Thisable.me : การรับมือกับสภาวะจิตใจเป็นพิษจากการเรียนออนไลน์ :โดม—ธิติภัทร รวมทรัพย์

 

สถานการณ์โควิด-19  ทำให้นักเรียนนักศึกษาต้องเปลี่ยนจากเรียนในห้องมาเป็นเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์แทน แม้จะแก้ไขปัญหาเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือความเสี่ยงที่จะติดเชื้อที่โรงเรียนได้ แต่อย่างไรก็ดี การเรียนออนไลน์กลับสร้างปัญหาหลายอย่างที่ค่อย ๆ ปรากฏขึ้นมา  เช่น ค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นในการเรียน ทั้งค่าคอมพิวเตอร์ ค่าอินเทอร์เน็ต, การลดเวลาสอบและเพิ่มจำนวนข้อสอบมากขึ้น, การสั่งงานเยอะกว่าตอนเรียนที่โรงเรียน, อาการออฟฟิศซินโดรม, เป็นโรคซึมเศร้าจากการห่างสังคม และล่าสุดมีกรณีของนักศึกษาที่ฆ่าตัวตายเพราะเครียดสะสมจากการเรียนออนไลน์

 

ปัญหาเหล่านี้ทำให้เห็นว่า การเรียนออนไลน์เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง  เพราะความเครียดและการห่างออกจากสังคมนั้นส่งผลต่อสภาพจิตใจผู้เรียนมาก Thisable.me จึงชวนคุยกับโดม—ธิติภัทร รวมทรัพย์ นักศึกษาปริญญาโทศิลปะบำบัดและเจ้าของเพจ he, art, psychotherapy ในเรื่องความเครียดและการรับมือกับการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

 

ภาพถ่ายคุณโดม—ธิติภัทร รวมทรัพย์ เจ้าของเพจ he, art, psychotherapy อยู่ใต้ร่มไม้

 

เรียนออนไลน์ ความเครียดและภาวะทางจิตสัมพันธ์กันอย่างไร

 

ธิติภัทร : การเรียนออนไลน์ทำให้เด็กต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ เป็นระยะเวลาติดต่อกันยาวนาน ไม่ได้พบปะเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียด หากเด็กสามารถจัดการความเครียดได้ก็ดี แต่ถ้าจัดการความเครียดไม่ได้และอยู่กับเด็กนานเกินจนไม่สามารถจัดการได้เองแล้ว ความเครียดจะยกระดับขึ้นเป็นสภาวะความเครียดและถ้ายังไม่สามารถจัดการได้อีก ความเครียดก็จะพัฒนากลายเป็นโรคทางอารมณ์ (Mood Disorder) เช่น โรคซึมเศร้า  ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดการฆ่าตัวตายได้

 

พื้นที่ทับซ้อนระหว่างบ้านกับโรงเรียนนำมาซึ่งความเครียด

 

แต่ละสถานที่จะมีเส้นแบ่งชัดเจนว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สำหรับทำอะไร โรงเรียนเป็นพื้นที่สำหรับเรียน พอเดินออกจากโรงเรียน เด็กรับรู้ว่าพื้นที่ตรงนี้ฉันสามารถทำอะไรก็ได้อย่างที่ฉันต้องการ พอโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้โรงเรียนปิดและเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบเรียนออนไลน์ที่บ้าน ส่งผลให้บ้านกับโรงเรียนรวมเป็นพื้นที่เดียวกัน ไม่มีเส้นแบ่งพื้นที่ระหว่างบ้านและโรงเรียน ส่งผลให้เด็กไม่สามารถจัดการตัวเองและเกิดความเครียด

 

สภาพแวดล้อมที่บ้านไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนออนไลน์

 

การเรียนที่บ้านนั้นสร้างความเครียดอยู่แล้ว พอต้องเผชิญสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียน เช่น เสียงรบกวนจากกิจกรรมของคนในบ้าน เสียงเปิดปิดประตูห้อง เสียงแม่ทำกับข้าว เสียงจากเครื่องจักรกำลังก่อสร้างตึกอาคาร ซึ่งแม้บางคนจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความเครียด งานวิจัยของสหรัฐอเมริกาชิ้นหนึ่งระบุว่าปัจจัยหลักทำให้เด็กที่เรียนออนไลน์เครียดก็คือ อุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ไม่มีคุณภาพ รวมถึงคุณภาพของภาพและเสียงในการสื่อสารด้วยที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ดังนั้นปัจจัยรบกวนต่างๆ  ที่มาลดทอนคุณภาพการสื่อสาร ก็น่าจะทำให้เด็กไทยเครียดได้เช่นเดียวกัน

 

จัดการพื้นที่ในบ้านให้เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์

 

ในช่วงที่ต้องใช้บ้านเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและเป็นโรงเรียนไปพร้อมกัน การแบ่งเขตพื้นที่ให้ชัดเจน เช่น ไม่ใช้พื้นที่พักผ่อนร่วมกับพื้นที่เรียนเป็นเรื่องสำคัญ  ควรแบ่งพื้นที่ให้ชัดว่าตรงนี้เอาไว้เรียนหนังสือและทำการบ้าน ตรงนู้นเอาไว้พักผ่อนเท่านั้น หากมีพื้นที่จำกัดให้ใช้สัญลักษณ์เชิงกายภาพแบ่งความแตกต่างระหว่างพื้นที่ เช่น สมมติในห้องมีโต๊ะอยู่ตัวเดียว ก็ให้หาอะไรมากั้นเพื่อแบ่งโต๊ะให้เป็นสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเอาไว้เรียน ฝั่งหนึ่งเอาไว้ทำอย่างอื่น เช่น กินข้าวหรือพักผ่อน

 

สัญญาณความเครียด

 

วิธีการสังเกตความเครียดง่าย ๆ เริ่มต้นจากการสังเกตพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน หนึ่ง—ลองดูพฤติกรรมการกินว่าผิดปกติจากเดิมไหม กินเยอะขึ้นหรือกินน้อยลง จนน้ำหนักเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือเปล่า สอง—พฤติกรรมเข้าสังคม  คุณยังพูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวเหมือนเดิมไหม สาม—พฤติกรรมการนอน แต่ละวันสามารถนอนหลับได้ไหม นอนหลับได้คุณภาพหรือเปล่า นอยเยอะผิดปกติไหม สี่—มีความรู้สึกเศร้า ซึม เครียด ผิดหวังมากกว่าปกติไหม และห้า—เริ่มโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ยากขึ้น เสียสมาธิง่ายขึ้น ลองสังเกตอารมณ์ของตัวเองให้ได้แล้วจดบันทึก เช่น เมื่อเรียนคาบเช้าเสร็จ พักเที่ยง ลองนั่งเงียบ ๆ สัก 10 นาที พูดคุยกับตัวเองว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีบ้าง แล้วส่วนไหนของเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ดี  หากเราส่งงานไม่ทันกำหนดส่งเพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี เราก็โทรไปที่ Call Center หรือไปหาสถานที่อินเทอร์เน็ตคุณภาพดี พอรู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร ก็จะหาแนวทางแก้ไขได้ง่ายขึ้น แต่สุดท้ายแล้วปัญหาที่เราเจอ ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ควรจะขอความช่วยเหลือจากครอบครัว อาจารย์ และเพื่อน

 

ครอบครัวมีวิธีรับมือกับเด็กที่เครียดจากการเรียนออนไลน์อย่างไรบ้าง

 

ครอบครัวเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากต่ออารมณ์และความรู้สึกของเด็ก ครอบครัวต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนเดิม รูปแบบการเรียนการสอนเปลี่ยนไปอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งยากกว่าเดิม ทำให้เด็กที่เรียนแบบปกติแล้วผลการเรียนดี แต่เรียนออนไลน์ ผลการเรียนดร็อปลง หากลูกเรียนไม่ไหวจะขอพักการเรียนไว้ก่อน ขอพักที่นี้ รวมถึงพักความคาดหวังของพ่อแม่ด้วย  หากครอบครัวเข้าใจ เด็กก็จะลดความกดดันไปได้มาก อีกเรื่องที่ทำได้คือ คอยสอดส่องดูความเป็นอยู่ พฤติกรรมการกิน การนอน การปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ถ้าสังเกตเห็นว่ามีความผิดปกติบางอย่าง ลองชวนเขาพูดคุย พูดระบายความเครียด แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นจนครอบครัวไม่รู้จะรับมืออย่างไร ก็พาไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

 

จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์ สถาบันการศึกษาควรรับมืออย่างไร

 

ผมมองว่าควรกลับมาเรียนแบบปกติให้เร็วที่สุด แต่ถ้ายังทำไม่ได้ สถาบันการศึกษาต้องปรับวิธีการวัดผลการเรียนรู้ที่ไม่กดดันเด็กจนเกินไป โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องหารือแนวทางการวัดผลให้สอดคล้องกับการเรียนออนไลน์ การเรียนออนไลน์ไม่ได้มีคุณภาพเท่ากับการเรียนในห้อง เด็กบางคนเรียนแล้วไม่เข้าใจแต่ต้องมาทำการบ้านเท่าเดิมหรือเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้ความเครียดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย  สถานศึกษาต้องก็ให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของผู้เรียนมากขึ้น ตอนเรียนในห้องเรียน หากเด็กเดินเข้ามาในห้อง ครูได้เห็นสีหน้า พฤติกรรมของเด็กอย่างชัดเจน สมมติเด็กคนหนึ่งมีส่วนรวมในห้องเรียน ยกมือตอบคำถามตลอด แต่ช่วงนี้ไม่ยกมือตอบคำถามเลย ครูก็จะสังเกตเห็นแล้วว่าเด็กคนนี้เปลี่ยนไป แต่การเรียนออนไลน์แค่ไม่ได้เปิดกล้อง หรือเปิดกล้องแล้วแต่กล้องไม่ชัด โดยเฉพาะหากมีเด็กเป็นจำนวนมากแล้ว ครูก็จะเห็นนักเรียนอยู่ในช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ความสามารถที่จะสังเกตเห็นสีหน้า พฤติกรรมของเด็กจะลดน้อยลง เพราะฉะนั้นครูต้องใส่ใจเด็กให้มากขึ้น เรียนเสร็จอาจจะมีชั่วโมงพูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของนักเรียน สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อแก้ไขให้ดีขึ้น

 

สำหรับเด็กที่ไม่ค่อยเข้าหาครู คุณครูต้องเริ่มเข้าหาเด็กคนนั้นเอง ถ้าสถาบันการศึกษาสามารถเพิ่มช่องทางและให้โอกาสให้เด็กได้สื่อสารกับอาจารย์เยอะขึ้นน่าจะช่วยได้ ส่วนภาครัฐควรมีนักจิตวิทยาประจำสถาบันการศึกษาตามสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างนักเรียนนักศึกษา ที่เด็กทุกคนสามารถเข้าไปใช้บริการได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

 

 

ขอขอบคุณ  https://thisable.me/content/2021/02/694

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *