Thisable.me : “จิตเวช” ความพิการที่มองไม่เห็น ค่อยๆ เรียนรู้ แยกแยะและยอมรับผู้บกพร่องทางจิต

 

ความพิการทางจิตเป็นความพิการอย่างหนึ่งที่ “ไม่บอกก็ไม่รู้” เพราะพวกเขาไม่มีความบกพร่องทางกายภาพที่คนอื่นสามารถมองเห็นได้เลย ทำให้บ่อยครั้งความพิการทางจิตหรือความบกพร่องทางจิตถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง และถูกเหมารวมด้วยคำไม่กี่คำ เช่น บ้า โรคจิต ประสาท ฯลฯ ที่ถูกส่งต่ออย่างยาวนานผ่านสื่อ

 

Thisable.me ชวนคุยกับ อ. ผู้บกพร่องทางจิตที่ต้อนรับเราอย่างอบอุ่น ในอาคารเล็ก ๆ ลึกเข้ามาจากโรงพยาบาลศรีธัญญา หลังจากพูดคุยตกลงเรื่องความเป็นส่วนตัวของเธอเป็นที่เรียบร้อย เธอก็ได้ถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อสังคมที่มองเธออย่างแปลกแยกให้พวกเราฟัง

 

ความไม่เข้าใจ

 

อ. เล่าว่าเธอเริ่มมีอาการทางจิตตอนอายุ 18 ปี และได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งเธอรู้สึกว่าโชคดีมาก ๆ ที่มีแม่ที่เข้าใจและคอยดูแลอยู่ข้าง ๆ มาตลอด  แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็รู้สึกได้ถึงความไม่เข้าใจของสังคมรอบข้าง

 

เราถาม อ. ว่า สังคมปัจจุบันมีความเข้าใจเกี่ยวกับผู้บกพร่องทางจิตอย่างไร และเธอก็ให้คำตอบเราว่า สังคมปัจจุบันยังเหมารวมกลุ่มผู้บกพร่องทางจิตว่าเป็น “คนบ้า” อยู่ ซึ่งเธอรู้สึกสะเทือนใจที่ยังมีชุดความคิดแบบนี้อยู่ในสังคม ไม่ควรมีใครใช้คำว่าคนบ้า และควรใช้คำว่า ผู้บกพร่องทางจิตหรือผู้พิการทางจิต การใช้คำว่าบ้า ทำให้สังคมตัดสินกันไปเองว่าผู้บกพร่องทางจิตเป็นคนบ้า และนั่นทำให้แม้แต่ตัวเธอเองก็ไม่อยากเปิดเผยว่าเป็นผู้บกพร่องทางจิตหากไม่จำเป็น

 

“เราสะเทือนใจ ตกใจ และเกิดความกลัวว่าคนจะรู้ว่าเราเป็นคนพิการทางจิต และมองว่าเราเป็นคนบ้าตามที่คนพูดกัน แม้เราไม่อยากให้ใครรู้ แต่ถ้ารู้ก็ไม่เป็นไร คนจะตีตราว่าเป็นคนบ้า เราก็ไปว่าอะไรไม่ได้”

 

 

“มันเป็นโรคประสาทไปแล้ว เข้าโรงพยาบาลบ้าไปแล้ว”

 

ภาพจำของผู้บกพร่องทางจิตในสังคมไทยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวของผู้ป่วยบางคนไม่เช้าใจและไม่ยอมรับในความบกพร่องของผู้ป่วย จนนำไปสู่การปิดบังและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ทั้งที่จริงแล้วความบกพร่องทางจิตเป็นอาการที่สามารถรักษาให้ดีขึ้นจนถึงหายได้

 

ภาพจำเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการนำเสนอของสื่อ ดังเช่นที่ อ. บอกว่า ภาพของผู้บกพร่องทางจิต มาจากสื่อที่นำเสนอตัวละคร “คนบ้า” ความต้องการของเธอไม่ใช่การเลี่ยงการนำเสนอภาพตัวละครแบบนั้น แต่อยากให้ยอมรับการมีอยู่ของคนที่มีอาการทางจิตและนำเสนอว่าอาการเหล่านั้นสามารถรักษาให้หายได้

 

“ตั้งแต่เด็กสิ่งที่เราเห็นคือสื่อสะท้อนความคิดของคนเขียนบท  เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาเขียนนั้นเป็นเรื่องจริงที่เขาเจอหรือเปล่า  แต่การทำเป็นบทละครก็ควรจะดูความเหมาะสมว่าเกินไปหรือเปล่า เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องผ่านการแสดงของตัวละคร”

 

“คืออาการป่วยมีอยู่หลายขั้น ขั้นที่ป่วยมาก จนไม่รู้เรื่องอะไรเลยคือขั้นหนักที่สุดของผู้บกพร่องทางจิต รองลงมาเป็นขั้นที่ไม่ถึงกับเหม่อลอยหรือพูดไม่รู้เรื่อง ขั้นต่อมาก็จะเป็นขั้นเหมือนเรา ที่ได้รับการรักษา ได้ทานยา ทำให้อาการทางจิตดีขึ้น อีกส่วนก็คือคนที่ได้รับการฟื้นฟูจิตมาแล้วและสามารถเข้าทำงานได้ จนถึงหายป่วยไปเลยก็มี”

 

อ.เห็นว่าอยากให้มีภาพการรักษาในการนำเสนอตัวละครผู้บกพร่องทางจิตด้วย เพราะการรักษาคือสิ่งดีที่ ผู้ป่วยหรือคนพิการควรได้รับ การกายภาพบำบัดและการรักษาที่ถูกวิธีจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ เธอจะรู้สึกชื่นใจทุกครั้งที่มีฉากเหล่านี้ในละคร อ.ยังเสริมอีกว่าการทำให้ภาพการรักษาอยู่ในสื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าสังคมยังสามารถยอมรับความพิการเหล่านั้นได้

 

“สมัยนี้คนสามารถเข้าใจได้ว่าอันไหนละคร อันไหนชีวิตจริง และชีวิตจริงก็มีคนแบบนี้เหมือนกัน อยากให้คนแยกแยะว่าละครก็คือละคร เขาอาจจะให้บทที่มันเลวร้ายเกินไปหรือมากเกินไปก็ได้ และเราก็อยากจะให้คิดอีกแง่หนึ่งว่า โอเค ในสังคมนี้มีคนที่ป่วยอยู่ด้วย”

 

 

แปลกแยกเพราะความเป็นห่วงเกินจำเป็น

 

แม้ว่าคุณ อ.จะไม่เคยเจอคนที่ใช้คำพูดเหยียดหยามเธอเพราะความบกพร่องทางจิตโดยตรง แต่บางครั้ง วิธีการที่คนอื่นปฏิบัติหรือพูดคุยกับเธอก็สามารถทำให้รู้สึกได้ถึงความแปลกแยกโดยไม่ต้องเอ่ยปาก

 

เวลา อ.ร่วมกิจกรรมลงพื้นที่กับสมาคมที่เธอสังกัดอยู่ ระหว่างการอธิบายว่าผู้บกพร่องทางจิตคืออะไร นายกสมาคมมักให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทายว่าใครเป็นผู้บกพร่องทางจิต ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่ทายว่าเป็น อ. เนื่องจากเธอ “ดูปกติ” แต่เมื่อเฉลยว่า อ.นั่นเองที่เป็นผู้บกพร่องทางจิต ท่าทางของคนรอบข้างก็เปลี่ยนไป

 

“แววตาของคนที่ทายก็จะห่วงใยมากขึ้น แล้วก็ถามเรื่องการกินยา แม้จะไม่ได้ว่าอะไร แต่การระมัดระวังจนเกินไปก็อาจเป็นการทำร้ายจิตใจ เขากลัวเราเหรอ คนอื่นระแวงมากเกินไปจนเหมือนเป็นการเหยียดกัน”

 

การพูดคุยกับผู้บกพร่องทางจิตนั้น อ.แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องระมัดระวังจนเกินไป แค่พูดกับพวกเขาด้วยความเป็นมิตร เพราะการระมัดระวังอาจทำให้ผู้บกพร่องทางจิตเข้าใจว่าพวกเขาดูน่ากลัวจนต้อง “ระวัง”  ในคนที่เพิ่งรู้ว่ามีอาการก็อาจคอยปลอบใจว่าไม่เป็นไร โรคทางจิตเวชสามารถรักษาหายได้ หรือบอกว่าหากกินยาก็จะหายป่วยได้ ช่วยกันเป็นกำลังใจให้ผู้บกพร่องทางจิต  อ.ยังบอกอีกว่ากำลังใจที่สำคัญที่สุดก็คือกำลังใจจากคนในครอบครัว

 

ก่อนจะจากกัน  อ.ทิ้งท้ายเกี่ยวกับการใช้คำเรียกผู้บกพร่องทางจิตไว้อีกว่า “อยากจะให้สังคมใช้คำว่าผู้ป่วยทางจิตเวชมากกว่าคำว่า บ้า โรคจิตหรือประสาท อยากให้สื่อใช้คำพูดที่ดูไม่สะเทือนใจมากเกินไป”

 

 

ขอขอบคุณ  https://thisable.me/content/2021/02/695

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *