“..สำหรับการจ้างงานผู้พิการทางการได้ยิน ขอยืนยันว่าการทำงานกับคนหนวก ผู้พิการทางการได้ยิน สามารถทำงานร่วมกันกับคนปกติในสังคมได้ เพราะคนเราสามารถปรับตัว จูนเข้าหากันได้ แต่อาจจะเกร็ดเล็กๆ ว่าก่อนที่จะพูดคุยสื่อสารกัน อาจจะต้องบอกล่วงหน้าก่อนว่า จะพูดเรื่องอะไร เพื่อที่จะตอบได้ตรงประเด็น..”
‘วันคนพิการแห่งชาติ’ ตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งในปี 2564 นี้ ตรงกับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564
‘คนพิการ’ หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถถูกจำกัดให้ปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันและมีส่วนร่วมทางสังคมได้โดยวิธีทั่วไป เนื่องจากมีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญาและการเรียนรู้ และมีความต้องการจำเป็นพิเศษด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตและมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป
แม้ว่าจะมีข้อจำกัดทางร่างกาย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ศักดิ์ศรี หรือความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งนั้น น้อยกว่าคนปกติแต่อย่างใด
‘คนหูหนวก-หูตึง’ มีจำนวน 391,785 คน คิดเป็น 18.87% ของคนพิการทั้งหมด จัดเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความพิการประเภทที่ 2 ที่มีความพิการทางด้านการได้ยินหรือสื่อความหมาย
อคิน จินา หรือ แซมมี่ ผู้อำนวยการกองประกวด Misster Deaf Gay Thailand ผู้ที่เป็นริเริ่มในการเป็นคนกลางเชื่อมและเป็นกระบอกเสียงให้ระหว่างคนหูดีกับคนหูหนวก กล่าวกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ผู้พิการทางการได้ยิน เป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับปัญหาทางการสื่อสาร ทำให้การใช้ชีวิตใดๆ มักจะช้ากว่าบุคคลทั่วไป เช่นสมมติว่า ในเด็กอายุ 13 ปี คนหูดีจะเรียนอยู่ที่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แต่ในคนหูหนวกจะอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6
อคิน กล่าวด้วยว่า ผู้พิการกลุ่มนี้มักจะโดนตีกรอบจากสังคม และสังคมก็ไม่ค่อยให้โอกาส เช่น บางทีก็ลุกขึ้นหนีเวลาเจอผู้พิการ หรือให้ทำอาชีพดูแลเอกสารเพียงอย่างเดียว ไม่เปิดโอกาสให้เขาได้ทำอาชีพที่อยากจะเป็น 100% ทำให้คนหูหนวกรู้สึกกลัวการแสดงออก ขาดความมั่นใจในตัวเอง และอยู่ร่วมกันเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ขณะเดียวกัน เมื่ออยู่ร่วมกันเฉพาะกลุ่ม ก็มีการตีตรากันเอง แบ่งแยกสำหรับคนที่เป็น LGBT อีกด้วย
จึงเป็นแรงบันดาลใจจุดประกายความคิดนี้ขึ้นมาตั้งแต่ที่ตนได้เข้าประกวดในเวที Mr. Gay World ว่า อยากสร้างเวทีเพื่อยกระดับความสามารถของผู้พิการทางการได้ยิน โดยก่อนหน้านี้ ยังไม่มีโครงการหรือเวทีการประกวดใดที่สนับสนุนผู้พิการทางการได้ยิน ตนจึงได้เริ่มนำเอาเทคโนโลยีมาสอนภาษามือให้กับกลุ่มคนหูหนวกเพื่อให้สามารถใช้สื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่จะพัฒนาการใช้ภาษามือให้คล่องและได้รับการยอมรับจากสังคม เป็นกลุ่มที่มีจำนวนน้อยมาก ตนจึงผันตัวมาเป็นกระบอกเสียงให้บุคคลทั่วไปได้เห็นถึงความเอกลักษณ์ของภาษามือของคนไทย ว่า ภาษามือสามารถใช้ขายของออนไลน์และใช้เป็นไกด์ท่องเที่ยวได้ ซึ่งภาษามือเป็นภาษาสากลที่สามารถสื่อสารให้คนต่างชาติและคนไทยเข้าใจได้
“เราอยากเป็นสะพานเชื่อมต่อให้สังคมไทยได้เห็นว่า ภาษามือนั้นไม่ยาก เพียงแค่เราใช้หัวใจในการสื่อสาร สื่อสารด้วยท่าทางทำมือให้เป็นภาพ ก็สื่อความหมายได้แล้ว ถ้าเราเปิดใจจริงๆ เราคุยกันเพียง 1 ชั่วโมง ก็เข้าใจ ที่สำคัญผู้พิการทางการได้ยินมีความสามารถหลายด้าน ทำกราฟิก ทำกาแฟ หรือทำขนมก็ได้ ไม่เฉพาะแต่ด้านธุรการหรือการทำเอกสาร และเมื่อไรที่เราให้พื้นที่เขา เขาจะทุ่มเทมากเป็น 2 เท่า จึงอยากฝากให้ผู้ประกอบการยอมรับในความสามารถของเขา ขณะเดียวกันก็อยากให้ผู้พิการทางการได้ยินออกมาแสดงศักยภาพด้านต่างๆให้เต็ม 100%” อคิน กล่าว
ณฐกร พูนนาคธนดล หรือ โอ๊ต ประธานชมรม I CAN DO IT กล่าวถึงจุดประสงค์การก่อตั้งชมรมว่า ก่อนหน้าที่จะมีการตั้งชมรม มีเวลาการจัดประกวด Misster Deaf Gay Thailand แล้ว แต่ยังไม่มีพื้นที่ศูนย์รวมในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้กับคนหูหนวก จึงตัดสินใจเปิดชมรม เพื่อให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางการทำงานเชื่อมต่อระหว่างคนหูหนวกกับคนหูดี โดยก่อนที่จะมีการจัดตั้งชม การนัดรวมตัวทำกิจกรรมใช้สถานที่ตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งไม่ได้รับความสะดวก
ณฐกร กล่าวถึงกิจกรรมในชมรม ว่า ชมรมมีการจัดกิจกรรเพื่อเป็นช่องทางส่งเสริมรายได้ให้กับคนหูหนวก เพื่อเป็นรายได้เสริมในการดำรงชีพ เนื่อจากค่าตอบแทนจากการทำงานประจำค่อนข้างน้อยและไม่เพียงพอ โดยทางชมรมจะมีผู้สนับสนับเรื่องผลิตภัณฑ์สินค้า เมื่อขายสินค้าได้ก็จะแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้กับคนหูหนวกที่เป็นสมาชิกชมรม และหักค่าใช้จ่ายบางส่วนสำหรับทำกิจกรรมในชมรม เนื่องจากชมรมไม่มีผู้สนับสนุนในด้านเงินทุน
ส่วนเรื่องปัญหาในการทำงานร่วมกันระหว่างคนหูหนวกและคนหูดี ณฐกร เล่าว่า มีปัญหาในเรื่องการสื่อสารช่วงแรกของการทำงานในชมรม แต่เมื่อได้ทำงานร่วมกันแล้ว จำเป็นจะต้องมีการปรับตัวจูนเข้าหากัน ก็จะรู้ความต้องการของคนหูหนวก รู้ศักยภาพของแต่ละบุคคล ทำให้สามารถจัดสรรงานให้เหมาะสมตามแต่ความถนัด ตามศักยภาพของคนนั้นๆ รวมถึงช่วยเหลือส่งเสริมพัฒนาทักษะ เช่น คนไหนมีความสามารถเรื่องการแสดงออก ก็จะส่งเสริมให้มาไลฟ์สดขายของ บางคนไม่เหมาะ ก็จะจัดสรรให้ทำงานด้านอื่นๆ เช่น ฝ่ายสนับสนุนช่วยเหลือในเวลาเพื่อนไลฟ์สด หรือดูแลเรื่องของคลังสินค้า เป็นต้น สำหรับกลุ่มลูกค้า จะเป็นคนหูหนวกด้วยกันเอง
“ฝากถึงคนปกติในสังคม อยากให้มองถึงเรื่องความอยู่ร่วมกัน อยากให้ทุกคนเปิดโอกาส โลกมันไม่ได้มีแค่คนหูดี ยังมีทั้งคนหูหนวก คนพิการในด้านอื่นๆ ที่เขาลำบากกว่าเราเยอะ อยากขอร้องให้คนในสังคมเห็นใจ อย่างบางคนไปซ้ำเติมเขาว่า คนหูหนวกด้อยกว่า คนปกติดดีกว่า อยากให้ลบชุดความคิดนี้ ลบความสบประมาทออกไป เพราะว่าในสังคมเราอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะหูหนวก หูดี เป็นสิ่งที่เราพยายามจูนปรับ เป็นศูนย์กลางในการทำงานให้กัน” ณฐกร กล่าวทิ้งทาย
ประภัทร กัลยาลอง หรือ ปีย์ Misster Deaf Gay Tourism Thailand 2022 บาริสต้าประจำร้านกาแฟแห่งหนึ่ง เล่าถึงประสบการณ์ชีวิต ว่า ตั้งแต่เล็กจนโต จะมีปัญหาในเรื่องชีวิต คือ ตนเป็นคนหูหนวก เมื่อไปโรงเรียน มักจะเจอแต่คนที่พูดไม่ดี แต่ก็ไม่ได้สนใจ เพราะพ่อแม่คอยบอกอยู่เสมอว่า เราเป็นคนหูหนวก เราก็ต้องอดทน เราก็อดทน ตั้งใจเรียน โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะเรียนให้จบปริญญา จนเมื่อจบการศึกษาที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยการอาชีพนครปฐม
“ตลอดเส้นทางของชีวิตตั้งแต่เล็กจนโต มีแต่คนมองภาพตนในด้านที่ไม่ดี ว่าเป็นคนหูหนวก และเมื่อจบมาจากวิทยาลัย หางานทำอยู่นาน ก็ไม่มีใครรับเข้าทำงาน อาจเป็นเพราะปัญหาด้านการสื่อสาร ต่อมามีโอกาสได้เข้ามาทำงานที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งประมาณ 2 ปี และเปลี่ยนมาทำร้านกาแฟอีกแห่งหนึ่ง 4 ปี แต่ก็ยังพบปัญหาเรื่องการขาย เพราะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารและมีปัญหาเรื่องค่าจ้างที่ไม่พอกับค่าใช้จ่าย” ประภัทร กล่าว
ประภัทร เล่าถึงชีวิตในการทำงานว่า ปัจจุบัน ตนได้ขึ้นเป็นหัวหน้าแล้วและมีพนักงานอยู่ภายใต้การดูแลของตนเอง 4 คน ซึ่งเป็นคนหนวก ตรงนี้ไม่พบปัญหาในการทำงาน แต่ก็ยังพบปัญหากับผู้บริหารระดับเดียวกับตนที่ไม่ใช่ผู้พิการ ในเรื่องความเท่าเทียมกัน คือ ตนมักจะโดนให้ทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่การเก็บแก้วและให้ทำงานเยอะกว่า แม้ว่าจะอยู่ในระดับเดียวกันก็ตาม
ประภัทร กล่าวด้วยว่า ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ตนได้รับผลกระทบจาการถูกลดเงินเดือน จากเดิมที่เคยได้ 12,000 บาท โดยบริษัทอ้างว่า ช่วงนี้ยอดขายไม่ดี ทำให้บางเดือน ต้องลดค่าจ้างไป 200-500 บาทต่อเดือน และตอนนี้ก็ลดเงินเดือนเหลือ 9,000 บาท
“ผมไม่ค่อยมีความสุข เนื่องจากผมอยากจะหางานใหม่ แต่ก็ต้องรอ ต้องทำงานนี้ไปก่อน อดทนไปก่อน เพราะว่าเขาลดเงินเดือนเราแล้ว เขายังไม่ขึ้นให้เราเหมือนเดิมเลย” ประภัทรกล่าว
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ตนก็กำลังพยายามหาเงินสำหรับศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี หลักสูตรเกี่ยวกับการบริหารจัดการคอมพิวเตอร์ต่อ ตอนนี้สมัครเรียนแล้ว เรียนอยู่ปีที่ 3 แล้ว ส่วนเรื่องของการทำงานกระทบกับการเรียนด้วยหรือไม่นั้น ตนไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เนื่องจากมีแผนงานกำหนดไว้ให้ตนเองได้ทราบล่วงหน้า
