งเห็นได้ง่ายมาก”
ถ้าการเมืองดี นโยบายของรัฐก็จะดี :
“คำว่าการเมืองดีของผมคือประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มองเห็นทุกคนคือมนุษย์เท่าเทียมกัน คนทุกคนไม่ว่าจะพิการ ไม่พิการก็ต้องได้รับสิทธิผ่านนโยบายที่คิดเพื่อทุกคน มีสวัสดิการที่เอื้อให้เขาสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี”
“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือความเหลื่อมล้ำของนโยบายรัฐที่ทำให้คนถูกเลือกปฏิบัติ ได้รับการสงเคราะห์แทนที่จะมีรัฐสวัสการ เช่น สวัสดิการแห่งรัฐหรือแม้แต่เบี้ยคนพิการที่เพิ่มแบบไม่เท่ากัน สิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องคือเราควรจะมีรัฐสวัสดิการได้แล้วเพราะรัฐสวัสดิการนั้นตอบโจทย์กับคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่คนพิการหรือผู้สูงอายุ ความเหลื่อมล้ำทุกวันนี้เห็นได้จากทุกส่วน คนจนไม่มีเงินส่งลูกเรียน ในขณะที่คนรวยส่งลูกเรียนจบปริญญาได้สบาย ๆ แล้วจะบอกว่าทุกคนมีโอกาสเท่ากันได้ยังไง ถ้าหากทุกคนได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานเท่ากัน ความเหลื่อมล้ำก็จะน้อยลงและค่อย ๆ หายไปแปรผันตามโอกาสทางการศึกษา ตัวผมเป็นคนพิการรุนแรงที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียว ในแต่ละเดือนค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้งค่าห้อง ค่าผู้ช่วยคนพิการ ค่าแพมเพิส ค่าเดินทางไปทำงาน ค่ากินและค่าใช้จ่ายอื่น เมื่อเทียบกับคนอื่นที่เงินเดือนประมาณ 9,000 เท่ากัน เขาไม่ต้องมาเสียเหมือนผม ไม่ต้องมีค่าผู้ช่วยคนพิการ ไม่ต้องมีค่าแพมเพิสหรือค่าเดินทางที่สูงกว่า คุณเห็นความเหลื่อมล้ำไหม ผมจึงเข้าใจคนที่ต้องออกมามาขโมยของไปเป็นค่านมลูกเพราะพวกเขาไม่มีทางเลือก สังคมมันเหลื่อมล้ำ สวัสดิการก็ไม่เอื้อให้คนได้อยู่แบบมีคุณค่า”
เงินเดือนจากบริษัท 9,300 บาท ได้มาแต่ละเดือนก็ต้องจ่ายค่าแพมเพิส ค่าเดินทางที่สูงกว่าคนทั่วไป ค่าผู้ช่วยคนพิการ แค่คนพิการรุนแรงจะเข้าห้องน้ำคุณก็ต้องเสียตังค์แล้วเป็นค่าผู้ช่วยต่อเดือนประมาณ 6,000 บาทหรือชั่วโมงละ 100 บาท คิดดูหากคุณเป็นคนพิการรุนแรงที่ใช้ผู้ช่วย 24 ชั่วโมง เดือน ๆ หนึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายหมื่นกว่าบาท มันไม่พอกับเงินเดือนที่ได้มาหรอก ผมเคยคิดว่าถ้าวันหนึ่งถ้าทำงานไม่ไหวแล้วจะอยู่ยังไง ทุกวันนี้ที่อยู่ได้เพราะมีงานทำ แต่คนพิการอีกหลายคนต้องอาศัยครอบครัวในการดูแล มีพ่อแม่คอยอาบน้ำแต่งตัวให้ บางวันพ่อแม่ไม่ว่างก็ต้องปล่อยลูกนอนขี้เต็มกางเกง 5-6 ชั่วโมงถึงกลับบ้านมาจัดการ
หากอนาคตประเทศไทยยังไม่มีรัฐสวัสดิการที่จะสามารถดูแลคนพิการได้ เราอาจต้องพูดถึงเรื่องการุณยฆาตเพราะผมก็ไม่รู้ว่าจะอยู่อย่างไรหากทำงานไม่ได้เมื่อแก่ตัวไป เวลาคนพูดว่า คนพิการได้เบี้ยความพิการ 800 บาทแล้วจะมาเรียกร้องอะไรอีกผมก็ต้องบอกเลยว่า บริบทของคนพิการแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ใช่คนพิการทุกคนที่ลุกขึ้นมาทำงานได้ หลายคนพิการภายหลังที่นอกจากสูญเสียฟังก์ชันร่างกายแล้ว ยังเสียความเชื่อมั่นและคิดว่าตัวเองเป็นภาระที่ต้องให้คนอื่นเลี้ยงดู นอกจากนี้ถึงแม้เขาทำงานได้ ก็มีไม่กี่บริษัทที่รับคนพิการทำงานแล้วพร้อมที่จะปรับสิ่งอำนวยความสะดวก ผมว่าเวลาพูดแบบนี้ก็ต้องดูด้วยว่าโครงสร้างบ้านเราเป็นอย่างไร ทำไมคนพิการถึงออกมาทำงานไม่ได้
“ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่ว่ารวยจนหรือเกิดมาในครอบครัวไหนคุณก็คือมนุษย์ แต่ทำไมโครงสร้างสังคมจึงไม่เอื้อให้คนทุกคนอย่างเท่าเทียมจนเกิดความเหลื่อมล้ำ เราจึงมองว่าข้อเรียกร้องของนักศึกษา 3 ข้อที่มองว่าทุกคนเท่ากันนั้นเป็นไปได้จริง พลเมืองทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงออกทางความคิดเห็นและเป็นสิทธิของผมเช่นกันที่จะร่วมชุมนุมได้ เราก็ไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะเป็นยังไงเราแต่เราผ่านความกลัวตรงนั้นมาหมดแล้ว”
ถ้าการเมืองดี คุณภาพชีวิตของทุกคนจะดี :
