ศาลปกครองสั่ง กทม. ค่าเสียหายคนพิการกรณีไม่สร้างลิฟต์ในสถานีรถไฟฟ้า BTS

วันนี้ (15 ก.ย.) ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาออกคำสั่งให้กรุงเทพมหานคร จ่ายค่าเสียหายแก่คนพิการที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ คนละ 5 พันบาท กรณีที่ไม่ดำเนินการก่อสร้างลิฟต์สิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการในสถานีรถไฟฟ้า BTS โดยคดีนี้ นายธีรยุทธ สุคนธวิท กับพวกรวม 430 คน ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร หลังจากปี 2554 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีระหว่าง นายสุภร ธรรมมงคลสวัสดิ์ กับพวกรวม 3 คน ฟ้อง กรุงเทพมหานคร กับพวกรวม 4 คน ให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดทำลิฟต์ที่สถานีขนส่งทั้ง 23 สถานีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา

แต่พบว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา จึงถือว่าเป็นละเมิดต่อนายธีรยุทธ และพวกทั้ง 430 คน ทำให้ได้รับความยากลำบากในการดำเนินชีวิตขาดประโยชน์ในการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้า BTS) และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประกอบภารกิจประจำวันโดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 1 พันบาท คิดเป็นค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 835,000 บาทต่อคน

จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายผู้ฟ้องคดีทั้ง 430 คนๆ ละ 835,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหายเชิงลงโทษให้แก่ผู้ฟ้องคดีในอัตราสี่เท่าของจำนวนเงินดังกล่าวรวมเป็นเงิน 3,340,000 ต่อคน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,436,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

ซึ่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ได้สั่งให้ กทม. ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการที่สถานีขนส่งรถไฟฟ้า BTS ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเฉพาะรายที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครอันเป็นท้องที่จังหวัดเดียวกับท้องที่ที่ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้า BTS) ตั้งอยู่ เป็นเงินจำนวนรายละ 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าเสียหาย นับถัดจากวันฟ้องถึงวันที่ 10 เม.ย. 64 และดอกเบี้ยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 64 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา

เนื่องจากเห็นว่าแม้ในการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.650/2557 ที่ นายสุภร ฟ้องนั้น กทม.จะประสบกับปัญหาและอุปสรรคหลายประการ และมีเหตุผลเพียงพอจะรับฟังได้ว่า บางสถานีและการก่อสร้างลิฟต์ในบางจุดมีข้อจำกัด รวมทั้งจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการให้ครบถ้วนตามคำพิพากษาดังกล่าว

อีกทั้ง กทม. ได้พยายามปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเรื่อยมาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาวันที่พ้นกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจนถึงปัจจุบันแล้ว ระยะเวลาได้ล่วงเลยมากว่า 5 ปี ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่ล่าช้าเกินสมควร และความล่าช้าดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของ กทม. ซึ่งเป็นเรื่องที่ กทม. สามารถที่จะเร่งรัดให้เป็นไปโดยรวดเร็วขึ้นได้

ประกอบกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า การจัดให้มีอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ รวมทั้งสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่ามีอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการที่สถานีขนส่งและรถรางนั้นอยู่ในวิสัยที่ กทม.จะดำเนินการได้ อีกทั้งเป็นกรณีที่ กทม.พึงคาดหมายได้ว่า หากการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวย่อมส่งผลให้คนพิการรวมถึงผู้ฟ้องคดีหลายราย ยังคงต้องประสบกับอุปสรรคและไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรในการใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ต่อไป กรณีจึงถือได้ว่า กทม. ปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดล่าช้าเกินกว่าที่กำหนดดังกล่าว

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตั้งแต่พ้นกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.650/2557 จนถึงวันฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีบางรายมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นท้องที่เดียวกับท้องที่ที่ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครตั้งอยู่ ฉะนั้น การที่ กทม. ปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลฯ ล่าช้าเกินกว่าที่กำหนด จึงส่งผลโดยตรงให้ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวซึ่งล้วนแต่มีความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย และผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ต้องประสบกับอุปสรรคและไม่ได้รับความสะดวกตามสมควรในการใช้บริการระบบรถไฟฟ้าฯ ซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการสาธารณะเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป กรณีจึงถือได้ว่า การกระทำของ กทม. ดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งมวลชนที่พิพาทซึ่งเป็นบริการสาธารณะ อันเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายให้ความคุ้มครองไว้

ดังนั้น การที่ กทม. ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลไม่แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา จึงครบองค์ประกอบของการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยถือเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติล่าช้าเกินสมควรและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้ฟ้องคดีเฉพาะรายดังกล่าว

ส่วนกรณีผู้ฟ้องคดีรายที่มิได้มีภูมิลำเนาในท้องที่จังหวัดเดียวกับท้องที่ที่ระบบขนส่งมวลชนที่พิพาทตั้งอยู่ โดยไม่ได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่ามีพฤติการณ์พิเศษอื่นใดที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวได้รับความเสียหายจากการไม่อาจเข้าถึงหรือใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งมวลชนที่พิพาท กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า การกระทำของ กทม. ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีกลุ่มนี้แต่อย่างใด

โดยสามารถอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดฉบับเต็มได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้

https://bit.ly/2YZc2Sz

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *