เป็นครั้งแรกที่สวนลุมพินีจัดทำจุดนัดพบ”เพื่อนพาวิ่ง” เพื่อสนับสนุนการออกกำลังกายของคนพิการที่ไม่สามารถวิ่งคนเดียวได้ ทั้งนักวิ่งตาบอด หูหนวก ออทิสติก หรือคนพิการที่ใช้วีลแชร์ เพื่อให้คนพิการมีสุขภาพดี โดยจะมีปุ่มสำหรับกดสัญญาณ เพื่อให้ผู้ที่วิ่งอยู่บริเวณโดยรอบสวนลุมพินีได้ทราบว่า มีคนต้องการเพื่อนพาวิ่ง(Guide Runner) อยู่ตรงจุดนัดพบแห่งนี้ และสามารถพาออกไปวิ่งด้วยกันได้อย่างปลอดภัย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.2564
จุดเริ่มต้นการเปิดจุดนัดพบ”เพื่อนพาวิ่ง” นี้ กรุงเทพมหานครร่วมกับเฟซบุ๊ก วิ่งด้วยกัน โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ตัวแทนนักวิ่งพิการ ทีมนักออกแบบจาก Plan B และหน่วยงาน กทม.ที่เกี่ยวข้อง ออกแบบและพัฒนาจัดทำ จุดนัดพบ “เพื่อนพาวิ่ง” เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้งานจริง โดยแบ่งรูปแบบออกเป็นฟังก์ชันสำหรับเพื่อนรอวิ่ง ประกอบด้วย เบรลล์บล็อก (Braille Block) นำทางจาก MRT สีลม ไปยังจุดนัดพบ “เพื่อนพาวิ่ง” ป้ายนำทางนักวิ่ง ด้านหน้าประตู 4 สวนลุมพินี และจุดนัดพบ “เพื่อนพาวิ่ง” จะมีปุ่มกด เพื่อเรียกอาสาสมัครเพื่อนพาวิ่ง ที่นั่งพักรอเพื่อนพาวิ่ง จุดนั่งพักสำหรับนักวิ่งวิลแชร์ เสียงสำหรับนำทางนักวิ่งตาบอด มายังจุดนัดพบเพื่อนพาวิ่ง หลังคาขนาดกว้างพิเศษเพื่อป้องกันแดดและฝน ราวกั้นกันตก
อีกฟังก์ชันสำหรับเพื่อนพาวิ่ง ได้แก่ เสาไฟแจ้งเตือน เมื่อมีคนต้องการ เพื่อนพาวิ่ง ป้ายประชาสัมพันธ์วิธีการเป็นเพื่อนพาวิ่ง ซึ่งคนที่สนใจเป็นเพื่อนพาวิ่งพานักวิ่งคนพิการไปวิ่งด้วยกันสามารถติดต่อนัดหมายวันเวลาที่สะดวกผ่านกลุ่มเฟซบุ๊ก “วิ่งด้วยกัน” เป็นกลุ่มวิ่งที่มีสมาชิกทั้งคนไม่พิการและคนพิการกว่า 20,000 คน ในเวลานี้ พวกเขาและเธออยากเป็นเพื่อนพาวิ่งให้คนพิการ
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และความเท่าเทียมกันของประชาชน ดังนั้น แบบจุดนัดพบเพื่อนพาวิ่ง ที่สวนลุมพินี จะเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้จริง ตนได้นำเสนอแบบของจุดนัดพบที่จะช่วยให้คนพิการสามารถวิ่งออกกำลังกายเท่าเทีบมกับคนอื่น และได้เปิดรับความคิดเห็น ข้อแนะนำเพิ่ม รวมถึงได้รับข้อแนะนำดีๆ จากชัยพร ภูพารัตน์ ผู้อำนวยการสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาให้จุดนัดพบใช้ประโยชน์ได้สูงสุด อยากให้อดใจรอ แล้วพบจุดนัดพบเพื่อนพาวิ่ง ธ.ค.นี้ แน่นอน
คนพิการมาวิ่งกับคนไม่พิการได้ สะท้อนผ่าน นวคุณ พจน์ชพรกุล ผู้ประสานงานกลุ่มวิ่งด้วยกัน มูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม บอกว่า 7 ปีที่แล้วอยากทำกิจกรรมให้คนตาบอดได้ออกกำลังกาย โดยหาวิธีที่ง่ายที่สุด คือ การวิ่ง ไม่มีกฎกติกา มีรองเท้าวิ่งคู่เดียว ไม่มีค่าใช้จ่ายมาก ชวนคนตาบอดมาวิ่งด้วยกัน และเปิดรับอาสาสมัคร Guide Runner เพื่อนพาวิ่ง เริ่มต้นที่สวนลุมพินีเป็นแห่งแรก ผลตอบรับดีมาก คนพิการชื่นชอบมาก จัดกิจกรรมทุกเดือน จากกิจกรรมเพื่อคนตาบอดขยายมาเป็นคนพิการทุกประเภท กลุ่มอาสาสมัครเติบโตขึ้น จนสร้างชุมชนออนไลน์เพจ”วิ่งด้วยกัน” ไม่พาวิ่งที่สวนลุมแห่งเดียว แต่รวมสวนสาธารณะทั่วไป แล้วแต่คนพิการและคนไม่พิการนัดหมายกัน ขยายไปจัดงานวิ่ง ในต่างหวัด เหนือ อีสาน ใต้
งานวิ่งด้วยกันจะเกิดขึ้นอีกครั้งเช้าวันเสาร์ที่ 4 ธ.ค.นี้ วิ่งฉลองวันคนพิการสากล เป็นงานวิ่งด้วยกันกรุงเทพฯ ครั้งที่ 65 ณ ลานตะวันยิ้ม สวนลุมพินี ที่ประจำ ส่วนงานวิ่งใหญ่ประจำปี ระยะทาง 10 กิโลเมตร คาดว่า จะจัดเดือน มี.ค. ปี 2565 แต่ก็ขึ้นกับสถานการณ์โควิด-19
“ เพื่อนพาวิ่งเริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพ แต่ได้มิตรภาพระหว่างคนพิการและไม่พิการ ใช้เวลาร่วมกันกลายเป็นเพื่อนกัน คนพิการมีเป็นล้าน แต่บางคนไม่เคยมีเพื่อนพิการเลย วิ่งเสร็จ พูดคุยกันชวนไปทำกิจกรรมต่อ นัดวิ่งนักซ้อมโดยไม่ต้องรองานวิ่ง ที่สำคัญคนพิการกล้าใช้พื้นที่ในสังคม เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ได้พบคนพิการวิ่งดีกว่าเรา บางคนพัฒนาไปวิ่งมาราธอน ทัศนคติคนไม่พิการต่อคนพิการเปลี่ยนแปลงไป คนพิการเองรับรู้สังคมเปิดรับ พร้อมช่วยเหลือ แสดงถึงน้ำใจคนไทย “ นวคุณ บอก
สำหรับการเปิดจุดนัดพบเพื่อนพาวิ่ง ผู้ประสานงานกลุ่มวิ่งด้วยกันบอกว่า ทางกลุ่มร่วมเสนอแนะเพื่อพัฒนาจุดนัดพบนี้ เดิมที่สวนลุมมีศาลาจุดพักคอยสำหรับคนพิการ ประกอบด้วยเสาสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ มีอักษรเบรลล์ คนพิการ จะนั่งคอยรอวิ่ง รออาสาสมัครพาวิ่ง อย่างพี่โจ้นักวิ่งตาบอดใช้การถือป้าย เพื่อคนที่สนใจพาวิ่งนำวิ่งให้ แต่บางครั้งไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า ใช้เวลารอเป็นชั่วโมง จุดนัดพบที่จะเปิดบริการน่าจะอำนวยความสะดวกให้ทั้งคนพิการและไม่พิการ เกิดประโยชน์ เราเห็นแบบแล้วรู้สึกพอใจ อยากเห็นของจริงที่สวนลุมแล้ว
“ สวนลุมพินีเป็นพื้นที่เหมาะสมจัดทำจุดนัดพบเพื่อนพาวิ่ง เพราะคนพิการเดินทางสะดวกด้วยบีทีเอส เอ็มอาร์ที รถโดยสารประจำทาง หรือแม้แต่รถยนต์ส่วนตัว ก็มีจุดจอดรถ มีการปรับปรุงทางลาดสำหรับนักวิ่งวีลแชร์มากขึ้น ปกติก็มีนักวิ่งพิการมาทำกิจกรรมที่สวนลุมเป็นประจำ เมื่อมีจุดนัดพบชัดเจนจะเพิ่มโอกาสมากขึ้น มีไกด์รันเนอร์มารอ จะกระตุ้นให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมมากขึ้น “ นวคุณ บอกและอยากให้เพิ่มจุดนัดพบเพื่อนพาวิ่งในสวนสาธารณะทั่วกรุงเทพฯ
ในฐานะตัวแทนมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม บอกด้วยว่า กรุงเทพมหานครยังต้องปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตอย่างสะดวกและปลอดภัยของคนพิการ อยากกระตุ้นให้ทุกเมืองให้ความสำคัญกับสิทธิคนพิการที่เท่าเทียมกัน หากคนพิการออกมาสู่สังคมมากขึ้น จะผลักดันให้ทุกองค์กรจะปลูกสร้างหรือจัดงาน กิจกรรมที่รองรับคนพิการ ระบบขนส่งสาธารณะ จุดเชื่อมต่อเพื่อการเดินทางของคนพิการที่ใช้งานได้จริง ส่งต่อแนวคิดกระจายให้ทั่วสังคมไทย
สำหรับคนที่อยากเป็นไกด์รันเนอร์พาคนพิการวิ่งออกกำลังกาย ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เชื่อว่า หลายคนมีคำถามในใจ นวคุณบอกว่า ถ้าชอบวิ่งก็มาได้แล้ว ไม่ต้องวิ่งเก่ง ทางกลุ่มจะจับคู่กับคนพิการที่วิ่งใกล้เคียงกัน
“ จะอาสาเป็นไกด์รันเนอร์ต้องเปิดใจ นักวิ่งคนตาบอดต้องการแค่คนนำ เราแค่เป็นตาให้คนพิการ หรือวีลแชร์หลายๆ คน ต้องการความช่วยเหลือในช่วงที่ทางไม่สะดวก ส่วนนักวิ่งหูหนวก ใช้ชีวิตได้เหมือนเรา วิ่งได้เหมือนเรา สิ่งที่ต้องปรับเข้าหากัน คือ การสื่อสาร สุดท้ายก็ได้เพื่อนใหม่วิ่งด้วยกัน “ นวคุณ บอก
สำหรับคนที่มีแนวทางต้องการเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงและพัฒนาจุดนัดพบ “เพื่อนพาวิ่ง” สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/earthpongsakornk/posts/644239800319252 เพื่อความสะดวกของผู้ใช้งานจริง ไม่ใช่เป็นศาลานัดพบร้าง
ทั้งนี้ สำหรับผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถใช้โทรสายด่วน 1479 คนพิการประชารัฐ ที่ให้บริการตลอด 24 ชม. หรือรายละเอียดที่ www.1479hotline.org เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนพิการที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยบริจาคเงินได้ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางละมุง ชื่อบัญชี มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เลขที่บัญชี : 342-3-04066-0 นำใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โทร. 0-2572-4042 ต่อ 8100 มือถือ 09-9394-4795
ขอขอบคุณข่าวสารจาก https://www.thaipost.net/human-life-news/35252/