นักท่องเที่ยวคนพิการ โอกาสที่มาพร้อมความท้าทาย อุตสาหกรรมเที่ยวไทย
นักท่องเที่ยวคนพิการ สังคมผู้สูงวัย ที่เพิ่มสูงขึ้น โอกาสอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จากกำลังซื้อ ที่ใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวปกติถึง 1.16 เท่า แนะผู้ประกอบการท่องเที่ยวปรับรับความต้องการเที่ยว
ปัจจุบันสังคมโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging society) และสังคมคนพิการ (Disabled society) ซึ่งกลุ่มนี้โดยเฉพาะชาวยุโรป ที่ผลสำรวจพบว่า นักท่องเที่ยวคนพิการ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และมีความต้องการท่องเที่ยวไม่แพ้คนปกติ หากแต่ในปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ประกอบการท่องเที่ยว สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้เท่าที่ควร
ผศ.ดร. กัลยา สว่างคง คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม และ RDI เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติพบว่า สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุทั่วโลก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 9.2% ในปี 2533 เป็น 11.7% ในปี 2556 และอาจเพิ่มสูงถึง 21.1% ในปี 2593
ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก แสดงให้เห็นว่าตัวเลขคนพิการในโลกมีสูงถึง 785 ล้านคน หรือประมาณ 15% ของประชากรโลก ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าจำนวนคนพิการยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยคาดการณ์ว่า จะมีคนพิการมากถึง 160 ล้านคนในปี 2568 ในยุโรป และ 100 ล้านคนในปี 2573 ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นนักท่องเที่ยวหลักของประเทศไทยทั้งสิ้น
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แม้คนพิการจะมีข้อจำกัดในการเดินทาง แต่ก็ยังคงต้องการประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น จากการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อคนพิการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
ทั้งนี้มีงานวิจัยในยุโรป ที่เกี่ยวข้องกับพลังในการใช้จ่ายของกลุ่มคนพิการ แสดงให้เห็นว่า 70% ของประชากรที่เป็นคนพิการในยุโรป มีความพร้อมทั้งสภาพทางการเงิน และความสามารถทางร่างกาย ในการเดินทางท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวคนพิการ จะใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวปกติถึง 1.16 เท่า
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พยากรณ์มูลค่าของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สำหรับคนพิการในยุโรปตั้งแต่ ปี 2548 – 2568 เอาไว้ ตามภาพด้านล่าง
ความน่าสนใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือ พลังในการใช้จ่าย เพื่อให้ได้ท่องเที่ยวตามที่ต้องการ โดยค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวนั้น จะทวีคูณเสมอเนื่องจากต้องมีผู้ที่ร่วมเดินทางไปด้วยทุกครั้ง กลุ่มคนพิการ จึงเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ที่มีความน่าสนใจ ทั้งในด้านจำนวน และพลังในการใช้จ่าย ดังนั้นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จีงควรเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญคือ ผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจ กับกลุ่มนักท่องเที่ยวคนพิการ มีค่อนข้างน้อย ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวของไทยพบว่า จำนวนบริษัทที่รับจัดนำเที่ยวให้คนพิการ มีเพียงไม่กี่บริษัท บริษัทส่วนใหญ่ ยังไม่มีการนำเสนอรายการนำเที่ยวที่เฉพาะ สำหรับคนพิการ
นอกจากนี้ในแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึกส่วนใหญ่ ยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวก และบริการที่เหมาะสม สำหรับคนพิการ เนื่องมาจากความไม่เข้าใจความต้องการของคนพิการ ความกลัวที่จะไม่สามารถดูแล หรือให้บริการที่ถูกต้องเหมาะสมได้ การไม่มีตัวเลขทางสถิติยืนยันจำนวนนักท่องเที่ยวคนพิการ รวมทั้งความไม่แน่ใจถึงความสามารถในการเดินทาง และกำลังในการใช้จ่ายของคนพิการ
สภาพดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลจากงานวิจัยในประเทศอังกฤษ ที่แสดงให้เห็นว่า 63% ของบริษัทนำเที่ยว ไม่เคยขายผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มนี้เลย
ที่ผ่านมาองค์กรต่าง ๆ ในโลก ให้ความสำคัญกับสิทธิของคนพิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิในการเดินทางท่องเที่ยว เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน จึงมีการออกข้อกำหนด และแผนพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อคนพิการอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย มีแผนพัฒนาต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างภาคบริการ เน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวสำหรับคนทั้งมวล และการให้บริการที่เท่าเทียม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม
แผนพัฒนาต่าง ๆ นี้ เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า ภาครัฐให้ความสำคัญ กับการให้บริการคนพิการ เมื่อผนวกกับข้อมูลทางสถิติ จากหลายประเทศ ที่ยืนยันถึงจำนวนที่เพิ่มขึ้น ความต้องการในการเดินทางท่องเที่ยว และพลังในการใช้จ่ายของคนพิการ ทำให้นักท่องเที่ยวคนพิการ เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
สำหรับแนวทางการดำเนินงานนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา โดยควรเริ่มต้นจาก การกำหนดนโยบาย หรือแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม มีการให้ความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรในทุกภาคส่วน และเร่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ที่จะเอื้อให้คนพิการ สามารถเดินทาง และเข้าถึงข้อมูลทางการท่องเที่ยวได้อย่างไม่จำกัด
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ควรจะวิเคราะห์สถานการณ์ และข้อมูลต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจถึงความท้าทาย ในการให้บริการกลุ่มนักท่องเที่ยวคนพิการ อันจะนำไปสู่การตอบสนองความคาดหวังของคนกลุ่มนี้ ได้อย่างเต็มรูปแบบ
ที่สำคัญคือ การจัดบริการให้คนพิการนั้น นอกจากจะเกิดประโยชน์ ทั้งในด้านการตอบสนองสิทธิพื้นฐานของคนพิการ และเพื่อพัฒนาความสามารถในการให้บริการอันจะนำไปสู่โอกาสใหม่ทางธุรกิจของผู้ประกอบการเองแล้ว ยังเป็นสร้างความแตกต่าง ที่ส่งผลอันยิ่งใหญ่ต่อจิตใจผู้คนในสังคมอีกด้วย