เพิ่มเงินสวัสดิการ บอร์ดผู้พิการเคาะ คนไม่มีบัตรคนจนเพิ่มจาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท พร้อมขยายเวลาขอกู้ฉุกเฉินปลอดคนค้ำ-ดอก ฉีดวัคซีนโควิด ผู้พิการรุนแรง
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (10 มี.ค. 2564) ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้พิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ผู้พิการ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทั้ง เพิ่มเงินสวัสดิการ การขยายระยะเวลากู้ฉุกเฉิน และการจัดสรรโควตา วัคซีนโควิด
สำหรับ สาระสำคัญของการประชุม มีดังนี้
1. เห็นชอบปรับเพิ่มสวัสดิการเบี้ยผู้พิการ ให้กับคนพิการ ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ แต่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมีอายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 8.3 แสนคน จาก 800บาท/เดือน เป็น 1,000 บาท/เดือน ให้เท่ากับผู้พิการ ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้พิการที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่ง ครม. ได้มีมติปรับเพิ่มให้ ก่อนหน้านี้แล้ว
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จะต้องนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป
ก่อนหน้านี้ ผู้พิการ ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้พิการที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ได้รับการปรับเงิน สวัสดิการเบี้ยผู้พิการ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา จำนวนประมาณ 1.1 ล้านคน โดยวงเงินเบี้ยความพิการเพิ่มเติม 200 บาท จะโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ของบัตรฯ
2. เห็นชอบขยายเวลาการกู้ยืมเงิน เพื่อประกอบอาชีพ กรณีฉุกเฉิน ของ กองทุนพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ วงเงินกู้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อราย โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย ปลอดชำระหนี้ 1 ปี จากเดิมที่หมดเขตวันที่ 31 มี.ค. 2564 ขยายไปถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564 ผู้สนใจ สามารถยื่นคำร้องขอกู้ได้ที่ www.dep.go.th หรือสอบถามสายด่วน พม. 1300
3. เห็นชอบให้ กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาการกำหนดโควต้า การรับสิทธิวัคซีน ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือวัคซีนโควิด แก่คนพิการ โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการ ที่มีความพิการในระดับรุนแรง หรือมีปัญหาด้านสุขภาพ
- การจ้างคนพิการ ตามมาตรา33 ที่หักภาษีได้ 2 เท่า ขอเพิ่มเป็น 3 เท่า
4. เห็นชอบให้ กระทรวงการคลัง พิจารณาเพิ่มมาตรการลดหย่อนภาษี ให้สถานประกอบการ ที่จ้างงานคนพิการ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือ
- การจ้างคนพิการมากกว่า 60% ของลูกจ้าง ที่หักภาษีได้ 3 เท่า ขอเพิ่มเป็น 4 เท่า
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีความห่วงใย ผลกระทบของโควิด – 19 ที่มีต่อผู้พิการ การประชุมครั้งนี้จึงเน้นไปที่การให้การช่วยเหลือฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้พิการ ก้าวพ้นความยากลำบาก ที่ประสบอยู่ขณะนี้ และส่งเสริมโอกาสแก่ผู้พิการ เพื่อให้เข้าถึงการจ้างงาน มีรายได้ สามารถพึ่งพิงตนเองได้
ล่าสุด ที่ประชุมฯ ได้จัดทำแผน การส่งเสริมการมีงานทำ ของผู้พิการ โดยกำหนดแนวทางการบูรณาการ 29 หน่วยงาน ครอบคลุมการส่งเสริมการมีงานทำ การให้การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ตามกฎหมาย และการพัฒนาทักษะ เพื่อประโยชน์แก่คนพิการ ตามเป้าหมายปี 2564 เข้าถึงผู้พิการ สองแสนคนทั่วประเทศ
แหล่งที่มา: https://www.thebangkokinsight.com/569844/