สิทธิด้านที่อยู่อาศัย

1. การขอรับเงินค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย 🏠

 สำหรับคนพิการเพื่อความสะดวกโดยอาศัยการออกแบบ การซ่อมแซม การก่อสร้าง การใช้เทคโนโลยี หรือวิธีการอื่นใด เพื่อขจัดอุปสรรค หรือจัดให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตในที่อยู่อาศัยนั้นได้และเหมาะสมกับสภาพความพิการ รวมถึงเพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้ปรับขึ้นอัตราวงเงินใหม่ในการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้คนพิการ (ค่าซ่อมบ้านคนพิการ) เหมาจ่าย 20,000 บาท เป็น ไม่เกิน 40,000 บาท โดยท่านจะได้รับการประเมินราคาในการซ่อมแซมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น 

ประเภทและรายการที่จะขอรับเงินค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพแวดล้อมหรือซ่อมแซม (ต้องมีสภาพที่ไม่มั่นคงแข็งแรง

  1. ห้องน้ำ 
  2. ทางเดินภายในบ้าน 
  3. บันไดติดตั้งราวจับพยุงตัวที่แข็งแรง 
  4. หลังคา / ชานบ้าน 
  5. รายละเอียดอื่นๆ เพื่อให้ที่อยู่อาศัยมีความมั่นคงและปลอดภัย 

คุณสมบัติผู้ขอรับเงินค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้านคนพิการ 

  1. มีบัตรประจำตัวผู้พิการ 
  2. อยู่อาศัยในบ้านเกิน 6 เดือน 
  3. ต้องเป็นที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคงแข็งแรง 
  4. มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะซ่อมแซม 
  5. ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ 

เอกสารหลักฐานการขอรับเงิน 

  1. แบบรายงานการสอบสภาพครอบครัวคนพิการ 
  2. ประมาณการค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพบ้าน 
  3. บัตรประจำตัวคนพิการ 
  4. ภาพถ่ายสภาพบ้านของคนพิการ 

    2.บริการครอบครัวอุปการะคนพิการ 🤝

    ครอบครัวอุปการะคนพิการ คือ บริการให้คนพิการที่ไม่มีผู้ดูแลได้อยู่กับครอบครัว ได้รับการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชน และสังคม รวมทั้งบรรเทาปัญหาของคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแล รอเข้าอยู่ในสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการ โดยการสนับสนุนค่าตอบแทนในการดูแลคนพิการ และค่าใช้จ่ายสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับคนพิการ

    การยื่นขอเป็นครอบครัวอุปการะคนพิการ มีหลักเกณฑ์และคุณสมบัติดังนี้

    ผู้ขออุปการะคนพิการ หมายความว่า ผู้มีความประสงค์จะอุปการะเลี้ยงดูคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแลคนพิการ (ผู้ดูแลคนพิการ หมายถึง บิดา มารดา บุตร สามี ภรรยา ญาติ พี่น้อง หรือบุคคลในครอบครัว) ให้คนพิการได้รับปัจจัยสี่ ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิ การคุ้มครองสวัสดิภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนส่งเสริมให้คนพิการมีคุณธรรม จริยธรรม และเป็นพลเมืองดี

    ครอบครัวอุปการะ หมายความว่า ผู้ขออุปการะคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแลหรือมีแต่ไม่สามารถเลี้ยงดูได้ โดยได้รับการสนับสนุนค่าตอบแทนในการเลี้ยงดูคนพิการ และค่าใช้จ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเฉพาะคนพิการสำหรับการดำรงชีวิต ตามความจำเป็นและเหมาะสม

    คุณสมบัติผู้ขอเป็นครอบครัวอุปการะคนพิการ

    1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเห็นสมควร

    2. มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และที่อยู่นั้นจะต้องถูกสุขลักษณะ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี

    3. มีอุปนิสัยและความประพฤติเหมาะสมที่จะเป็นผู้อุปการะคนพิการที่ไม่มีผู้ดูแล

    4. มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ

    5. มีเวลาในการอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ ให้คนพิการได้รับปัจจัยสี่ ส่งเสริมให้คนพิการมีคุณธรรม จริยธรรม และเป็นพลเมืองดี

    คุณสมบัติของคนพิการ ที่ได้รับการขอเป็นครอบครัวอุปการะคนพิการ

    1. มีบัตรประจำตัวคนพิการ

    2. ไม่มีผู้อุปการะเลี้ยงดูหรือมีแต่ไม่สามารถเลี้ยงดูได้

    3. ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งหรือที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงไม่เหมาะสม

    4. ไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้

    5. ไม่ได้รับความช่วยเหลืออื่นจากรัฐหรือช่วยเหลือแต่ไม่เพียงพอ

    การสนับสนุนค่าใช้จ่ายค่าตอบแทนในการอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ

    1. ค่าตอบแทนในการอุปการะเลี้ยงดูคนพิการเบิกแบบเหมาจ่ายไม่เกิน 3,000 บาท ต่อเดือน/คนพิการหนึ่งคน

    2. ค่าใช้จ่ายเครื่องอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นเฉพาะคนพิการ สำหรับการดำรงชีวิต ให้เบิกจ่ายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 2,000 บาท ต่อเดือน/คนพิการหนึ่งคน

      3.การรับคนพิการเข้าสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการ 🏢

      คนพิการที่ประสบปัญหาทางสังคม ไม่มีที่อยู่อาศัย ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู สามารถเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพในสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการได้

      หลักเกณฑ์ในการรับคนพิการเข้าในสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการ

      • กรณีปกติ

      • ศูนย์บริการคนพิการ โรงพยาบาล เรือนจำ ให้ประสานงานไปยังกองคุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาคนพิการ 
      • เสนอให้อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอนุมัติรับเข้า 
      • สถานคุ้มครองสอบประวัติ ตรวจทรัพย์สิน ตรวจสุขภาพ 
      • ทีมสหวิชาชีพคัดกรองคนพิการเข้าสถานคุ้มครอง 
      • สถานคุ้มครองจะต้องทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดขออนุมัติรับคนพิการ 

      • กรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน (ถูกละเมิด ถูกทารุณกรรม)

      • ศูนย์บริการคนพิการ โรงพยาบาล เรือนจำ ให้ประสานงานไปยังกองคุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาคนพิการ 
      • สถานคุ้มครองละพัฒนาคนพิการดำเนินการเบื้องต้นและให้การคุ้มครองฉุกเฉิน 
      • ให้คนพิการรับเข้าไม่เกิน 15 วัน และดำเนินการด้านเอกสารการตรวจร่างกาย สุขภาพ และให้การช่วยเหลือเบื้องต้น 
      • สถานคุ้มครองฯ แจ้งอย่างเป็นทางการ และนำเข้าระบบปกติ 

      การคุ้มครองและให้บริการ

      1. ประเมินและคัดกรองคนพิการโดยทีมสหวิชาชีพ  

      2. การวางแผนการฟื้นฟูรายบุคคล (IRP/ IEP) 

      3. การบำบัด ฟื้นฟู เเละพัฒนาคุ้มครองคนพิการด้านต่างๆ โดยทีมสหวิชาชีพ ได้แก่

      • นักสังคมสงเคราะห์: ตรวจสอบสิทธิ นำพาเข้าถึงระบบบริการพื้นฐาน เตรียมครอบครัว
      • นักกายภาพบำบัด: ประเมินและฟื้นฟูทักษะการเคลื่อนไหว การทรงตัว การจัดปรับอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ 
      • นักจิตวิทยา: ประเมินสภาพจิต ให้คำปรึกษาจัดกิจกรรมกลุ่มบำบัด
      • นักส่งเสริมพัฒนาการ: จัดการศึกษาที่เหมาะสม จัดกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาตามโปรแกรมและส่งเสริมการศึกษา 
      • พี่เลี้ยง: ฝึกกิจวัตรประจำวัน (ADL) กีฬา นันทนาการตามความสนใจ

      4. การติดตามประเมินผลทุก 6 เดือน และปรับแผนการฟื้นฟูรายบุคคล IRP/IEP

      5. จัดเตรียมทักษะสังคมก่อนส่งกลับ

      การส่งต่อคนพิการออกนอกสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการ

      • กลับครอบครัวเดิม
      • เข้าทำงาน ในสถานคุ้มครองๆ หรือในสถานประกอบการ
      • อยู่กับครอบครัวทดแทน

      กระบวนการเตรียมความพร้อมคนพิการ

      • ทักษะการทำงาน
      • ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
      • ทักษะชีวิต : การใช้เงิน กด ATM การเลือกคู่ครอง

      การเตรียมความพร้อมสถานประกอบการ

      • การทดลองงาน/การติดตามเฝ้าระวัง

      6. การจำหน่ายออก (เมื่อมีความพร้อม : อยู่กับครอบครัวได้ / มีงานทำและอยู่ได้ด้วยตนเอง / แต่งงานสร้างครอบครัวใหม่)

      สถานที่ติดต่อ

      กรุงเทพมหานคร : กองคุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาคนพิการ สถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานคร สายด่วน 1300

      ต่างจังหวัด : ศูนย์บริการคนพิการประจำจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด

        สอบถามเพิ่มเติมที่ สายด่วนคนพิการ โทร 1479

        ใส่ความเห็น

        อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *