พม. จับมือสำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมดูแลผู้เสียหายในคดีอาญาที่อยู่ในกระบวนการศาล การให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับและการกำกับดูแลผู้ได้รับการปล่อยชั่วคราว
เมื่อวันที่ (21 ม.ค. 64) เวลา 09.30 น. นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) และนายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการดูแลผู้เสียหายในคดีอาญาที่อยู่ในกระบวนการศาลการให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานบริการสังคมหรือ ทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับและการกำกับดูแลผู้ได้รับการปล่อยชั่วคราว ระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมและ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว รองปลัดกระทรวง พม. และนายภพ เอครพานิช รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นพยาน ณ ห้องประชุมศาลอาญา อาคารศาลอาญา ชั้น 10 ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ
นางพัชรี กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการดูแลผู้เสียหายในคดีอาญาที่อยู่ในกระบวนการศาลการให้ ผู้ต้องโทษปรับทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับและการกำกับดูแลผู้ได้รับการปล่อยชั่วคราว เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. และสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อเป็นการเยียวยาผู้เสียหาย สร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่ ผู้ต้องโทษปรับ และเพื่อความสงบสุข ปลอดภัยของชุมชนและสังคม อาทิ การสนับสนุนทีมสหวิชาชีพในการดูแลให้คำปรึกษาแก่ผู้เสียหายในคดีอาญาที่อยู่ในกระบวนการศาลพร้อมรวบรวมข้อมูลเสนอความเห็น การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวให้กับอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ตลอดจนการให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานบริการทางสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ในหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ที่ดูแลกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง รวมทั้งสถาบันครอบครัว แทนค่าปรับในกรณีผู้นั้นไม่มีเงินชำระค่าปรับ ทั้งนี้ กระทรวง พม. และสำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมกันกำหนดประเภทและลักษณะการทำงานโดยคำนึงถึงเพศสภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามภารกิจหน้าที่และอำนาจของกระทรวง พม. เพื่อให้ศาลนำมาตรการ การทำงานบริการสังคมและสาธารณประโยชน์แทนคำปรับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อแก้ไขฟื้นฟูและให้โอกาสผู้กระทำผิดกลับคืนสู่สังคมได้อย่างเป็นปกติ
นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่กระทรวง พม. และสำนักงาน ศาลยุติธรรม จะได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิด ครอบครัว และชุมชน รวมทั้งเป็นการให้โอกาสผู้กระทำความผิดในการกลับคืนสู่สังคมได้อย่างเป็นปกติต่อไป