เสียงนั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์เรามากแค่ไหน ?’
‘เมื่อเราต้องสูญเสียการได้ยินไป เราจะรู้สึกอย่างไร และ ควรดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไรหากสิ่งนั้นเกิดขึ้นกับเราจริง ๆ ?’
คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นมาภายในจิตใจเมื่อได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง ‘Sound of Metal’
‘Sound of Metal’ เป็นภาพยนตร์จากปี 2020 ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์ดราม่าที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปี เล่าเรื่องของ รูเบน (รับบทโดย ริซ อาห์เหม็ด (Riz Ahmed) จาก Venom (2018) และ Rogue One: A Star Wars Story (2016)) มือกลองหนุ่มจากวงพังก์เมทัลดูโอนาม ‘Backgammon’ ที่มีสมาชิกอีกคนคือ ลู (รับบทโดย โอลิเวีย คุก (Olivia Cooke) จาก Ready Player One (2018)) นักร้องนำ-มือกีตาร์ของวง และเป็นแฟนสาวของรูเบนด้วย ทั้งคู่ใช้ชีวิตด้วยกันในรถบ้านและเดินทางออกทัวร์เล่นดนตรีด้วยกันอย่างมีความสุข จนกระทั่งวันหนึ่งที่รูเบนเริ่มสูญเสียการได้ยิน และพบว่ามันเริ่มเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสถานการณ์นี้ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อการเล่นดนตรีของเขาแล้ว มันยังกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเขากับลูอีกด้วย
ลูตัดสินใจส่งรูเบนที่สภาพจิตใจย่ำแย่ให้ไปยังสถานพักฟื้นทางจิตใจสำหรับคนหูหนวกด้วยหวังว่าจะช่วยให้รูเบนปรับตัวเข้ากับการสูญเสียการได้ยิน ที่แห่งนี้รูเบนได้พบกับ โจ เจ้าของสถานพักฟื้น (รับบทโดย พอล ราซี (Paul Raci) ซึ่งได้รับเลือกให้รับบทนี้เพราะเขาเติบโตมากับพ่อแม่ที่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน) และ เหล่าผู้เข้ารับการบำบัด รูเบนได้ปรับตัว เรียนรู้ สร้างมิตรภาพ และทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาเคยคิดว่ามันคือสิ่งเลวร้ายในชีวิต นอกจากนี้รูเบนยังได้ร่วมเรียนภาษามือในโรงเรียนร่วมกับเด็ก ๆ ที่พิการทางการได้ยิน ได้ใช้ชีวิตร่วมกับทุกคนเพื่อค้นพบกับความหมายบางอย่างของชีวิตที่เขาไม่เคยพบมาก่อนในวันที่เขาได้ยินทุกเสียงที่แล่นผ่านเข้าโสตประสาทของเขา
