หญิงสาวชาวอังกฤษซึ่งผูกพันกับเมืองไทยเป็นพิเศษ เพราะมีน้องชายบุญธรรมเป็นคนไทยถึง 2 คน เธอใฝ่ฝันอยากให้กรุงเทพฯ ที่เป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 เป็นสังคมที่เผื่อแผ่ความเท่าเทียมให้ผู้พิการทุกคน โดยเริ่มจากการลดอุปสรรคในการเดินทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายผู้พิการในทุก ๆ วัน
อากาศยามเช้าปลอดโปร่ง หญิงร่างเพรียวเดินเข้ามาในร้านกาแฟใกล้สถานีอารีย์ รถไฟฟ้าบีทีเอส ไม่นานนักชายวัยกลางคนก็หมุนล้อวีลแชร์เคลื่อนเข้ามาในร้านอย่างทะมัดทะแมง
“สวัสดีครับคุณฟ้า ขอโทษที่ทำให้รอ” มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการทักทายหญิงสาว
“รอไม่นานค่ะ สั่งกาแฟก่อนได้นะคะ แล้วเราค่อยคุยกัน” สาวฝรั่งผมบลอนด์ตอบด้วยภาษาไทยชัดเจนจนคนในร้านบางคนต้องหันมามอง
ลอเรน เอเวอร์รี อายุ 30 ปี ที่มีชื่นเล่นภาษาไทยว่า “ฟ้า” เดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้นาน 2 สัปดาห์ เพื่อต่อยอดงานวิจัยปริญญาโทในหัวข้อ “การเคลื่อนไหวและขบวนการทางสังคมของผู้พิการไทย: ความเป็นจริงในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานคร”
อาทิตย์แรก เธอตระเวนพูดคุยกับสมาคมผู้พิการต่าง ๆ และวันนี้ มานิตย์เป็นหนึ่งในคนที่เธอรอจะได้ทำความรู้จักและพูดคุยมานานแล้ว เพราะเป็นนักรณรงค์เพื่อสิทธิคนพิการที่มีบทบาทมากที่สุดคนหนึ่งของไทย
มานิตย์ ประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ตอนอายุ 24 ปี ทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่เอวลงมา เขาเปิดเฟซบุ๊ก Accessibility is Freedom โดยมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ตระหนักถึงสิทธิของผู้พิการ สื่อมวลชนเคยตั้งฉายาเขาว่า “มานิตย์ทุบลิฟต์” จากกรณีที่เขาทุบลิฟต์สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอโศก เมื่อต้นปี 2561 เพราะลิฟต์ถูกล็อก ทำให้ผู้พิการขึ้นไปชานชาลาไม่ได้
ความสนใจในปัญหาผู้พิการในไทยของฟ้า มีรากฐานมาจากความรักและความผูกพันกับประเทศไทยซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ตอนที่ครอบครัวของเธอมาเที่ยวเมืองไทยเมื่อราว 20 ปีก่อน
ตอนนัั้นฟ้าอายุ 11 ขวบ พ่อกับแม่พาเธอไปเยี่ยมมูลนิธิคริสเตียนเพื่อเด็กพิการ
“หลังจากนั้นครอบครัวรับเด็กคนไทย 2 คนไปเลี้ยง ฉันเลยมีน้องบุญธรรมคนไทย 2 คน” ฟ้าเล่า
น้องชายบุญธรรมคนเล็กเป็นผู้พิการทางร่างกายและการเรียนรู้ ช่วงแรกครอบครัวเอเวอร์รีเดินทางมาไทยบ่อยครั้งเพื่อเยี่ยมเด็กชาย ก่อนจะพาทั้งสองคนไปอยู่ด้วยที่อังกฤษ
น้องชายคนเล็กนี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ฟ้าสนใจเรื่องผู้พิการ
“ตอนนี้เขาอายุ 18 ปี น่ารักมาก”
ทั้งนี้ สำหรับผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถใช้โทรสายด่วน 1479 คนพิการประชารัฐ ที่ให้บริการตลอด 24 ชม. หรือรายละเอียดที่ www.1479hotline.org เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนพิการที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถช่วยบริจาคเงินได้ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางละมุง ชื่อบัญชี มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เลขที่บัญชี : 342-3-04066-0 นำใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โทร. 0-2572-4042 ต่อ 8106
ขอขอบคุณจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-49095539