1. บริการเก้าอี้ล้อเข็นจากสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย
วีลแชร์ มี 2 ประเภท คือ วีลแชร์ระบบใช้มือ และ วีลแชร์ไฟฟ้า โดยวีลแชร์ระบบใช้มือจะต้องใช้มือหมุนล้อเพื่อให้วีลแชร์มีการเคลื่อนตัว ทั้งนี้ราคาของวีลแชร์ประเภทนี้จะมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับวีลแชร์ไฟฟ้า ในขณะที่วีลแชร์ไฟฟ้ามีข้อดีคือผู้ใช้งานสามารถบังคับวีลแชร์ให้เคลื่อนตัวง่ายด้วยการกดปุ่ม โดยไม่ต้องออกแรงแต่อย่างใด
เอกสารที่ใช้ขอรถวีลแชร์
1. สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมเซ็นรับรองสำเนา
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมเซ็นรับรองสำเนา
3. สำเนาสมุดประจำตัวคนพิการ พร้อมเซ็นรับรองสำเนา
4. รูปถ่ายเต็มตัวเห็นสภาพความพิการชัดเจน 1 รูป
5. ให้ระบุที่อยู่ที่ติดต่อได้สะดวก พร้อมเบอร์โทรศัพท์ (ถ้ามี)
ติดต่อที่
สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย
73/7-8 ซอยติวานนท์ 8 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000
โทรศัพท์ 0-2951-0445, 0-2584-3993, 0-2951-0447 โทรสาร 0-2951-0567 หรือ
สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหว
802/410 หมู่ 12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย 10/4ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130
โทรศัพท์ 0-1735-2316, 0-1372-4201 โทรสาร 0-2990-0331
2. อุปกรณ์พ่วงขับเคลื่อนวีลแชร์ (หัวลาก)
หัวลากรถเข็นเพื่อคนพิการ เป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยเหลือผู้พิการ ใช้กับรถเข็น เพื่อให้เดินทางได้เร็วกว่าและไกลกว่า ชาร์จไฟฟ้าครั้งเดียวไปได้กว่า 30 กิโลเมตร ด้วยกำลังมอเตอร์ 350W ล้อหน้า12 นิ้วพร้อมดิสเบรคคู่และระบบตัดไฟฟ้าเมื่อเบรคอัตโนมัติ มีระบบเบรค 2 จังหวะ ใช้งานคล้ายเบรคมือในรถยนต์ แผงแสดงผลแบบ LED บอกระดับแบตเตอรี่ ความเร็ว ระยะทาง เวลา ระดับเกียร์ เดินหน้า 3 ถอยหลัง1 จังหวะ มาพร้อมแบตเตอรี่ 36V 13Ah. Lithum ion เบาทนแรง ไฟหน้า Led พร้อมแตร การเชื่อมต่อและแยกตัวรถใช้เวลาไม่ถึงนาที น้ำหนัก 23 กิโลกรัม รับประกัน1ปีเต็ม
ติดต่อที่
ศูนย์บริการวีลแชร์และสกู๊ตเตอร์
ซอยสหกรณ์ 5 ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120
โทรศัพท์ 095-491-6444, 095-563-5152
3. บริการรถวีลแชร์จากกองทุนความปลอดภัยทางถนน (กปถ.)
กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) โดยกรมการขนส่งทางบกนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการประมูลหมายเลขทะเบียนรถเลขสวยมาจัดสรรเป็นค่าอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการที่ประสบภัยจากการใช้รถใช้ถนน และฟื้นฟูเยียวยาให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตนเองได้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันและทำงานได้อย่างมีศักยภาพด้วยอุปกรณ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีความเหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้พิการมากที่สุด และผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้พิการได้รับประโยชน์สูงสุด เช่น เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ เตียง ขาเทียม แขนเทียม โลหะดามขา รถสามล้อโยก รถเข็น และรถเข็นไฟฟ้า เป็นต้น
คนพิการต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
1. ต้องเป็นผู้พิการ ที่ประสบภัยจากการใช้รถใช้ถนน
2. ต้องเป็นผู้พิการที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนหรือหน่วยงานอื่น
3. ต้องเป็นผู้พิการที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนหรือหน่วยงานอื่นมาแล้ว เกินกว่า 3 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ เว้นแต่เป็นอุปกรณ์คนละประเภทกับที่เคยได้รับความช่วยเหลือ
4. เป็นผู้ไม่เคยฝ่าฝืนเงื่อนไขของกรมการขนส่งทางบกเกี่ยวกับการจัดสรรเงินเป็นค่าอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ
ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
• ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานแสดงตนอื่นใดที่ทางราชการออกให้
• ภาพถ่ายบัตรประจำตัวผู้พิการ (ถ้ามี)
• รูปถ่ายของผู้พิการที่แสดงให้เห็นถึงความพิการอย่างชัดเจนในลักษณะที่แตกต่างกัน ขนาดไม่น้อยกว่า 3×5 นิ้ว และมีอายุไม่เกิน 3 เดือน อย่างน้อย 3 รูป
• ในกรณีที่ผู้พิการมีอุปกรณ์ช่วยเหลืออยู่แล้ว ให้แนบรูปถ่ายอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ขนาดไม่น้อยกว่า 3×5 นิ้ว อย่างน้อยจำนวน 1 รูป
• กรณีขออุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการเป็นรถนั่งไฟฟ้า ต้องแนบรูปถ่ายสภาพพื้นที่บริเวณที่พักอาศัย หรือบ้านพักโดยรอบขนาดไม่น้อยกว่า 3×5 นิ้ว อย่างน้อยจำนวน 2 รูป มาด้วย
• ประวัติทางการแพทย์จากทะเบียนผู้ป่วย (OPD Card) หรือหลักฐานที่ราชการออกให้ หรือหลักฐานได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย หรือ กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยที่สามารถยืนยัน หรือบ่งบอกได้ว่าความพิการนั้นเกิดจากอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนน
ขั้นตอนยื่นคำขอ
1. ขอรับแบบคำขอได้ที่ www.dlt.go.th หรือ www.roadsafefund.com และกรมการขนส่งทางบก
2. กรอกข้อมูลในแบบคำขอให้ละเอียดครบถ้วนถูกต้องทุกส่วนพร้อมแนบหลักฐานประกอบ
ช่องทางยื่นคำขอ
– ผู้พิการที่ขอรับอุปกรณ์ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดโดยในกรุงเทพมหานครให้ยื่น ณ สำนักงานมาตรฐานงานทะเบียนและภาษีรถหรือในจังหวัดอื่น
– นอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่ผู้พิการมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ พร้อมด้วยเอกสารหลักฐาน
สอบถามเพิ่มเติมที่ สายด่วนคนพิการ โทร 1479