หากลองตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ทุกครั้งที่เราคิดอยากสร้างบ้านหรือออกแบบบ้านในตัวเองสักหลัง เรานึกถึงเรื่องหรืององค์ประกอบใดกันบ้าง?
เชื่อว่าคำตอบที่พบส่วนใหญ่ คงน้อยที่จะมีใครคิดถึงบ้านที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวย มีสิ่งเพิ่มความสะดวกให้แก่สมาชิกที่เป็น “ผู้สูงอายุ” หรือแม้แต่ “ผู้พิการ” แท้จริง เอาไว้ในใจ
รู้หรือไม่จากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขในปี 2557 พบว่าประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่เสียชีวิตเพราะการพลัดตกหกล้มเกือบ 1,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 3 คน และมีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ โดยพบว่ากว่า 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่หกล้มและกระดูกหักจะไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก และบางส่วนต้องใช้รถเข็นไปตลอด ส่งผลให้ผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเองและต้องมีคนดูแลตลอดเวลา สิ่งที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายของระบบบริการในผู้สูงอายุที่พลัดตกหกล้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนทั่วโลก รวมถึงผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม
นอกจากนี้ จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2557 พบว่าเกือบครึ่งของผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) ใช้ส้วมแบบนั่งยอง และจากการสำรวจสภาวะสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี พ.ศ. 2557 ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า เพียงร้อยละ 24.6 ของบ้านที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับวัย โดยมีเพียงร้อยละ 15.2 มีการติดราวในห้องน้ำ และมีราวเกาะในห้องนอนเพียง ร้อยละ 5.8 เท่านั้น
ขณะที่อีกเพียง 3 ปี ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ นั่นคือการมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 20
แต่แม้อีก 3 ปีจะมีประชากรอายุเกิน 60 มากถึงหนึ่งในห้าประชากรในประเทศ ทว่าปัจจุบัน แค่ลองเหลียวมองรอบกาย ก็อาจพบว่าแต่ละบ้านในประเทศไทยยังไม่ได้มีการเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับประชากรผู้สูงวัยอย่างที่ควรจะเป็น
ทั้งที่การออกแบบและปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุและเอื้อต่อการใช้งานของทุกคนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
มาตรการสุดเร่งด่วนในชั่วโมงนี้ จึงต้องส่งเสริมแนวคิดการออกแบบพื้นที่และสภาพแวดล้อมตามหลักของ Universal Design ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
เอ่ยถึง Universal Design เป็นคำคนทั่วไปอาจไม่คุ้น แต่สำหรับในแวดวงด้านการออกแบบเป็นที่รับทราบกันดีว่า Universal Design หรืออาจจะเรียกเป็นไทยว่า อารยสถาปัตย์ นี้คือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลอย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสิ่งแวดล้อม สถานที่ และสิ่งของต่างๆ เพื่อสมาชิกทุกคนในครอบครัวและสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ที่อาจมีข้อจำกัดในการใช้ หรือเข้าถึงสิ่งแวดล้อมสถานที่และสิ่งของเครื่องใช้ ที่มักถูกออกแบบสำหรับคนปกติทั่วไปในสังคม
หลักการออกแบบของ Universal Design ต้องคำนึงถึงหลายประการ ได้แก่ การใช้งานอย่างเท่าเทียมกัน (Equitable use) มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน (Flexibility in use) ความเรียบง่ายและใช้งานได้ง่าย (Simple and intuitive) ข้อมูลสารสนเทศ สามารถรับรู้ได้ (Perceptible information) ทนต่อความผิดพลาด (Tolerance for error) ใช้ได้ด้วยความสามารถทางกายภาพต่ำ (Low physical effort) และขนาดและพื้นที่ สำหรับการใช้งาน (Size and space for approach and use)
ซึ่งตัวอย่างของ Universal Design ได้แก่ ทางลาดขึ้นอาคาร การใช้ที่เปิดประดูแบบคันโยกแทนแบบปิด เป็นต้น หรือที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์ ได้แก่ เว็บไซต์ที่มีคำอธิบายรูปภาพ เว็บไซต์ที่มีคำบรรยาย (Closed Caption) ในวิดีทัศน์ และสามารถควบคุม Play, Pause, Stop ได้โดยใช้ คีย์บอร์ด
เพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรมในแนวทางดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา จึงมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือการสนับสนุนศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center) ระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีผู้แทนจากคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์,สำนักประสานงานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย (สปสว.) และภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนโครงการเข้าร่วมงานเป็นสักขีพยานในพิธีอีกด้วย
ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นผลมาจากความพยายามสานต่อนโยบายรัฐบาลตามแนวทางประชารัฐเพื่อสังคม เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการพัฒนาประเทศ
รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงวัตถุประสงค์ใน การจัดตั้งศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนว่า เกิดจากการมีเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่ 1.รวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรมท้องถิ่นและนวัตกรรมใหม่ๆ 2.เป็นศูนย์ให้คำปรึกษา แนะนำ เผยแพร่ ให้ความรู้ในเรื่องการออกแบบก่อสร้างและปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ 3.เป็นธนาคารอุปกรณ์ที่รวบรวมอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการและคนทุกคน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในชุมชน
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ หนึ่งในภาคีที่ร่วมขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าว เอ่ยว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการรสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อเตรียมความพร้อมด้านสภาพแวดล้อมสำหรับ “สังคมสูงวัย” ซึ่งได้สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เรื่องการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย ในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการปรับที่พักอาศัยและพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ
โดยศูนย์จุฬาฯ ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานกลางและศูนย์หลักประจำกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จเป็นศูนย์แรก จะเปิดให้เยี่ยมชมได้แล้ว และจะเริ่มทยอยเปิดศูนย์ของภูมิภาคอื่น ๆ ในปีนี้ โดยคาดว่าจะเปิดศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนครบทั้ง 5 แห่ง ภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ เบอร์โทร 084-554-9301 หรือ E-mail: chula.udc@gmail.com และ Facebook: ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน Universal Design Center ศูนย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก)
เบอร์โทรศัพท์ 084-554-9301 หรือ Email:chula.udc@gmail.com และศูนย์ภูมิภาคอีก 4 แห่ง
ศูนย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ภาคเหนือ)
เบอร์โทรศัพท์ 087-557-0590 (UD), 081-951-0255 (ทั่วไป) หรือ Email: cmu.udc@gmail.com
ศูนย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน)
เบอร์โทรศัพท์ 098-696-2245 หรือ Email:thammasat.udc@gmail.com
ศูนย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
เบอร์โทรศัพท์ 098-174- 0078 หรือ Email: msu.udc@gmail.com
ศูนย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ภาคใต้)
เบอร์โทรศัพท์ 075-201-769 หรือ Email: psu.udc@gmail.com