นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Chula UDC) และภาคีเครือข่าย จัดงาน Universal Design Academy สานพลังสร้างความเข้าใจกฎหมายเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมสภาพแวดล้อมสังคมสูงวัย ผ่านหลักสูตรอบรมการออกแบบเพื่อทุกคน จากสถิติในปี 2563 พบว่า เมืองไทยมีผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.73 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์แล้ว ขณะที่จำนวนคนพิการมีแนวโน้มอาจเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งมีอยู่กว่า 2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.09 ของประชากรทั้งประเทศ การออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ คนพิการและคนทุกคน จึงควรเอื้อกับชีวิต ไม่ควรถูกมองข้ามในสังคม
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส.
“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนชัดว่า การเตรียมความพร้อมเรื่องออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ที่อยู่อาศัย สถานพยาบาล สถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา ระบบขนส่งมวลชนสวนสาธารณะ ทางเดินเท้า สะพานลอยระบบบริการและเทคโนโลยี ฯลฯ ให้รองรับการใช้ชีวิตของทุกคนเป็นสิ่งสำคัญ หลักสูตรอบรม Universal Design Academy มีวัตถุประสงค์สร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ที่เข้ามาอบรม ได้นำไปประยุกต์ออกแบบพื้นที่เพื่อทุกคนได้ตรงจุด จนกลายเป็นนวัตกรรมที่เป็นต้นแบบจุดประกายให้ผู้ที่พบเห็นนำไปปฏิบัติตามในระยะยาว สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสถาปนิก ผู้ออกแบบ เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ต้องเห็นคุณค่าความปลอดภัยในชีวิตคนพิการและผู้สูงอายุ โดยเริ่มจากการวางผังอาคารและพื้นที่สาธารณะโดยรอบ ที่รองรับคนทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน ” นางภรณี กล่าว
รองศาสตราจารย์ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน
รองศาสตราจารย์ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน กล่าวว่า การออกแบบเพื่อทุกคน หรือ Universal Design เป็นการออกแบบตามหลักแนวคิดสากลที่องค์การสหประชาชาติ หรือ United Nations (UN) ต้องการส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิและได้รับประโยชน์อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมตามหลักสิทธิมนุษยชนโดยที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แม้ว่าจะมีสถานะเป็นคนพิการหรือผู้สูงอายุ ล่าสุดกรมโยธาธิการและผังเมือง เตรียมประกาศเรื่องมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการฉบับใหม่ ซึ่งมีรายละเอียดที่รัดกุมเข้มงวดมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำคัญที่หลักสูตร Universal Design Academy จะสร้างความเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอาคาร โครงสร้างพื้นฐาน หันมาสนใจเรื่องกฎหมาย ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลือกใช้วัสดุ และปรับพื้นที่ให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
“หลักสูตรนี้เราวางการเรียนการสอนเป็นรูปแบบ Hybrid มีทั้งเรียนในห้องและเรียนออนไลน์ได้ เพื่อให้ผู้สนใจจากทั่วประเทศสามารถเข้ามาเรียนได้ โดยการจัดงานครั้งแรกมีผู้สนใจถึง 60 คน ซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพ ได้แก่ สถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมา อาจารย์ นิสิต นักศึกษา แพทย์ ทันตแพทย์ ผู้ดูแลอาคารของทางราชการ ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์เพื่อผู้สูงอายุและคนพิการ ฯลฯ ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสมัครรุ่นต่อไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Chula.UDC หรือโทร.092-518-1301, 02-218-4354 อยากให้ทุกคนมาร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้สู่นโยบายระดับชาติที่จับต้องและเข้าถึงได้ ลดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในสังคม” รศ.ไตรรัตน์ กล่าว