“ผมอยากทำตามความฝันของตัวเองบ้าง แต่การจะทำแบบนั้นได้ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี สภาพแวดล้อมที่ดีที่ทำให้สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ และการเมืองก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้น”
การเมืองเชื่อมโยงกับทุกมิติของชีวิต โดยเฉพาะประเด็นคนพิการไม่ว่าจะเป็นเรื่องรักษาพยาบาล เรื่องกายอุปกรณ์ เบี้ยยังชีพคนพิการ เรื่องแรกคือเรื่องที่สำคัญมากอย่างการศึกษา ในขณะที่เด็กคนอื่นในชุมชนที่ไม่ได้มีความพิการอาจจะสามารถเลือกเรียนใกล้บ้านได้ แต่เด็กพิการไม่สามารถที่จะเลือกเรียนใกล้บ้านได้เนื่องจากข้อจำกัดของสภาพแวดล้อม ห้องเรียน อาคารเรียน ไปจนถึงครูผู้สอนเองที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความพิการ สองคือเรื่องการเดินทางหรือสภาพแวดล้อม แม้เราจะต่อสู้กันมาอย่างยาวนานไม่ว่าจะกี่รัฐบาลแล้วแต่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงและยิ่งทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น ขณะที่ประชาชนคนอื่นมีทางเลือกในการเดินทางอย่างหลากหลาย แต่คนพิการเองไม่มีทางเลือกในการเดินทาง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผมออกมาร่วมชุมนุม นอกจากประเด็นเรื่องคนพิการที่เป็นอัตลักษณ์ของผมด้วยแล้ว ความคิดเห็นทางการเมืองที่ตรงกันกับม็อบนี้อย่างระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย เห็นคนเท่ากัน ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าต้องออกมา
ม็อบไม่ได้น่ากลัว ไม่มีการใช้ความรุนแรง แต่มีความคิดสร้างสรรค์มาก ทั้งการแสดงศิลปะ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ การทำกิจกรรมที่ทำให้คนตระหนักรู้เรื่องของสิทธิ เสรีภาพ และความสำคัญของสวัสดิการทางสังคม ไม่ได้จ้องจะโจมตีหรือทำลายฝั่งตรงข้าม สำหรับผมการเดินทางไปม็อบไม่ได้สะดวกสบาย ถ้าใกล้สถานีรถไฟฟ้าก็จะเดินทางง่ายขึ้น แต่ถ้าม็อบไม่ใกล้รถไฟฟ้าก็ต้องนั่งแท็กซี่เข้าไป
ผมคิดว่าประชาธิปไตยที่ดีต้องรับฟังเสียงของทั้งคนส่วนมากและส่วนน้อย แต่ปัจจุบันเราจะเห็นว่าตั้งแต่มีการรัฐประหารและคสช. เข้ามา ประชาชนก็ถูกจำกัดสิทธิหลายด้าน เกิดความไม่เป็นธรรมกับนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม เราเห็นการใช้อำนาจโดยไม่สมควรและรู้สึกไม่พอใจต่อวิธีที่รัฐบาลใช้ จึงมองว่าถ้าไม่ออกมาเรียกร้องก็แสดงว่าเรายอมรับการอยู่ภายใต้อำนาจนี้ การสลายการชุมนุมที่ผ่านมาผมมองว่า ไม่สมเหตุสมผล รัฐใช้ความรุนแรงในการฉีดน้ำผสมสารเคมีที่ส่งผลต่อกลุ่มผู้ชุมนุมนมทั้งที่ไม่ได้มีความวุ่นวายหรือความรุนแรง เราไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุและมองว่าควรประณามการกระทำเหล่านี้
“ม็อบราษฏรเป็นม็อบแรกที่ผมไป จุดเปลี่ยนก็คือการได้ศึกษาประวัติศาสตร์ตั้งแต่ช่วงปี 54 เป็นต้นมา เราค้นพบว่าภายใต้ปัญหาทางการเมืองต่าง ๆ ล้วนเชื่อมโยงกับอำนาจการปกครองแบบศักดินาที่กดทับผู้คน ถ้าเราไม่กล้าพูดในวันนี้แล้วจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ทำไมคนไม่ตั้งคำถามเมื่อเห็นหนี้สินที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด รถเมล์ที่ใช้ตั้งแต่ผม 5 ขวบก็ยังเป็นคันเดิม คุณภาพแย่เหมือนเดิม ภาษีที่เราจ่ายหายไปไหนทำไมคุณภาพชีวิตของคนไม่ดีขึ้น คนควรรักชาติ รักประชาชนและมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น ใครจะมองว่าม็อบเด็กรุนแรง จ้วงจ้าบอย่างไรเราก็ไม่ได้แคร์เพราะเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราแคร์อนาคตมากกว่า ครั้งหนึ่งที่ผมเคยแสดงละครใบ้ ทาหน้าขาวทำท่าคว้าพานรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องสิทธิทางการศึกษาของเด็กพิการ มีคนมาคอมเมนท์ว่า ‘อ้วนแบบนี้พิการจริงเหรอ?’ หรือ ‘แค่ให้คนพิการเรียนก็น่าจะพอใจได้แล้ว’ ผมคิดว่าความคิดแบบนี้แสดงให้เห็นเลยว่าระบบศักดินาที่ครอบอยู่กดทับประชาธิปไตยอย่างไร ถึงทำให้คนไม่เห็นความหลากหลายของคนในสังคมและตัดสินคนอื่นผ่านการแบ่งชนชั้นแบบนี้”