เมื่อวันที่ 25 มกราคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ศาลาว่าการ กทม. ว่า ที่ประชุมวันนี้ สำนักการศึกษา และสำนักพัฒนาสังคม ได้รายงานความพร้อมในการเปิดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด กทม.ทั้ง 437 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน พร้อมมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19
“สำนักการศึกษา ได้เตรียมพร้อมมาตรการหลักก่อนเปิดภาคเรียน ประกอบด้วย จำกัดผู้ปกครองและบุคคลที่จะเข้ามาในโรงเรียน การคัดกรอง การเน้นย้ำให้สวมหน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่าง การล้างมือ การทำความสะอาด การค้นหาและติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงในโรงเรียน โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการอื่น ๆ อาทิ การเน้นให้นักเรียนได้เรียนในที่โล่ง การจำกัดเวลาในการรับประทานเพื่อให้นักเรียนใช้เวลาถอดหน้ากากอนามัยน้อยที่สุด โต๊ะอาหารต้องมีฉากกั้นและเว้นระยะนักเรียน แม่ครัวและพนักงานล้างจานต้องสวมหน้ากากอนามัย ถุงมือ อาหารที่ปรุงต้องสะอาดและสุกใหม่ จัดให้มีการเหลื่อมเวลาในการพักรับประทานอาหาร การใช้ห้องน้ำจะจัดให้สลับกันตามความเหมาะสมมีการรอคิวและเว้นระยะห่างอย่างชัดเจน และการดูแลให้นักเรียนล้างมือเป็นประจำทุกชั่วโมง” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวและว่า ในวันที่ 28 มกราคมนี้ โรงเรียนสังกัด กทม.ทั้ง 437 แห่งจะจัดกิจกรรมบิ๊ก คลีนนิ่ง (Big Cleaning) พร้อมกัน เพื่อเตรียมพร้อมหากมีประกาศให้เปิดการเรียนการ สอน
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ส่วนสำนักพัฒนาสังคม ได้รายงานมาตรการสำหรับศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกทม.ปัจจุบันจำนวน 292 ศูนย์ ใน 45 เขต (ยกเว้น บางบอน บางรัก สัมพันธวงศ์ พระนคร และบางกอกใหญ่) โดยได้ดำเนินการตามมาตรการเพื่อเตรียมพร้อมเปิดเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะเตรียมการก่อนเปิด ประกอบด้วย การติดตั้งแผนกรองอากาศ การทำความสะอาดพื้นผิวการเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ล้างมือ ในส่วนของอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก ได้จัดอบรมหลักสูตรด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยเรื่องการป้องกันโรค การเตรียมการสอนและการจัดกิจกรรมโดยรักษาระยะห่าง รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งผู้ปกครองให้เตรียมเด็กให้พร้อม รวมทั้งหลีกเลี่ยงไปสถานที่แออัด และหมั่นให้เด็กล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
“สำหรับระยะเปิดดำเนินการ ประกอบด้วย 1.การคัดกรองอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก วัดไข้ น้ำมูก ซักประวัติ 2.การคัดกรองผู้ปกครองและเด็กก่อนวัยเรียน วัดไข้ น้ำมูก ซักประวัติ 3.การรับ-ส่งเด็กประจำวัน กำหนดช่องทางเข้า-ออกทางเดียว เว้นระยะห่าง 2 เมตร จำกัดมิให้แออัดหรือรวมกลุ่ม 4.หน้ากากอนามัย สวมหน้ากากอนามัย 100% 5.ล้างมือ จัดให้มีจุดล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ ล้างมือทุก1-2 ชั่วโมง 6.การจัดอัตราส่วนเด็กก่อนวันเรียน (Small Group) จัดกลุ่มกิจกรรม ไม่เกินกลุ่มละ 5 คนต่ออาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก 1 คน เว้นระยะห่างระหว่างกลุ่ม 7.การจัดกิจกรรมภายในศูนย์ฯ ยึดหลักเกณฑ์ 2 ตารางเมตร (ตรม.)ต่อคน จัดพื้นที่การเรียนรู้เป็นรายบุคคลและลดเวลาทำกิจกรรมเท่าที่จำเป็น ใช้อุปกรณ์เป็นรายบุคคล 8.กิจกรรมที่ควรงด งดการต่อแถวแบบประชิดและกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มเกิน เช่น การแข่งกีฬา 9.การทำความสะอาด โดยเฉพาะพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อยๆ กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน 10.อุปกรณ์สื่อการเรียนรู้ ส่งเสริมพัฒนาการเด็กทุกประเภทมีเพียงพอแก่เด็กทุกคน 11.อุปกรณ์ของใช้ของเด็กที่ทำจากผ้า ทำความสะอาดทุกวัน เช่น ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว 12.ทำความสะอาดร่างกาย (อาบน้ำ) อาสาสมัครผู้ดูแลเด็กทำความสะอาดร่างกายก่อนปฏิบัติหน้าที่ 13.ตรวจร่างกายประจำปี (อาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก) อาสาสมัครผู้ดูแลเด็กตรวจร่างกายปีละ 1 ครั้ง 14.การยืนยันและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
นอกจากนี้ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. ได้เตรียมพร้อมปรับแผนการเรียนการด้วยเช่นเดียวกัน ประกอบด้วย ผลิตคลิปวิดีโอ จำนวน 41 คลิป (ล่ามภาษามือ) เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการได้เรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ด้วยวิธีไลฟ์สด วันละ 2 เวลา คือ เวลา 10.00-12.00 น. และ เวลา 13.00-15.00 น. ช่วงเวลาละ 2 วิชา หลักสูตรระยะยาว เริ่มการออนไลน์ (ทฤษฎี) ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ ในวิชาที่คนเรียนจำนวนมาก ได้แก่ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ วิชาที่ต้องมีการเรียนภาคปฏิบัติ เช่น การนวดแผนไทย การตัดผม (เสริมสวย) ฯลฯ จะเรียนภาคทฤษฎีผ่านสื่อออนไลน์ ส่วนภาคปฏิบัติอาจารย์จะนัดกลุ่มมาฝึกปฏิบัติโดยอยู่ในมาตรการสร้างระยะห่าง โดยมีมาตรการเสริม ประกอบด้วย มีการตรวจคัดกรอง มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล จัดให้มีการระบายอากาศภายในอาคาร งดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนในสถานศึกษา ติดตามสอบถามผู้เรียน กรณีลาป่วย หยุดเรียนตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ปิดชั้นเรียนเมื่อพบผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน ห้ามรับประทานอาหารในห้องเรียน และจัดให้มีสถานที่รับประทานอาหารโดยเว้นระยะห่าง และอากาศถ่ายเทสะดวก
ขอขอบคุณ https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2546243