ข่าววันนี้ อีกหนึ่งสวัสดิการดี ๆ สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยเอดส์หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์รับเงิน “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” และ “เบี้ยผู้พิการ” มาตรการอุดหนุนเงินเพื่อช่วยเหลือสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายดำรงชีพให้กับผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยเปิดรับลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบื้ยคนพิการ ทุกเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งสมัครลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 พฤศจิกายนของทุกปี ในวันและเวลาราชการ วันนี้จะพาไปศึกษาข้อมูลการสมัครลงทะเบียนรับเบี้ยงยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยคนพิการ จะมีเอกสารอะไรบ้าง หรือมีขั้นตอนอะไรบ้างมาศึกษากันเลย
วิธีสมัครลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพสูงอายุ
สำหรับผู้สูงอายุ หรือบุตรหลาน ที่ต้องการสมัครลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มาดูรายละเอียดกันก่อนจะได้เข้าใจว่าตรงกับคุณสมบัติดังกล่าวหรือไม่
1. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
- สัญชาติไทย
- มีอายุ 59 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (ในกรณีที่ทะเบียนราษฎร์ระบุเฉพาะปีเกิด ให้ถือว่าบุคคลนั้นเกิดวันที่ 1 มกราคมของปีนั้น เช่น เกิด พ.ศ. 2497 ให้ถือว่าเกิดวันที่ 1 มกราคม 249
- ขอรับเบี้ยตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
- ไม่เป็นผู้ที่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเทศบาล อบต. ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือเทศบาล อบต.จัดให้เป็นประจำ ยกเว้นผู้พิการและผู้ป่วยเอดส์ตามระเบียบ
2. ใช้เอกสารอะไรบ้าง?
ในส่วนของเอกสารที่ใช้ในการดำเนินเพื่อรับสวัสดิการนั่น สิ่งสำคัญที่ห้ามลืมเด็ดขาด คือ เอกสารต้องลงลายมือชื่อ สำเนาถูกต้องทุกฉบับ สำหรับผู้สูงอายุคนไหนที่ไม่สามารถเขียนได้ ก็ให้พิมพ์ลายมือแทน ได้แก่
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก(ออมทรัพย์) จำนวน 1 ชุด
3. ผู้สูงอายุยื่นเอกสารรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่ได้ ต้องทำอย่างไร?
อีกหนึ่งปัญหาสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถยื่นเอกสารเพื่อขอรับ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ได้นั้น สามารถให้บุตรหลาน หรือผู้อื่นยื่นเอกสารแทนผู้สูงอายุได้ และหากผู้สูงอายุมีความประสงค์โอนเงินเข้าบัญชีผู้อื่น ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ ตัวจริงพร้อมสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ อย่างละ 1 ชุด
4. ยื่นเอกสารแล้วจะได้รับเงินเมื่อไหร่?
สำหรับการลงทะเบียนอย่างที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว คือ ผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนไว้ ตั้งแต่วันที่ 1- 30 พฤศจิกายน ของทุกปี จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ของปีถัดไป ย้ำไม่มีการจ่ายย้อนหลัง
5. ผู้สูงอายุแต่ละคนจะได้รับเงินเท่าไหร่?
ปัจจุบันได้จ่ายแบบขั้นบันได แบ่งเป็นช่วงอายุเริ่มตั้งแต่ อายุ 60 ปี ไปจนถึงอายุ 90 ปีขึ้นไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
- อายุ 60 -69 ปี จะได้รับ 600 บาท
- อายุ 70 -79 ปี จะได้รับ 700 บาท
- อายุ 80 -89 ปี จะได้รับ 800 บาท
- อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท
หมายเหตุ ในกรณีผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุย้ายทะเบียนบ้านให้เทศบาล หรือ อบต.ที่เคยจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดิมยังคงจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตนกว่าจะสิ้นสุดปีงบประมาณนั้น คือเดือนกันยายน หากมีความประสงค์จะรับเบี้ยยังชีพกับเทศบาล หรือ อบต. แห่งใหม่ ต้องไปจดทะเบียนเพื่อขอรับเบี้ยยังชีพที่เทศบาลหรือ อบต.แห่งใหม่ ภายในวันที่ 1 -30 พฤศจิกายนของทุกปี และเริ่มรับเงินที่ใหม่ในเดือนตุลาคม ของปีถัดไป
วีธีสมัครลงทะเบียนเบี้ยยังชีพ “ผู้พิการ”
สำหรับ “เบี้ยยังชีพคนพิการ” เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่าน ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2564 ได้เห็นชอบการปรับเพิ่มสวัสดิการเบี้ยความพิการจาก 800 บาทต่อคนต่อเดือน เป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน
ส่วนกลุ่มคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งคนพิการทุกคนที่มีสมุด/บัตรประจำตัวคนพิการมีสิทธิลงทะเบียนขอรับ “เบี้ยความพิการ” ได้
1. การจดทะเบียนคนพิการ
คนพิการที่ประสงค์จะจดทะเบียนคนพิการ เพื่อนำ “สมุดประจำตัวคนพิการ ” ไปขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตาม พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ต้องดำเนินการ ดังนี้
2. สถานที่จดทะเบียน
– สำนักงานคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ กรมประชาสงเคราะห์ ถนนกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 628 2518 – 9
– สำนักงานประชาสงเคราะห์จังหวัดที่ศาลากลางจังหวัด ซึ่งเป็นภูมิลำเนา หรือจังหวัดที่คนพิการอาศัยอยู่
3. เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียน
– เอกสารรับรองความพิการ
– ขอได้จากสถานพยาบาลของรัฐ เช่น สถานีอนามัย โรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด และโรงพยาบาลจิตเวช เป็นต้น
– ต้นฉบับ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวต่างด้าว หรือเอกสารอื่นที่ราชการออกให้ ในกรณีเป็นเด็กที่ยังไม่มีบัตรประจำตัว ให้ใช้ใบสูติบัตรแทน
– ต้นฉบับ และสำเนาทะเบียนบ้าน 1 ใบ
– รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป
4. กรณีไม่สามารถไปจดทะเบียนด้วยตัวเอง
-ให้มอบผู้อื่นไปจดทะเบียนแทน โดยผู้จดทะเบียนแทน ต้องนำเอกสารสำหรับต่อไปนี้ไปสถานที่จดทะเบียน
– เอกสารสำหรับจดทะเบียนของคนพิการในข้อ 2 ทั้งหมด
5. เอกสารของผู้จดทะเบียนแทน
– ต้นฉบับ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวต่างด้าว หรือเอกสารอื่นที่ราชการออกให้
– ต้นฉบับ และสำเนาทะเบียนบ้าน 1 ใบ
– ใบมอบอำนาจจากคนพิการ หรือหนังสือรับรองจากทางราชการ ซึ่งขอได้จากผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายอำเภอ เป็นต้น
– คำสั่งศาลในกรณีที่ศาลสั่งให้คนพิการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือไร้ความสามารถ โดยคำสั่งศาลเรื่องการจัดตั้งผู้ปกครองคนพิการ ในกรณีที่คนพิการไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองคนพิการ
– สมุดประจำตัวคนพิการ
– คนพิการที่จดทะเบียนแล้ว จะได้รับสมุดประจำตัวคนพิการ ซึ่งต้องนำไปแสดงเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อนึ่ง สมุดประจำตัวคนพิการมีอายุ 5 ปี เมื่อหมดกำหนดต้องไปจดทะเบียนใหม่ ถ้าสมุดประจำตัวคนพิการสูญหาย ให้แจ้งความที่สถานีตำรวจ และนำใบแจ้งความไปขอยื่นจดทะเบียนใหม่
ข้อมูล : หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, คนพิการ, ผู้ป่วยเอดส์หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ขึ้นทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) , ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของคนพิการ กระทรวงแรงงาน
ขอขอบคุณข่าวจาก https://news.trueid.net/detail/odxvO864qoDp