นักเรียนพิการโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ 15 คน จะมีโอกาสได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกับศิลปินร่วมสมัยล้านนา 15 คน ผ่านการเวิร์กช็อปศิลปะ และงานศิลปะต้นแบบที่เกิดขึ้นจากโครงการ จะนำไปจัดทำโปสการ์ดภาพผลงานเผยแพร่ผ่านสื่อดิจิทัลต่างๆ และจำหน่ายสร้างรายได้สู่โรงเรียนและน้องๆ ผู้พิการ
กิจกรรมทางด้านศิลปะนี้ เป็นโครงการ “วาดฝันปันสุข ศิลปะร่วมสมัยเพื่อคนพิการ” ซึ่ง ผศ.วิทยา พลวิฑูรย์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ดำเนินการขึ้นด้วยความร่วมมือของคณะศิลปกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา และโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ พร้อมประสานงานเครือข่ายศิลปินร่วมสมัยศิลปินล้านนาร่วมส่งเสริมการศึกษาศิลปะให้น้องๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.)
หลายคนคิดว่า เด็กพิการแค่การใช้ชีวิตยังยากลำบาก ส่วนการวาดภาพสร้างงานศิลปะแทบไม่ต้องพูดถึง แต่กิจกรรมนี้จะใช้ศิลปะร่วมสมัยทำให้เด็กพิการได้รับการยอมรับจากความสามารถในการสร้างงานศิลปะได้เหมือนทุกคน
ผศ.วิทยา พลวิฑูรย์ บอกว่า โครงการวาดฝันปันสุขฯ สร้างกิจกรรมทางด้านศิลปะ ฝึกทักษะการสร้างสรรค์ และฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจของนักเรียนลดความบกพร่องด้านต่าง ๆ โดยการมีส่วนร่วมของศิลปินร่วมสมัยล้านนา และสถาบันการศึกษา ทำให้คนพิการที่มีความสามารถในการเรียนรู้สามารถได้รับโอกาสในการศึกษาอย่างทั่วถึงและเหมาะสม กิจกรรมนี้จะทำให้เกิดสุนทรียภาพและความสุขขึ้นในจิตใจทั้งทางร่างกายและทางจิตใจของนักเรียนพิการพัฒนาศักยภาพให้มีทักษะทางสังคม และมีแนวทางการประกอบอาชีพได้
“ ศิลปะคือสิ่งที่คนสร้างและแสดงออกมาจากอารมณ์ความรู้สึก บางครั้งมาจากจิตใต้สำนึกของศิลปินเอง กิจกรรมเวิร์กช็อปใช้หลักการศิลปะบำบัด เป็นศาสตร์รูปแบบหนึ่งที่ใช้การผสมผสานระหว่างศาสตร์ทางด้านการทำจิตบำบัด และกระบวนการสร้างสรรค์ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงบำบัดรักษา เพื่อให้อิสระในการเป็นพื้นที่ทดลองในการแสดงออกตัวตน ความรู้สึกลงในทัศนศิลป์รูปแบบต่างๆ ศิลปะบำบัดแตกต่างจากงานศิลป์ในแบบที่หลายคนรู้จักอยู่ตรงที่ไม่จำเป็นต้องมีทักษะทางศิลปะ ไม่ได้เน้นที่ผลงานหรือคุณค่าทางศิลปะ เพราะใจความสำคัญ คือ กระบวนการ ท้ายที่สุดคือความสุข เด็กพิการจะมีโอกาสทำงานศิลปะอย่างที่ใจของพวกเขาต้องการ “ผศ.วิทยา กล่าว
รับโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่เป็นโรงเรียนที่มีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มุ่งพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพของนักเรียนที่มีความยกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ ถือเป็นสถานศึกษาต้นแบบ ขณะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาได้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและบริการนักศึกษาพิการให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม โดยคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้จัดการเรียนการสอนในด้านศิลปะแก่นักศึกษาพิการมาหลายรุ่นจนสำเร็จการศึกษา เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้เติบโตมีอาชีพบนเส้นทางการทำงานศิลปะพึ่งพาตัวเองได้
เด็กพิการไม่น้อยที่ชอบกิจกรรมศิลปะ แต่เมื่อล็อคดาวน์ พวกเขาไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ได้ทำกิจกรรมที่โรงเรียน พวกเขาไม่สามารถปลอดปล่อยจินตนาการอย่างอิสระได้ อาจทำให้ศักยภาพของเด็กๆ ลดลง เด็กพิการควรได้รับการสนับสนุนด้านศิลปะที่จะช่วยสร้างเสริมทักษะการใช้ชีวิต พร้อมทั้งบริหารใจให้แข็งแรงไปพร้อมกัน
ตอนนี้โปรเจ็กต์เวิร์กช็อปสำหรับเด็กพิการกำหนดจัดปลายเดือนสิงหาคมนี้ เป็นเวลา 3 วัน โดยปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบ Online ตามสถานการณ์ เพื่อเป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขและจังหวัดเชียงใหม่อย่างเคร่งครัด ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด กิจกรรมมีทั้งการบรรยายเรื่องศิลปะกับการสื่อสารในโลกยุคใหม่, ศิลปะกับความงามทางสุนทรียภาพ และหัวข้อให้ความรู้อิทธิพลแห่งสีสันในงานศิลปกรรม ปูพื้นสาระความรู้จากศิลปินอาจารย์ของมทร.ล้านนา
ช่วงเวิร์กช็อปออนไลน์จะเปิดโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิค วิธีการและกระบวนการสร้างงานศิลปะโดย 15 ศิลปินในโครงการ จากนั้นจะให้เวลาเด็กพิการและศิลปินปฏิบัติงานสร้างผลงาน นำเสนอผลงานจากแนวคิด และมีการแนะนำแนวทางสร้างสรรค์ให้เกิดการพัฒนาต่อไป สำหรับคนพิการเมื่อเปิดโอกาสให้กับพวกเขาได้ตระหนักถึงคุณค่าและศักยภาพของตนเอง ผ่านการเติมเต็มจินตนาการ และการเรียนรู้ศิลปะร่วมกันระหว่างผู้พิการทางสายตาและศิลปินล้านนา จะเป็นพลังใจในการผลักดันให้พัฒนาสร้างผลงานศิลปะในแบบของตัวเองออกสู่สังคมต่อไป
ขอขอบคุณ: ไทยโพสต์ https://www.thaipost.net/main/detail/112158