นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เข้าร่วม “โครงการให้ความรู้การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในระบบขนส่งสาธารณะ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และองค์กรคนพิการ โดยเข้าร่วมการดำเนินงานด้านการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการบริการบริการภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ รวมทั้งจะเป็นแนวทางการดำเนินงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นมาตรฐานสากลและการเข้าถึง การเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ทุกระบบทั้งทางถนน ทางรางและทางอากาศ โดยมี นาวาอากาศโทรณกร เฉลิมแสนยากร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง พร้อมคณะ ให้การต้อนรับและแนะนำโครงการฯ ณ ห้องประชุม DMK 1 ชั้น 4 อาคารสำนักงาน AOT ท่าอากาศยานดอนเมือง กรุงเทพฯ
นางสาวสราญภัทร กล่าวว่า การขับเคลื่อนและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับคนทุกคน นับเป็นอีกหนึ่งในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนพิการ กรณีการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะที่จะต้องพัฒนาต่อไปในอนาคต โดยการออกแบบต้องคำนึงถึงความต้องการที่จำเป็นและเหมาะสมของคนพิการ โดยนโยบายดังกล่าวรัฐบาลได้กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และกระทรวงคมนาคม ได้กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม พ.ศ.2560-2564 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาระบบขนส่งขั้นพื้นฐาน ให้เชื่อมโยง ทั่วถึง และพัฒนาระบบขนส่งและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลยุทธ์ 1.4 พัฒนาระบบขนส่งเพื่อรองรับผู้สูงอายุ คนพิการและบริการเชิงสังคม ซึ่ง กระทรวง พม. โดย พก. ร่วมกับการท่าอากาศยาน บูรณาการการเชื่อมโยงการเดินทางเพื่อเข้าถึงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในบริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง และติดตาม ตรวจสอบประเมินการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่งเพื่อคนทุกกลุ่ม รวมทั้งปัญหาอุปสรรค และให้คนพิการเข้ามามีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้
นางสาวสราญภัทร กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้ จึงได้จัด “โครงการให้ความรู้การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในระบบขนส่งสาธารณะ” ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจของการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ให้ถูกต้องตามหลักการออกแบบที่เป็นสากล (Universal Design) และเป็นการประชาสัมพันธ์ สร้างเจตคติในการช่วยเหลือคนพิการในระบบขนส่งสาธารณะให้คนพิการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งได้มีศึกษา สำรวจเพื่อการประเมินและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและออกแบบเพื่อให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ โดยมีการตรวจสอบการตรวจประเมิน (Audit Manual) บริเวณจุดเชื่อมต่อสกายวอล์คสนามบินดอนเมือง ของรถไฟฟ้าสายสีแดง กับท่าอากาศยานดอนเมือง คาดว่าจะเปิดให้บริการประชาชน ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้ รวมทั้ง ตรวจประเมินรายการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุภายในอาคารเทอร์มินอล 2 บริเวณอาคารผู้โดยสารขาออก-ขาเข้าภายในประเทศ จุดจอดรถรับ-ส่งคนพิการ ที่จอดรถคนพิการ จุดบริเวณช่องจำหน่ายตั๋วผู้โดยสาร ลิฟต์ ห้องน้ำคนพิการ จุดบริเวณพักรอผู้โดยสาร การบริการข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ การจัดยานพาหนะและอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับบริการขนส่งคนพิการภายในท่าอากาศยาน นอกกจากนี้ การให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก และการใช้บริการคนพิการ รวมทั้งให้มีข้อเสนอแนะการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ประจำการท่าอากาศยานในด้านทักษะการให้ความช่วยเหลือคนพิการแต่ละประเภทในการเดินทางโดยอากาศยาน และการปฏิบัติตนสำหรับผู้โดยสารที่เป็นคนพิการ ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย แขวงทางหลวง กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้แทนสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) มูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล รวมจำนวนทั้งสิ้น 50 คน
“ขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการดำเนินงานด้านการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการบริการภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ รวมทั้งการบริการคนพิการในระบบขนส่งสาธารณะที่ดำเนินการภายใต้กฎหมายการเดินอากาศและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ CRPD ข้อ 9 เรื่อง ความสามารถการเข้าถึง หน่วยงานจะต้องดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมที่จะให้คนพิการสามารถเข้าถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ระบบขนส่ง สารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมขอเป็นกำลังใจให้แก่ทุกท่านมุ่งมั่นและตั้งใจในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป” นางสาวสราญภัทร กล่าวในตอนท้าย