บอร์ดผู้พิการ ขอโควตาวัคซีนผู้พิการรุนแรง ยืดกู้ฉุกเฉินประกอบอาชีพปลอดคนค้ำ-ดอก

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ (แฟ้มภาพ)

 
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ (แฟ้มภาพ)

รองโฆษกรัฐบาล เผย บอร์ดผู้พิการเคาะ ขอโควตาวัคซีนผู้พิการรุนแรง ขยายเวลากู้ฉุกเฉินประกอบอาชีพปลอดคนค้ำ-ดอก เสนอ ครม.พิจารณาเบี้ยผู้พิการกลุ่มไม่มีบัตรคนจน-อายุเกิน 18

วันนี้ (10 มี.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (10 มี.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้พิจารณาแนวทางการส่งเสริมการมีงานทำและการให้ความช่วยเหลือผู้พิการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สาระสำคัญของการประชุม มีดังนี้

1. เห็นชอบปรับเพิ่มสวัสดิการเบี้ยผู้พิการให้กับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ แต่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมีอายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 8.3 แสนคน จาก 800 บาท/เดือน เป็น 1,000 บาท/เดือน ให้เท่ากับผู้พิการที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้พิการที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่ง ครม.ได้มีมติปรับเพิ่มให้ก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจะต้องนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป

2. เห็นชอบขยายเวลาการกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพกรณีฉุกเฉินของกองทุนพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ วงเงินกู้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อราย โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย ปลอดชำระหนี้ 1 ปี จากเดิมที่หมดเขต 31 มี.ค. 64 ขยายไปถึง 31 พ.ค. 64 ประชาชนผู้สนใจสามารถยื่นคำร้องขอกู้ได้ที่ www.dep.go.th หรือสอบถามสายด่วน พม. 1300

3. เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาการกำหนดโควตาการรับสิทธิวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แก่คนพิการโดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่มีความพิการในระดับรุนแรงหรือมีปัญหาด้านสุขภาพ

4. เห็นชอบให้กระทรวงการคลังพิจารณาเพิ่มมาตรการลดหย่อนภาษีให้สถานประกอบการที่จ้างงานคนพิการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือ 1) การจ้างคนพิการตามมาตรา 33 ที่หักภาษีได้ 2 เท่า ขอเพิ่มเป็น 3 เท่า 2) การจ้างคนพิการมากกว่า 60% ของลูกจ้าง ที่หักภาษีได้ 3 เท่า ขอเพิ่มเป็น 4 เท่า

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีความห่วงใยผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อผู้พิการ การประชุมครั้งนี้จึงเน้นไปที่การให้การช่วยเหลือฉุกเฉินเพื่อให้ผู้พิการก้าวพ้นความยากลำบากที่ประสบอยู่ขณะนี้ และส่งเสริมโอกาสแก่ผู้พิการเพื่อให้เข้าถึงการจ้างงาน มีรายได้ สามารถพึ่งพิงตนเองได้ ซึ่งขณะนี้แผนการส่งเสริมการมีงานทำของผู้พิการ ได้กำหนดแนวทางการบูรณาการ 29 หน่วยงาน ครอบคลุมการส่งเสริมการมีงานทำ การให้การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย และการพัฒนาทักษะ เพื่อประโยชน์แก่คนพิการ ตามเป้าหมายปี 64 สองแสนคนทั่วประเทศ

แหล่งที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/politics/detail/9640000023354

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *