เปิดนโยบายในฝันของคนพิการ “บนฐานสิทธิไม่ใช่ฐานสงเคราะห์”

เปิดตลาดนโยบายคนพิการเสนอพรรคการเมือง กลุ่มตัวแทนคนพิการและนักสิทธิคนพิการเสนอนโยบายที่เอื้อต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนพิการ- รัฐต้องจัดหาผู้ช่วยคนพิการ  ชี้ปัญหาหน่วยงานคนพิการ ราชการทั้งกำกับและบริหาร ควรกระจายอำนาจ ให้เอกชนหรือท้องถิ่นดูแล เปิดโมเดลสถาบันพัฒนาองค์กรคนพิการชุมชนในฝัน

นโยบายบนฐานสิทธิไม่ใช่ฐานสงเคราะห์ เอื้อต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนพิการ

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย นักสิทธิคนพิการ สำนักงานองค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ DPI-AP (Disabled Peoples’ International Asia-Pacific Region)

เมื่อถามถึงนโยบาย ความฝันใหญ่ที่เสาวลักษณ์มองว่าอาจอยู่ไกลแต่ถ้าเป็นจริงได้ คือทำให้รัฐมีนโยบายที่คำนึงถึงคนพิการได้อย่างละเอียดอ่อนกว่านี้ อยากให้กระทรวงต่างๆ มีนโยบายจำเพาะที่เกี่ยวกับคนพิการ หรือ Disability Policy อยู่ในนโยบายหลักที่แต่ละกระทรวงดูแลอยู่ เมื่ออยู่ในนโยบายหลัก ระเบียบกระทรวงและกฎอื่นๆ ที่รองลงมาก็จะคำนึงถึงคนพิการ และมีงบประมาณ มีเงินทุน และบุคคลากรสนับสนุน

เสาวลักษณ์เสนอ 3 ประเด็น ที่ควรถูกพูดถึงในนโยบาย โดยทั้งหมดนี้อยู่บนฐานของสิทธิที่ทุกคนพึงมีพึงได้ ไม่ใช่การสงเคราะห์

  1. สิทธิการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ของคนพิการ ต้องออกแบบให้คนพิการมีสิทธิการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด ทั้งรถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า ระบบขนส่งทางอากาศ การสัญจรทางฟุตบาธ และสิ่งจำเป็นเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพควรต้องคำนึงถึงการเชื่อมต่อในแต่ละระบบด้วย การขนส่งที่แยกส่วนกันอย่างปัจจุบันทำให้การใช้งานเกิดความไม่สะดวก หากเชื่อมต่อกันแล้ว คนพิการก็จะไม่กระอักกระอวนในการเดินทางลำพัง หรือญาติพี่น้องก็ไม่รู้สึกกระอักกระอวนที่จะพาคนพิการออกจากบ้าน เป็นการสนับสนุนให้คนพิการออกจากบ้านไปทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เรียนหนังสือ ทำงาน สันทนาการ และแน่นอนว่าการใช้ระบบขนส่งสาธารณะนั้นช่วยลดค่าใช้จ่ายได้
  2. การเข้าถึงบริการการศึกษาและการจ้างงาน การเข้าถึงการศึกษาหมายถึงตั้งแต่ระดับประถมวัยถึงอุดมศึกษา ต้องออกแบบการศึกษาแบบถ้วนหน้า คือส่งเสริมให้มีการเรียนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม ให้มีแผนการจัดการเรียนร่วม ให้คนพิการออกมาเรียนในระบบทั่วไปตั้งแต่ประถมวัยถึงอุดมศึกษา ซึ่งนอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพแล้วต้องคำนึงถึงหลักสูตร และบุคคลากรผู้มีความรู้เฉพาะด้านที่จะตอบสนองต่อนักเรียนพิการได้

ในเรื่องการจ้างงานนอกจากระบบโควตาแล้ว การจ้างงานแบบสัดส่วนต้องเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง ส่วนจ้างงานทั่วไป ต้องสร้างความตระหนักรู้ให้ตลาดแรงงาน ถึงทักษะ ความสามารถ และการยอมรับคนพิการ เข้าไปทำงานในตลาดแรงงานทั่วไป

  1. หลักประกันทางสังคมแบบถ้วนหน้า ต้องมีมาตรการจำเพาะที่ให้คนพิการเข้าถึงหลักประกันสังคมถ้วนหน้าได้ ประเด็นหลักคือเรื่องเงินอุดหนุนเด็กเล็ก เพราะประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเด็กพิการมักถูกละเลย ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการไม่ได้พูดถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก และไม่มีมิติของเด็กอยู่ใน พ.ร.บ.นี้ ทำให้เงินอุดหนุนเกี่ยวกับเด็กพิการค่อนข้างไปได้ช้า ขณะนี้เรามีเด็กพิการอายุตั้งแต่ 0-14 ปี คิดเป็นร้อยละ 4.4 จะทำอย่างไรให้นโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้ามีมาตรการจำเพาะตอบสนองความต้องการของเด็กพิการวัยต่างๆ ได้ เงินอุดหนุนเหล่านี้จะช่วยให้เด็กพิการเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้ปกครองอาจเอาไปใช้รักษาพยาบาล ฟื้นฟู การศึกษาระดับประถมวัย หรือการเตรียมความพร้อม
  2. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เสาวลักษณ์ทำงานขับเคลื่อนเรื่องการถูกล่วงละเมิดของผู้หญิงพิการ และการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ เสาวลักษณ์เสนอให้มีการทำงานในเชิงรุก ตั้งแต่ในขั้นครอบครัว ชุมชนไปจนถึงชั้นศาล

เสาวลักษณ์เสนอว่าต้องเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการถูกล่วงละเมิดว่าไม่ใช่ความผิดของผู้หญิง ต้องมีมาตรการจำเพาะ ประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในมิติต่างๆ การเข้าถึงพื้นที่ ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร ระบบที่จะสนับสนุนระหว่างต่อสู้คดี เช่น การออกไปอยู่สถานที่พึ่งพิง หรือคนที่จะเป็นที่ปรึกษาสนับสนุน หรือศูนย์ปรึกษา และนอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการเยียวยา เงินอุดหนุนในการต่อสู้คดีด้วย

“ผู้หญิงพิการ ถูกกดทับด้วยมิติที่ซ้อนทับสองอย่างทั้งความพิการและความเป็นหญิง คนพิการถูกเลือกปฏิบัติเนื่องจากความพิการ การเข้าไม่ถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ส่วนความเป็นหญิงก็เสมือนเป็นพลเมืองชั้นรองที่ครอบครัวเป็นเจ้าของ ผู้หญิงพิการเหมือนเป็นสิ่งของ ไม่มีอำนาจ ความสามารถใดๆ ถูกเลือกปฏิบัติทั้งทางตรงทางอ้อม เช่น ไม่ส่งให้เรียนหนังสือ ให้ทำเพียงงานบ้าน มีแนวโน้มถูกล่วงละเมิด จากประสบการณ์การล่วงละเมิดจากคนใกล้ชิดคือสิ่งแรกที่เกิดกับผู้หญิงพิการ และผู้หญิงพิการเองก็ออกจากวงจรความรุนแรงนี้ไม่ได้เพราะต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง การล่วงละเมิดจากคนใกล้ชิดมีปัจจัยของความสัมพันธ์ เช่น ญาติใกล้ชิดเป็นคนกระทำ ทำให้ผู้หญิงยากที่จะออกมา เมื่อครอบครัวรู้แล้วก็ช่างมันเพราะคนนี้เขามีบุญคุณกับเรา เมื่อจะมาแจ้งความ สิ่งที่พบคือคนรอบข้างไม่เชื่อ คิดว่าโกหก สังคมมักโทษผู้หญิงก่อน ดังนั้นหากทำนโยบายเรื่องนี้เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้หญิงพิการได้ ผู้หญิงทั้งหมดก็จะได้รับประโยชน์ด้วย” เสาวลักษณ์กล่าว

หน่วยงานคนพิการ พบปัญหาราชการทั้งกำกับทั้งบริหาร ต้องกระจายอำนาจ ให้เอกชนหรือท้องถิ่นดูแล

วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และผู้ก่อตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน กล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับคนพิการที่อยากให้เกิดขึ้นว่า