Sound of Metal เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์ fiction เรื่องแรกของ ดาริอัส มาร์เดอร์ (Darius Marder) (ก่อนหน้านี้เขามีผลงานการกำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Loot’ และเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง The Place Beyond the Pines (2012)) หนังเข้าฉายในสหรัฐ ฯ แบบจำกัดโรงเมื่อปลายปีที่แล้ว และฉายบน Amazon Prime Video ซึ่งเราสามารถรับชมกันได้ผ่านช่องทางนี้ หนังได้รับคำวิจารณ์ในด้านดีจากหลายสำนักอีกทั้งยังเป็นตัวเก็งรางวัลออสการ์ในสาขาด้านการออกแบบเสียง ซึ่งต้องยอมรับจริง ๆ ว่าฝีมือการออกแบบเสียงของ นิโคลัส เบกเคอร์ (Nicolas Becker) (เคยทำงานด้านเสียงให้กับภาพยนตร์เรื่อง Gravity (2013) และ Arrival (2016)) นั้นมีความละเอียดละออ ลุ่มลึก และ สร้างสัมผัสทางเสียงให้เรารู้สึกราวกับเข้าไปอยู่ในหัวและในหูของรูเบนเลยทีเดียว หากใครได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วจะไม่รู้สึกแปลกใจเลยหากหนังเรื่องนี้จะได้รางวัลออสการ์ในสาขาการออกแบบเสียงยอดเยี่ยมขึ้นมาจริง ๆ
ในบทความนี้เราจะไปสำรวจถึงแนวคิดการออกแบบเสียงใน Sound of Metal รวมถึงประเด็นสำคัญเรื่อง ‘เสียง’ และ ‘ความเงียบ’ ที่เป็นสาระสำคัญที่ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามจะถ่ายทอดออกมา
[ Spoiler Alert บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ ]
‘เสียงของความเงียบ’
ผู้กำกับ ดาริอัส มาร์เดอร์ และนักออกแบบเสียง นิโคลัส เบกเคอร์ พยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ของการค่อย ๆ สูญเสียการได้ยินและสภาวะที่ตามมาหลังจากนั้น โดยเสียงที่ผู้ชมได้ยินนั้นจะทำให้ผู้ชมรู้สึกราวกับกำลังสูญเสียประสาทการได้ยินเหมือนกับรูเบนอยู่จริง ๆ (ข้อแนะนำในการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมีอรรถรสก็คือ ควรมีเครื่องเสียงที่ดีหรือว่าหูฟังดี ๆ สักอัน)
ผู้กำกับ ดาริอัส มาร์เดอร์ (ขวา) และ นักแสดงนำ ริซ อาเหม้ด (ซ้าย)
เพื่อนำผู้ชมเข้าสู่โลกของรูเบน เบกเคอร์ได้ค้นคว้าจากโรงเรียนสอนคนหูหนวกของฝรั่งเศสและทำการสัมภาษณ์นักโสตวิทยา เขาหันไปหาเทคนิคการบันทึกเสียงที่เกี่ยวข้องกับเสียงโฟลีย์ เสียงที่จำลองระบบกลไกทางเสียงของประสาทหูเทียม และการติดไมโครโฟนในร่างกายของอาเหม็ดเพื่อหาเสียงที่เกิดขึ้นจากร่างกายและภายในร่างกายจริง ๆ ในบางฉากเสียงพูดและเสียงตีกลองจะอู้อี้ราวกับว่าได้ยินจากใต้น้ำ ในขณะที่ในฉากอื่น ๆ เบกเกอร์และมาร์เดอร์จะออกแบบเสียงในชีวิตประจำวันอย่างละเอียดและชัดเจนเพื่อให้เกิดความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสภาพแวดล้อมที่ตัวละครรูเบนสัมผัสได้ในแต่ละฉาก และแน่นอนว่ามีช่วงเวลาแห่ง ‘เสียงเงียบ’ ที่ถูกออกแบบมาอย่างดี
หลายช่วงของหนังจะมีการใช้ ‘มุมมองบุคคลที่หนึ่ง’ ทั้งด้านภาพและเสียงในการสร้างการรับรู้แก่ผู้ชมหลายช็อตเราจะเห็นในสิ่งที่รูเบนเห็นและแน่นอนว่าในขณะเดียวกันเราก็จะ ‘ได้ยิน’ ในสิ่งที่รูเบนได้ยินทั้งในยามปกติและช่วงเวลาที่เขาเริ่มสูญเสียการได้ยิน จนถึงช่วงที่การได้ยินสูญหายไปหมดสิ้นและความเงียบงันได้เข้ามาแทนที่ การสูญเสีย ‘เครื่องมือหลัก’ ในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตของรูเบน ทำให้ผู้ชมเกิดความเห็นอกเห็นใจต่อการต่อสู้ของรูเบน และด้วยวิธีการสื่อสารผ่านงานด้านเสียงได้ทำให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงสภาวะที่ตนเองไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน
ความรู้สึกภายในของตัวละครนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเบกเคอร์ที่พยายามสร้าง ‘ประสบการณ์ทางเสียงส่วนบุคคลที่มีความสมจริง’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เขาใช้มาตั้งแต่เมื่อครั้งออกแบบเสียงให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Gravity” ที่เบกเคอร์ทดลองหารูปแบบการออกแบบเสียงที่เหมาะสมด้วยการใส่ชุดของนักบินอวกาศเพื่อทำความเข้าใจว่าเสียงที่ได้ยินจากข้างในชุดนั้นเป็นอย่างไร
นิโคลัส เบกเคอร์ นักออกแบบเสียง
‘เสียงเงียบ’ นั้นนับว่าเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับคนทั่วไปที่ได้ยินเสียงนู่นนี่ตลอดเวลา การจะจินตนาการว่าคนที่หูหนวกและแทบไม่ได้ยินเสียงอะไรเลยนั้นมันเป็นอย่างไรจึงทำได้ยากนัก เพราะฉะนั้นเพื่อศึกษาว่าคนที่สูญเสียการได้ยินนั้น เขา ‘ได้ยิน’ กันอย่างไรและได้ยินอะไรบ้าง เบกเคอร์และมาร์เดอร์ได้พูดคุยกับนักโสตวิทยาและไปยังห้องไร้เสียงสะท้อน (anechoic chamber) ที่ออกแบบมาเพื่อกำจัดเสียงและการสะท้อนกลับซึ่งทำให้มันขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ห้องที่เงียบที่สุดในโลก’ เงียบขนาดที่ว่าเมื่อเราเข้าไปได้เพียงแค่ 10 นาทีเราก็จะได้ยินแม้กระทั่งเสียงความดันเลือดของตัวเอง ! เพื่อสัมผัสประสบการณ์จริงว่า ‘ความเงียบ’ ที่แท้นั้นมันเป็นเช่นไรและการอยู่ในสภาวะเช่นนี้เราจะรู้สึกอย่างไร นอกจากนี้ทั้งคู่ยังปรึกษากับวิศวกรเสียงชาวฝรั่งเศส Damien Quintard ซึ่งช่วยหางานวิจัยจาก Institut National de Jeunes Sourds de Paris ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนคนหูหนวกของฝรั่งเศสที่ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 18
ห้องไร้เสียงสะท้อน (anechoic chamber
นอกจากนี้เบกเคอร์ยังพูดคุยกับคนที่เกิดมาพร้อมกับการได้ยินตามปกติแต่สูญเสียความสามารถในการรับรู้เสียงในเวลาต่อมา คนกลุ่มนี้จะรู้ว่าเสียงที่ได้ยินนั้นมีลักษณะอย่างไร พวกเขาจึงสามารถอธิบายว่าเสียงเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อพวกเขาเริ่มสูญเสียการได้ยินและในตอนนั้นพวกเขามีการสัมผัสรับรู้ทางเสียงอย่างไร ซึ่งเบกเคอร์ได้เอามุมมองนี้มาเป็นฐานในการออกแบบเสียง “เมื่อคุณอยู่ใต้น้ำแก้วหูของคุณจะไม่ทำงาน สิ่งที่คุณได้ยินใต้น้ำคือการสั่นสะเทือนที่คุณได้รับในร่างกายและกระดูกของคุณ ดังนั้นในทางหนึ่งสมองของคุณจึงสามารถสร้างเสียงผ่านทางร่างกายขึ้นมาใหม่ได้”
ด้วยวิธีนี้เบกเคอร์ก็มั่นใจได้ว่าถึงแม้ผู้ชมส่วนใหญ่ที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่เคยสูญเสียการได้ยินมาก่อน แต่ในที่สุดพวกเขาก็จะสามารถรับรู้ถึงความสูญเสียได้เพราะผู้ชมจะเชื่อมโยงกับความทรงจำในร่างกายของพวกเขาเอง “พวกเขาจะรู้สึกเองว่ามันใช่ บางทีพวกเขาอาจรู้สึกโดยไม่รู้ตัวและจำไม่ได้จริง ๆ ถึงตอนที่อยู่ใต้น้ำ ตอนที่พวกเขาหลับหรือความทรงจำเก่า ๆ เมื่อตอนที่เป็นทารกในครรภ์ แต่เชื่อได้ว่าเรารู้ภาษานี้แน่ ๆ”
เบกเคอร์ทดลองใช้ไมโครโฟนหลายตัวซึ่งบางตัวเขาก็ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง เพื่อให้สามารถใช้กับชุดอุปกรณ์ของมาร์เดอร์ในระหว่างการถ่ายทำได้ โดยเฉพาะเพื่อจับเสียงที่เกิดขึ้นจริงกับอาเหม็ดโดยเฉพาะในฉากแรก ๆ ที่อาเหม็ดต้องตีกลอง (อาเหม็ดใช้เวลาหลายเดือนในการเรียนรู้การตีกลองเพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้แสตนด์อินและเขายังเรียนภาษามือแบบอเมริกันอีกด้วย) เบกเคอร์ประดิษฐ์ไมโครโฟนหูฟัง (stethoscope mics- คล้าย ๆ สเต็ทโตสโคปที่หมอใช้ในการฟังเสียงอวัยวะภายในร่างกาย) ที่มีความไวในการรับเสียงสูง นอกจากนี้ยังมีไมค์เล็ก ๆ ที่ใส่เข้าไปในปากได้ เพื่อฟังเสียงภายในร่างกายของอาเหม็ดทั้งการเต้นของหัวใจที่เร็วขึ้น, ความดันโลหิต, การเคลื่อนไหวของเส้นเอ็น, การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและกระดูก เพราะฉะนั้นเวลาที่รูเบนตีกลองนั่นหมายความว่ามันคือการตีกลองจริง ๆ และเกิดเสียงจากภายในจริง ๆ ทำให้เสียงที่เกิดขึ้นนั้นเรียลยิ่งกว่าเรียล
บทบาทของการออกแบบเสียงเริ่มแสดงให้เห็นได้ชัดเจนในฉากที่รูเบนเริ่มพบว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นกับการได้ยินของเขา ในฉากนั้นรูเบนกำลังจัดโต๊ะขายของที่ระลึกของวงร่วมกันกับลูและเพื่อน ๆ ของทั้งคู่ แต่จู่ ๆ เสียงรอบข้างก็แปรเปลี่ยนกลายเป็นเสียงอู้อี้ขึ้นมาในหู เราจะเห็นรูเบนยืนอึ้งนิ่งทั้งตกใจและสับสนอย่างบอกไม่ถูกกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา การตอบสนองของอาเหม็ดในช่วงเวลานั้นไม่ใช่แค่การแสดงเท่านั้น แต่ว่าทีมงานมีหูฟังแบบปรับแต่งสำหรับนักแสดงเพื่อให้พวกเขาป้อนเสียงความถี่สูงที่พวกเขาสร้างขึ้นทำให้เสียงที่อาเหม็ดได้ยินในตอนนี้เป็นเสียงเดียวกับที่พวกเขาคิดว่ารูเบนควรจะได้ยิน กระบวนการดังกล่าวทำให้เกิด White Noise ในหูของอาเหม็ดแบบเรียลไทม์ซึ่งมันจะกลบเสียงต่าง ๆ ไปหมดเลย เขาจึงไม่ได้ยินแม้แต่เสียงของตัวเองซึ่งเป็นประสบการณ์ที่พิเศษมากและมันทำให้เกิดการเสียสมดุลและสูญเสียการควบคุมอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นความอึ้งเหวอของรูเบนในฉากนี้จึงเป็นปฏิกิริยาที่แท้จริงของอาเหม็ดที่มีต่อเสียงที่เขาได้ยิน ณ ขณะนั้นนั่นเอง
จากนั้นในฉากที่รูเบนตีกลองในคอนเสิร์ตหลังจากที่ตัวเองเริ่มมีอาการแปลก ๆ ผู้ชมจะเริ่มรู้แล้วว่าการออกแบบเสียงในหนังเรื่องนี้มีการใช้วิธีแบบ ‘มุมมองบุคคลที่หนึ่ง’ นั่นคือการออกแบบเสียงที่ผู้ชมจะได้ยินแบบเดียวกันกับที่ตัวละครได้ยิน (เช่น ในฉากขึ้นบกที่หาดโอมาฮาจากภาพยนตร์เรื่อง Saving Private Ryan ที่ใช้ ‘มุมมองบุคคลที่หนึ่ง’ ทั้งภาพและเสียง) ในฉากนี้รูเบนที่นั่งหวดกลองอยู่จะเริ่มรู้สึกว่าเสียงกลองดัง ๆ ที่ตัวเองได้ยินนั้นจะค่อย ๆ ถอยห่างออกไป เสียงจะถูกออกแบบให้ค่อย ๆ จางหายไปในโทนเสียงต่ำและห่างไกลไปเรื่อย ๆ ในฉากต่อมาที่รูเบนตื่นขึ้นในตอนเช้าและพบว่าสภาวะการสูญเสียการได้ยินของเขานั้นเริ่มเด่นชัดมากขึ้น เสียงในฉากนี้จะถูกออกแบบมาให้มีความต่ำและดังก้องเป็นโพรงสะท้อนอยู่ข้างในหัว
ต่อมาในฉากที่รูเบนได้รับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม ในฉากนี้เขาได้พบกับนักโสตวิทยาที่ช่วยปรับแต่งอุปกรณ์ที่ช่วยในการได้ยินของเขา เธอลองปรับเปลี่ยนไปมาราวกับกำลังเปลี่ยนหน้าปัดวิทยุเพื่อหาคลื่นเสียงที่ชัดเจนที่สุด แต่ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไรสิ่งที่รูเบน (และผู้ชม)ได้ยินก็คือ เสียงที่เหมือนดังออกมาจากเครื่องวิทยุที่สัญญาณไม่ชัดและจะพังแหล่มิพังแหล่ เธอได้อธิบายให้รูเบนเข้าใจว่าเสียงที่เขาได้ยินนั้นแท้จริงแล้วมันเกิดจากการที่ประสาทหูเทียมนั้นแค่กำลังหลอกให้สมองของเขาคิดว่าเขาได้ยิน เพราะฉะนั้นมันจึงไม่เหมือนกับการได้ยินที่เกิดจากหูของเราเอง สิ่งที่รูเบนทำได้ในตอนนี้ก็มีเพียงแค่ ‘ทำตัวให้ชิน’ กับมันก็เท่านั้นเอง
เสียงที่รูเบนได้ยินหลังจากใส่ประสาทหูเทียมแล้วเป็นอะไรที่ไม่น่าอภิรมย์ยิ่งนัก แทนที่จะรู้สึกดีใจที่กลับมาได้ยินอีกครั้ง แต่มันกลับทำให้รู้สึกรำคาญและวุ่นวายใจกับเสียงก๊องแก๊งที่เกิดขึ้น เบกเคอร์ใช้วิธีการออกแบบเสียงที่สร้างความอึดอัดสับสนให้กับรูเบนและผู้ชม ด้วยการจัดวางเสียงอย่างละเอียดด้วยการจัดการทีละเสียงทีละเลเยอร์และจัดวางแต่ละเสียงให้กระจายไปตามช่องเสียงต่าง ๆ ในขั้นตอนของการมิกซ์เพื่อสร้างประสบการณ์ของ ‘การสูญเสียความสมดุล’ เพราะสิ่งที่สำคัญในการได้ยินนั้นไม่ใช่แค่การสามารถจำแนกความแตกต่างของแต่ละเสียงได้เท่านั้น หากแต่ยังมีเรื่องของการจับทิศทางของเสียงอีกด้วย ด้วยการออกแบบเสียงที่กระจัดกระจายหลายทิศทางและเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กันแบบนี้จึงทำให้เกิดสภาวะสับสนและหลงไปในวังวนแห่งเสียงอย่างแท้จริง
ณ จุดนี้เมื่อมองย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาที่เงียบสงบที่สถานพักฟื้นและโรงเรียนสอนคนหูหนวกเรากลับรู้สึกดีกับความเงียบที่เกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ช่วงเวลานั้นกลับสงบสุขยิ่งกว่าตอนนี้เสียอีก เสียงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังจากนี้ได้ทำให้ผู้ชมเริ่มตั้งคำถามถึงความสำคัญของ ‘เสียงเงียบ’ หรือช่วงเวลาของความ ‘เงียบสงบ’ ที่หลีกเร้นจากเสียงของความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน
ความงามบนความเงียบ
“Silence is a gift. Learn to value its essence.”
ภายในเรื่องราวของรูเบนมือกลองคนหนึ่งที่สูญเสียการได้ยินและพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้กลับมาได้ยินอีกครั้ง สิ่งอันเป็นสาระสำคัญของหนังได้ถูกซ่อนเอาไว้ในโลกแห่ง ‘เสียง’ ทั้งหลายของรูเบน ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่ได้ยิน หรือ เสียงที่เขาไม่เคยได้ยินมาก่อน นั่นก็คือ ‘เสียงของความเงียบ’ นั่นเอง
‘เสียง’ คือสิ่งสำคัญในชีวิตของรูเบน ไม่ว่าจะเป็นเสียงดนตรี หรือว่าเสียงของคนที่รัก แต่การสูญเสียการได้ยินได้ทำให้รูเบนพบกับสภาวะที่แทบจะตรงกันข้ามกันโลกแห่งเสียงที่ค่อนข้างจะอึกทึกครึกโครมของเขาอย่างสิ้นเชิง มันเงียบจนน่ากลัว น่ากลัวจนแทบรู้สึกว่าตัวตนของตนเองจะหลุดหาย ในโลกใบใหม่ใบนี้ รูเบนกลับได้พบบางอย่าง กลับได้ยินเสียงเสียงหนึ่งที่เขา ‘ไม่เคยได้ยิน’ มาก่อน นั่นก็คือ เสียงของความเงียบสงบข้างในจิตใจนั่นเอง
ในหนังสือ ‘Silence: In the Age of Noise’ (สำนักพิมพ์ โอ้มายก้อด แปลไทยโดย วรรธนา วงษ์ฉัตร) ความเรียงเชิงปรัชญาของ อาร์ลิง คอกเก (Erling Kagge) นักสำรวจชาวนอร์วีเจียนผู้เดินทางพิชิตสามขั้วโลก คือ ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และขุนเขาเอเวอเรสต์ ได้ตั้งแต่อยู่ในวัยสามสิบต้น ๆ และได้ค้นพบสาระสำคัญของเสียงและความเงียบจากการเดินทางของเขา คอกเกได้กล่าวเอาไว้ว่าความเงียบนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ ความเงียบจากสิ่งแวดล้อมภายนอก และความเงียบที่อยู่ภายในตัวเรา ซึ่งความเงียบทั้งสองนั้นมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ‘ความเงียบจากสิ่งแวดล้อมภายนอก’ ย่อมเปิดโอกาสให้เราค้นพบ ‘ความเงียบภายใน’ ได้ง่ายกว่าสภาพที่อึกทึกวุ่นวาย หลายครั้งเราไม่สามารถรอให้เสียงภายนอกเงียบได้เอง มันจะเงียบได้เมื่อเรา ‘ตัดสินใจ’ ที่จะใฝ่หาความเงียบไม่ว่าจะเป็นการปิดช่องทางสื่อสารรอบตัว โทรศัพท์ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แล้วนั่งลงช้า ๆ หลับตา และสูดลมหายใจลึก ๆ จากนั้นก็รอคอยความเงียบที่กำลังมาเยือนเราอย่างช้า ๆ และช่วงเวลานี้นี่เองที่ ‘ความเงียบภายใน’ รอคอยเราอยู่
ภาวะสูญเสียการได้ยินของรูเบนได้ผลักเขาให้เข้าไปสู่โลกแห่งความเงียบทั้ง 2 ประเภท แรกเริ่มเดิมทีก็คือความเงียบจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เสียงพูดของตัวเอง เสียงพูดคุยของผู้อื่น เสียงรถราตามถนนหนทาง เสียงดนตรี และอีกมากมาย จากนั้นรูเบนก็ได้พบกับความเงียบประเภทที่ 2 นั่นก็คือ ‘ความเงียบที่อยู่ภายใน’ ตัวของเขา
ในช่วงที่รูเบนไปรักษาตัวอยู่ที่สถานพักฟื้นสำหรับคนหูหนวก รูเบนดูงุ่นง่านและจิตใจไม่เคยสงบ เขาตื่นแต่เช้าและต้องหาอะไรทำอย่างเช่น การซ่อมแซมหลังคาที่ผุพัง เมื่อโจ เจ้าของสถานพักฟื้นได้เห็นอาการ ‘ไม่สงบ’ ของรูเบน เขาจึงออกอุบายให้รูเบนตื่นตั้งแต่ตี 5 จากนั้นให้มาที่ห้องครัว โจจะเตรียมกาแฟและโดนัทไว้ให้ จากนั้นให้รูเบนเข้าไปในห้องทำงานของโจและนั่งอยู่อย่างนั้น และเมื่อเริ่มรู้สึกทนไม่ไหว ให้หยิบสมุดกับปากกาที่โจเตรียมไว้ให้ เขียนอะไรลงไปก็ได้ เขียนไปจนกว่าจะรู้สึกว่ากลับมานั่งเงียบ ๆ ต่อได้
ในตอนที่รูเบนยอมขายรถบ้านและอุปกรณ์ข้าวของทุกอย่างที่เขามีเพื่อไปผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม เมื่อโจได้รู้ความจริงนั้นเขารู้สึกค่อนข้างผิดหวัง เพราะโจมีความตั้งใจให้ผู้พิการทางเสียงทุกคนรู้สึกว่าการหูหนวกนั้นไม่ใช่ความพิการ หากแต่เป็นสภาวะหนึ่งที่ทำให้เราได้ค้นพบความงดงามบางอย่างของชีวิต โจได้ถามรูเบนว่าตอนที่นั่งเงียบ ๆ ในห้องทำงานนั้นเขาได้สัมผัสถึง ‘ความเงียบสงบจากข้างในจิตใจ’ หรือไม่ ตรงนี้นี่เองที่เป็นประเด็นสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ ณ ขณะที่ถูกถามรูเบนมีแค่ความรู้สึกผิดและยังไม่เข้าใจในสิ่งที่โจถามแต่ดูเหมือนว่าคำถามนั้นของโจได้ทำให้เขาฉุกคิดอะไรบางอย่างและได้พบกับคำตอบของมันในเวลาต่อมา
สำหรับเรื่องของ ‘ความเงียบ’ ในมิติของดนตรีนั้น เคยมีศิลปินและนักแต่งเพลงหัวก้าวหน้าคนหนึ่งคือ จอห์น เคจ (John Cage) ได้เคยสร้างผลงานอันลือลั่นที่สั่นสะเทือนวงการมาแล้ว และมันก็คือผลงานที่ทำให้เราต้องตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของ ‘ความเงียบ’
ผลงานที่ว่านั้นก็คือ 4’33” (อ่านว่า 4 นาที 33 วินาที หรือแค่ สี่ สามสิบสาม ก็ได้) เป็นบทเพลงแนวทดลอง (Experimental Music) ที่ จอห์น เคจ แต่งขึ้น โดยชื่อเพลงนั้นมีที่มาจากความยาวของบทเพลงนี้ คือ 4 นาที 33 วินาที โดยมีการแบ่งออกเป็นท่อนย่อย ๆ 3 ท่อน ยาว 30 วินาที , 2 นาที 23 วินาที , และ 1 นาที 40 วินาที ตามลำดับ โดยในช่วงเวลา 4 นาที 33 วินาทีนั้น นักดนตรีไม่ต้องบรรเลงท่วงทำนองใด ๆ เลย นอกจากปล่อยให้ ‘เสียงของความเงียบ’ เข้ามาแทนที่สุ้มเสียงของพื้นที่นั้น ๆ
แนวคิดในการแต่งเพลง 4’33” จอห์น เคจได้รับแรงบันดาลใจมากจากปรัชญาตะวันออก โดยเฉพาะปรัชญาพุทธนิกายเซ็น และภาพสีขาวที่ว่างเปล่า หรือ White Painting ของเพื่อนจิตรกรนาม โรเบิร์ต ราวเซนเบิร์ก ( Robert Rauschenberg) โดยในภาพภาพนี้ไม่มีสิ่งใดปรากฏอยู่เลย นอกจากสีขาวเท่านั้น มันเป็นเสมือน “พื้นที่” ที่เปิดกว้างให้กับอากาศที่รายรอบและความเป็นไปได้ต่าง ๆ ซึ่งเพลง 4’33” ก็เช่นกันมันเป็นดั่ง “ที่ว่าง” ที่ปล่อยให้เสียงต่าง ๆ ที่อยู่รายล้อมผู้ฟัง (รวมไปถึงเสียงต่าง ๆ ที่ดังขึ้นในหัวของผู้ฟังขณะนั้น ) ได้ปรากฏตัวขึ้น หลายครั้งเสียงเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามองข้ามไป หูของเราละเลยมันไป มันเป็น ’เสียงที่เราไม่เคยได้ยิน’ จนกระทั่งความเงียบเข้ามา เราจึงได้ยินมันไม่ว่าจะเป็นเสียงต่าง ๆ ที่อยู่รายล้อมหรือเสียงความคิดภายในของเราก็ตาม ในระดับที่ลึกซึ้งมันนำไปสู่การประจักษ์แจ้งในตนเอง และนี่คือสิ่งมหัศจรรย์ที่ 4’33” ได้ทำให้เกิดขึ้น
ความเงียบนั้นมีความหมายอย่างไรต่อจิตใจของเรา ?
และนานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้พบกับ ‘ความเงียบ’ อย่างแท้จริง ?
เมื่อเราได้ชมภาพยนตร์เรื่อง ‘Sound of Metal’ เหมือนคำถามเหล่านี้ได้ผุดขึ้นมาในจิตใจอีกครั้ง กระตุ้นเตือนให้เรากลับเข้ามาฟังเสียงข้างในจิตใจ หาเวลาสักพักเพื่อ ‘พัก’ หูจากเสียงวุ่นวายที่รายล้อมรอบกาย เพื่อเข้าไปหา ‘เสียงของความเงียบที่อยู่ข้างในจิตใจ’ และลองเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจว่าความเงียบอาจจะกำลังกระซิบบอกอะไรบางอย่างกับเรา
บางอย่างที่เป็น ‘คำตอบ’ ของคำถามทั้งหลายในชีวิต ที่เรากำลังตามหาอยู่ก็เป็นได้