ประภัทร กล่าวเน้นย้ำว่า สำหรับการจ้างงานผู้พิการทางการได้ยิน ขอยืนยันว่า คนหูหนวก ผู้พิการทางการได้ยิน สามารถทำงานร่วมกันกับคนอื่นๆ คนปกติในสังคมได้ เพราะคนเรามีความสามารถปรับตัว จูนเข้ากากันได้ แต่อาจจะมีเกร็ดเล็กๆ ว่าก่อนที่จะพูดคุยสื่อสารกัน อาจจะต้องบอกล่วงหน้าก่อนว่า จะพูดเรื่องอะไร เพื่อที่จะตอบได้ตรงประเด็น อย่างเช่น ถ้ามีคนสั่งการแฟ เรามีรูปภาพเมนูกาแฟให้ ลูกค้าสามารถชี้เมนูได้
ประภัทร กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากฝากข้อเสนอไปถึงกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) อยากให้ช่วยปรับฐานเงินเดือน ว่าไม่ใช่ดูที่การศึกษาอย่างเดียว อยากให้ดูที่ความสามารถและให้ได้รับเงินเดือนเท่าเทียมกับบุคคลปกติทั่วไป เพราะตอนนี้พบว่าตนเองยังได้ฐานเงินเดือนน้อยกว่าบุคคลปกติที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน พร้อมกันนี้อยากฝากข้อเสนอไปถึงรัฐบาลอีกว่า อยากให้เพิ่มการจ่ายเบี้ยผู้พิการเป็น 1,000 บาท ขณะเดียวกันอยากให้บุคคลทั่วไปไม่เรียกผู้พิการทางการได้ยินว่า ‘คนใบ้’ ด้วย
คมสัน มิ่งเชื้อ หรือ เกลี้ยง รองชนะเลิศอันดับ 2 Misster Deaf Gay Thailand 2021 เชฟขนมหวานในโรงแรมแห่งหนึ่ง เปิดถึงประสบการณ์การทำงาน ว่า ตนมีความฝันว่า อยากทำงาน หาเลี้ยงชีพด้วยตนเองให้ได้ ตนเข้าทำงานที่โรงแรมมาแล้ว 14 ปี รับผิดชอบทำขมปัง และขนมหวาน โดยการทำงาน ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ตนก็สามารถทำได้ แม้ว่าจะต้องใช้ความพยายามมากกว่า ต้องพยายามสังเกตุเพื่อเรียนรู้ จนสามารถทำได้เช่นเดียวกับคนหูดีที่ได้ยิน อาจจะเรียนรู้ได้รวดเร็วกว่า
คมสัน กล่าวถึงอุปสรรคและปัญหาด้านการสื่อสารในการทำงาน ว่า ตนใช้วิธีการเขียนสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานหูดี แต่ก็มีปัญหาเรื่องการสื่อสารที่ไม่ค่อยตรงกัน เข้าใจคลาดเคลื่อนบ้าง เนื่องจากภาษามือกับภาษาเขียน เวลาการสื่อสารนั้น จะเรียงคำสลับกัน เหมือนภาษาอังกฤษกับภาษาไทย ทำให้ตนต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการสื่อสาร แต่โดยรวมก็เข้าใจกันได้
“ส่วนเรื่องเงินเดือน ค่าใช้จ่ายต่างๆ คนหูหนวกก็เหมือนกันกับคนหูดี ได้เงินเดือนเท่ากันในตำแหน่งที่เท่ากัน แต่โดยทั่วไปคนหูหนวกมีปัญหาและอุปสรรค ส่วนคนหูดีมีภาระหน้าที่ที่มากกว่า จึงได้เงินมากกว่าก็เป็นเรื่องปกติ” คมสัน กล่าว
คมสัน เล่าถึงชีวิตการศึกษา ว่า ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตนเรียนร่วมกับหูหนวก หูตึง แต่ในการเรียนนั้น การเรียนแค่ภาษามือ ตนรู้สึกว่ายังไม่เพียงพอ เนื่องจากทักษะภาษาไทยของตนยังไม่ดีขึ้น บางคำก็ไม่รู้ความหมาย เพราะเวลาเรียน ครูจะสอนเฉพาะภาษามือที่ใช้สื่อสารกับนักเรียน ทำให้คนหูหนวกมีคลังศัพท์ค่อนข้างน้อย ต่างจากคนหูดีที่สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ คลังศัพท์ก็จะมากกว่า การสื่อสารก็จะดีกว่า ทำให้ตนรู้สึกว่าตรงนี้คือส่วนที่ขาดไป ทั้งภาษามือและภาษาไทย
คมสัน กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากฝากถึงคนหูหนวกอื่นๆ ว่าให้มีความพยายาม และพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว เพราะบางครั้งเราอาจจะไม่ค่อยได้สื่อสารกับคนหูดี จึงทำให้ต้องใช้ความพยายามและทักษะที่มากขึ้น
กิตติพงษ์ ดีสังข์ หรือ ต้น รองชนะเลิศอันดับ 1 Misster Deaf Gay Thailand 2021 เจ้าหน้าที่การเงินในบริษัทแห่งหนึ่ง เล่าถึงประสบการณ์ความยากลำบากในการหางาน ว่า บริษัทส่วนมาก ไม่ค่อยรับคนพิการด้านการได้ยินการสื่อสารเข้าทำงาน โดยบริษัทส่วนใหญ่จะรับคนพิการด้านอื่นๆ ที่พูดได้ หูดี แต่ถ้าหูหนวก พูดไม่ได้ บริษัทจะปฏิเสธไม่รับเข้าทำงาน แม้ว่าตนจะจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งกว่าตนจะหาบริษัทที่รับคนหูหนวกเข้าทำงานได้นั้น ต้องหาได้ด้วยตนเอง ไม่มีหน่วยงานมาช่วยดูแลเท่าไหร่ โดยตนหางานเองผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก จนสุดท้ายได้ทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง ย่านมีนบุรี ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงิน ดูแลบันทึกรายรับรายจ่าย รวมถึงกำกับดูแลตรวจสอบสินค้า
สำหรับอุปสรรคปัญหาด้านการทำงานร่วมกัน กิตติพงษ์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่มีปัญหาด้านการสื่อสารในการทำงาน เพราะใช้วิธีการสื่อสารผ่านการเขียน แต่ก็มีบางครั้งที่ใช้คำสลับไปบ้าง บางทีก็ใช้บริการโทรคมนาคมสำหรับคนหูหนวก หรือทีดีไอ (Telecommunications for the Deaf and Hard of Hearing : TDI) ที่ช่วยเหลือในการสื่อสาร
ทั้งหมดนี้ คืออีกเสียงสะท้อนของคนกลุ่มเล็กๆ ในสังคม ที่แม้ว่าจะมีความพิการหรือพกพร่องทางการสื่อสาร แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาด้อยกว่าคนอื่นๆ เพียงแค่ขอโอกาส แบ่งปันพื้นที่ให้พวกเขาบ้างก็เท่านั้นเอง
ทั้งนี้ สำหรับผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถใช้โทรสายด่วน 1479 คนพิการประชารัฐ ที่ให้บริการตลอด 24 ชม. หรือรายละเอียดที่ www.1479hotline.org เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนพิการที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยบริจาคเงินได้ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางละมุง ชื่อบัญชี มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เลขที่บัญชี : 342-3-04066-0 นำใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โทร. 0-2572-4042 ต่อ 8100 มือถือ 09-9394-4795
ขอขอบคุณข่าวสารจาก https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/104230-isranews-news-deaf.html