การจัดตั้งหน่วยงานคนพิการในท้องถิ่นมีปัญหาหลัก 2 ข้อ หนึ่งคืองบกองทุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะนำเงินของกองทุนไปจัดบริการให้แก่คนพิการมีแนวโน้มลดลง แม้ว่าเงินในกองทุนจะมีจำนวนมาก แต่เมื่อปี 2560กระทรวงการคลังกลับเรียกร้องให้นำเงิน 2,000 ล้านบาทจากกองทุนนี้ส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน โดยเห็นว่าเป็นเงินส่วนเกิน ขัดแย้งกับนโยบายที่สนับสนุนให้นายจ้างจ้างคนพิการมากขึ้น ซึ่งจะทำให้นายจ้างที่ไม่จ้างคนพิการและต้องส่งเงินเข้ากองทุนแทนมีจำนวนลดน้อยลง เชื่อได้ว่าเงินไหลเข้ากองทุนจะลดน้อยลงกว่าเงินไหลออก จนกองทุนต้องประสบภาวะขาดสภาพคล่องในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้การบริหารจัดการงบประมาณโดยหน่วยงานของคนพิการก็เป็นปัญหา เพราะหน่วยงานดังกล่าวมีส่วนราชการเป็นทั้งคนกำกับดูแลและบริหารงาน ดังนั้นการกำกับดูแลตรวจสอบจึงไม่เคยเกิดขึ้นจริง เป็นการรวมอำนาจอยู่ที่ฝ่ายราชการเพียงอย่างเดียว และทำงานแบบเชิงรับ ไม่ส่งเสริมหรือ empower ให้คนพิการตระหนักถึงการเข้ามารับบริการ เช่น การฝึกอบรมอาชีพ การฟื้นฟูสมรรถภาพ การรักษาพยาบาล เป็นต้น

วิริยะเสนอให้มีการกระจายอำนาจโดยให้ส่วนท้องถิ่นหรือเอกชนเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการ เช่น งานด้านการฝึกอบรมอาชีพ เพราะแนวคิดของเอกชนหรือท้องถิ่นต้องมุ่งบริหารงานเพื่อให้ตอบสนองกับท้องถิ่นนั้นๆ เต็มที่ เพื่อที่ท้องถิ่นจะได้มาใช้บริการกับเขาต่อไป แล้วเขาถึงจะอยู่ได้ กลับกันหากเป็นแนวคิดราชการเขาจะไม่ได้สนใจว่าต้องบริหารให้ดี ให้ทั่วถึง เข้าถึงประชาชน แต่เขาแค่ทำเพื่อได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไป แต่ทั้งนี้งบประมาณที่เขามาก็เป็นอำนาจที่เขาอยากจะกุมไว้ตลอด ดังนั้นแม้จะมีการเสนอแนวคิดให้ท้องถิ่นหรือเอกชนเข้ามาจัดการ แต่แนวคิดนี้ก็ไม่เคยได้รับการอนุมัติ

รัฐต้องจัดหาผู้ช่วยคนพิการ (PA) และสถาบันพัฒนาองค์กรคนพิการชุมชนในฝัน

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์

ผู้ช่วยคนพิการ (PA)

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ นักสิทธิด้านคนพิการ อธิบายถึงผู้ช่วยคนพิการหรือพีเอ (PA: Personal Assistant) ว่าต่างกับผู้ดูแล ซึ่งคือคนในครอบครัวที่ดูแลคนพิการอยู่เป็นประจำ ผู้ช่วยคนพิการหรือพีเอคือ สวัสดิการของรัฐที่รัฐจัดสรรให้ พีเอไม่ใช่คนใช้ของบ้าน แต่เป็นคนทำตามสิ่งที่คนพิการตัดสินใจ ไม่คิดแทน ตอนนี้คนพิการมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,720,000 คน เป็นคนพิการระดับรุนแรงประมาณ 50,000 คน มีพีเอ 700-800 คน และมีแนวโน้มลดลง เพราะไม่มีการลงทะเบียนใหม่เพิ่ม

ในยุโรปอธิบายว่า เมื่อมีคนพิการ สมาชิกในครอบครัวต้องหยุดงานมาดูแล แต่ถ้ามีระบบพีเอ แรงงานราคาสูงจำนวนมากก็กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่วนแรงงานราคาถูกก็ได้กลับเข้ามาในระบบงาน ทั้งนี้ต้องมีกระบวนการอบรมคนพิการให้รู้ว่า พีเอคืออะไร มีหน้าที่แค่ผู้ช่วย แต่ไม่มีสิทธิตัดสินใจแทน แต่รัฐไม่มีเคยมีการเวิร์คช็อปคนพิการเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีชุมชนบางแห่งนำผู้นำท้องถิ่นมาเป็นพีเอ คนพิการก็นึกว่าแค่มาเยี่ยม ดังนั้นพีเอในไทยจึงยังไม่เป็นไปตามหลักการ ยังไม่สนับสนุนให้คนพิการมีอำนาจตัดสินใจ

มีข้อเสนอว่าเราสามารถให้คนในครอบครัวเป็นพีเอ แต่มีข้อโต้แย้งว่าแล้วถ้าคนในครอบครัวตายคนพิการจะอยู่ยังไง การมีผู้ช่วยเป็นใครสักคนนานๆ จะทำให้ชิน ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นผู้ช่วยคนอื่นได้ มันคือทักษะการรับบริการของคนพิการที่ต้องฝึกด้วย ต่อไปถ้าไม่มีคนสนิทอยู่ใกล้ๆจะมีชีวิตอยู่อย่างไร

ข้อเสนอของชูเวชคือ ทำพีเอให้เป็นไปตามหลักการ เปิดช่องให้แรงงานต่างด้าวเป็นพีเอได้ แต่รัฐไทยไม่ยอมจ่ายเงินให้คนต่างด้าว ถ้ารัฐไม่มีสามารถทำก็อาจเปิดให้เอกชนทำ รัฐทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างเดียว ควบคุมราคา การบริการ และขณะเดียวกันคนที่เป็นพีเอเก่งภาษาก็สามารถทำงานกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงอายุได้อีก สัมพันธ์กับมิติเชิงเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

สถาบันพัฒนาองค์กรคนพิการชุมชน

ชูเวชได้แนวคิดมาจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งทำงานเกี่ยวกับสลัม ที่อยู่อาศัย คนไร้บ้าน โดยเจรจาให้คนไร้บ้านมีโอกาสมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ละหลังไม่เหมือนกันแบบบ้านเอื้ออาทร แต่ออกแบบให้เหมาะกับแต่ละครอบครัวซึ่งมีขนาดไม่เท่ากัน ความจำเป็นในการใช้สอยไม่เหมือนกัน พอช. ออกแบบโดยคำนึงถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น ทำระบบธนาคาร สวัสดิการชุมชน มีโครงสร้างพื้นฐานครบตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ จนถึงตาย ในชุมชน การบริหารงบประมาณ ชุมชนก็เป็นคนจัดการงบประมาณเอง ส่วนงบก้อนใหญ่ พอช. ก็นำไปลงทุนในตลาดหุ้นได้ เป็นค่าจ้างแก่พนักงาน เกิดความยั่งยืนในการบริหารจัดการเงิน

ชูเวชเสนอว่าสถาบันพัฒนาองค์กรคนพิการชุมชนควรมีระบบจัดการ โดยเสนอกลไก 5 ระดับว่า

  1. มีพี่เลี้ยงเข้าไปช่วยดูแลการเขียนโครงการ เพื่อช่วยเหลือคนพิการในการเขียนใบนำเสนอโครงการ (Proposal) แต่ไม่ใช่การเขียนแทน แต่เป็นการสอนให้เขาเรียนรู้เองเพื่อให้เขาทำเป็นในอนาคต
  2. เงื่อนไขในการให้ทุนกับองค์กรคนพิการในชุมชนจะต้องมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ลักษณะที่ไม่หากใบนำเสนอโครงการยังไม่ผ่านก็ยังขอทุนรายกิจกรรม ค่าอาหาร ค่ากิจกรรม
  3. ถ้าคนพิการมีใจระยะยาว อยากทำต่อ ต้องมีกลไกพัฒนาทักษะ ปัจจุบันมีการให้ความรู้เรื่องสิทธิเรื่องกฎหมาย แต่คนที่ลงชุมชน empower คนพิการให้มีแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเอง คนกลุ่มนี้เรียกว่า “Peer Counselor” ซึ่งมีทักษะในการให้คำปรึกษา ไม่อยากให้ทักษะนี้ถูกผูกขาดอยู่แค่สถาบันการศึกษาใดสถาบันหนึ่ง สถาบันพัฒนาองค์กรคนพิการชุมชนต้องมีหน้าที่ฝึกอบรม รับรอง ให้ค่าตอบแทนที่โอเคกับ Peer Counselor
  4. สนับสนุนการจัดการบริการผ่าน Peer Counselor และจ่ายค่าตอบแทนให้กับ Peer Counselor

– Universal Design สนับสนุนให้เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมจากคนในชุมชนเอง โดยให้สถาปนิกลงไปสำรวจชุมชน การออกแบบต้องมาจากผู้ใช้เป็นหลัก มาจากที่ประชุมในชุมชน ใครจำเป็นก่อนหลัง ป้องกันการเล่นพรรคเล่นพวก การสำรวจทำให้คนในชุมชนได้เห็นปัญหาของกันและกัน

– มีบริการพีเอ กระบวนการคัดเลือกจากคนในชุมชนเลือกกัน เพื่อให้ได้คนที่คนในชุมชนไว้ใจ

– บริการด้านข้อมูลข่าวสาร มีหลายรูปแบบ ส่งจดหมายเชิญคนพิการมาประชุม การเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ สำหรับองค์กรคนพิการ พิมพ์เอกสาร กฎหมายตัวใหม่กำลังจะผ่านร่างก็ต้องมีหน่วยบอกข้อมูลในชุมชน Peer Counselor เป็นตัวแทนรัฐในการประชาสัมพันธ์ ชงเรื่อง ยื่นเรื่อง และบริการคนพิการ

  1. บริการพิทักษ์สิทธิ เป็นข้อต่อใหญ่ที่ทำให้สถาบันนี้เชื่อมไปสู่กระทรวงอื่นได้ เช่น มีเด็กพิการที่ถูกมหาลัยปฏิเสธไม่ขายใบสมัครเรียนให้ องค์กรคนพิการสามารถเข้าไปให้ความรู้กับมหาลัย เก็บหลักฐานการเลือกปฏิบัติ ส่งกรรมการสิทธิฯ ส่งหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าไปถึงกลไกนี้ สถาบันฯ จะเป็นหูเป็นตาให้รัฐในการสอดส่องหน่วยงานที่ยังมีการปฏิบัติไม่เอื้อแก่คนพิการ และกว่าจะมาถึงกลไกนี้ สถาบันฯ จะรู้ปัญหาของคนพิการ คนพิการเองก็มีสภาพแวดล้อมที่ดี ได้รับข้อมูลข่าวครบถ้วน และเมื่อถูกเลือกปฏิบัติ ก็มีกลไกขจัดการเลือกปฏิบัติด้วย

“รัฐส่วนกลางควรลดบทบาทตัวเองลง เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสนับสนุนคนพิการมากขึ้น มีกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น องค์กรคนพิการในท้องถิ่นที่ไม่เป็นสายสัมพันธ์จากบนลงล่าง แต่เป็นสายสัมพันธ์ใยแมงมุม อยู่ในระดับเดียวกัน เชื่อมโยงหลายหน่วยงานหลายเครือข่ายเข้าด้วยกัน” ชูเวชกล่าว

ระบุความพิการทางจิตให้ชัด เพื่อให้มีนโยบายตอบสนอง

นุชจารี สว่างวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต กล่าวว่า อยากให้ระบุความพิการให้ชัดเจนกว่านี้ในกฎหมายเพื่อให้นโยบายตอบสนองกับคนพิการทางจิตด้วย ปัจจุบันส่วนใหญ่คนจะเห็นแค่พิการทางกาย แต่พิการทางจิต เช่น ออทิสติก หน่วยงานมักมองไม่เห็นว่าเขาต้องการอะไร ในกฎหมายควรระบุชัดเจนว่าพิการ 7 ประเภทคืออะไรบ้าง ถ้าเป็นเรื่องทางจิตควรมีการฟื้นฟูบำบัด และกลุ่มของคนพิการทางจิตจะมีคนที่บกพร่องแต่ยังไม่พิการ น่าจะมีการใช้คำระบุว่า “คนมีความต้องการพิเศษ”

“โครงสร้างของนักการเมืองที่บริหารประเทศน่าจะมีคนพิการที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปในนั่งในตำแหน่งบ้าง เพื่อปกป้องสิทธิให้กลุ่มคนพิการ เพราะที่ผ่านมาอาจมีนโยบายเกี่ยวกับคนพิการต่างๆ แต่ปัญหาคือคนพิการเองก็เข้าไม่ถึงสิทธิอยู่ดีเพราะความไม่เข้าใจของคนที่เสนอให้” นุชจารีกล่าว

เธอกล่าวต่อถึงทัศนคติของสังคมไทยซึ่งมองว่าคนพิการต้องให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่คิดที่จะพัฒนาและให้โอกาส สังคมอาจจะให้โอกาสเหมือนกันแต่ยังให้น้อยเกินไป สังคมมองเราเป็นผู้รับ ดังนั้นโอกาสที่เราจะเป็นผู้ให้จึงยังมีน้อย ทัศนคติเชิงลบต่อคนพิการก็ยังมีโดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่มองไม่เห็นเชิงประจักษ์ อย่างเมื่อพูดว่าผู้บกพร่องทางจิต คนก็จะเริ่มรู้สึกในเชิงลบ

 

https://prachatai.com/journal/2018/04/76251

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *