‘เงินกู้ประกอบอาชีพคนพิการ’ หากค้างชำระหนี้ กลับมาเข้าระบบเพื่อรักษาสิทธิได้

ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยมีนโยบายให้เงินกู้แก่คนพิการที่มีความสามารถในการประกอบอาชีพ (หรือให้สิทธิผู้ดูแลคนพิการ) ที่ขาดแคลนเงินหรือเงินทุนไม่เพียงพอ เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพแก่คนพิการให้สามารถเลี้ยงตัวเอง ลดภาระบุคคลอื่น และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขอย่างคนทั่วไป

โครงการเงินกู้คนพิการนี้เริ่มแรกนำเงินจาก ‘กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ’ โดยให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการกู้รายละไม่เกิน 20,000 บาท ต่อมาเปลี่ยนมาใช้เงินมาจาก ‘กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ’ ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 23 เพื่อเป็นทุน สำหรับการใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนาสมรรถภาพคนพิการ การศึกษาและการ ประกอบอาชีพของคนพิการ รวมทั้งการส่งเสริมและการสนับสนุนการดำเนินงานของ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ โดยจัดสรรให้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึงและเพิ่มวงเงินเป็น 40,000 บาท ต่อมาในปี 2559 ที่ผ่านมา กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้อนุมัติเพิ่มวงเงินกู้ยืมเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จากเดิม 40,000 บาท เป็น 60,000 บาทต่อคน และมีการพิจารณาเป็นพิเศษให้รายบุคคลรายละ 120,000 บาท รวมทั้งพิจารณาให้คนพิการที่รวมกลุ่มกันกู้ยืมได้เพดานสูงสุดที่ 1,000,000 บาทต่อกลุ่ม โดยไม่เสียดอกเบี้ย

โดยตั้งแต่เริ่มโครงการกู้ยืมเมื่อปี 2538 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีผู้กู้ยืมกองทุนจำนวนทั้งสิ้น 133,419 ราย เป็นเงิน 3,596,486,368.50 บาท (ข้อมูล ณ ก.ค. 2560)

การกู้ยืมเงินโดยคนพิการเพื่อนำไปประกอบอาชีพ ยังพบกับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ดังนี้

ผลักภาระให้คนพิการหรือไม่ในอดีตเมื่อเกิดกองทุนนี้ใหม่ ๆ ภาครัฐเหมือนต้องการที่จะให้คนพิการกู้ยืมจากกองทุนนี้โดยไม่คำนึงถึงศักยภาพและอุปสรรคในการประกอบอาชีพของคนพิการ ให้แต่เงินทุนแต่ไม่ให้ความรู้และช่องทางการทำการตลาด พบว่าในแรกเริ่มจึงมีผู้ผิดชำระหนี้ในสัดส่วนที่สูงมาก

กองทุนขาดสภาพคล่อง ตัวอย่างเมื่อปี 2549 สำนักส่งเสริมและพิทักษ์คนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ข้อมูลว่า จากปัญหากองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ซึ่งเป็นแหล่งให้กู้ยืมเงินของคนพิการในการประกอบอาชีพ เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องตั้งแต่ปี 2548 เงินให้กู้ยืมหมุนไม่ทัน ในครั้งนั้นปัญหาขาดสภาพคล่องกองทุนฯ เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีความต้องการมาก โดยเฉพาะจังหวัดห่างไกลในชนบท คนพิการเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อย และนิยมมากู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพอิสระวงเงินไม่เกิน 40,000 บาท ขณะที่มีผู้ก็ยืมเงินไปแล้วไม่ยอมชำระกลายเป็นหนี้สูญร้อยละ 3 ดังนั้น คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนจึงเริ่มที่จะเร่งรัดการชำระหนี้มากขึ้น รวมทั้งมีการจำกัดเพดานการกู้ยืมของแต่ละจังหวัดด้วย

หาคนค้ำประกันยาก ผู้ค้ำประกันตามระเบียบของการกู้ยืมเงินนี้นั้นระบุว่าเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือได้ ไม่อนุญาตให้ญาติสายตรงเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งบุคคลที่น่าเชื่อถือได้นั้นต้องเป็นข้าราชการหรือพนักงานบริษัทที่มีใบรับรองเงินเดือนเท่านั้น ซึ่งสร้างอุปสรรคให้กับคนพิการในชนบทที่ไม่มีคนรู้จักเป็นข้าราชการหรือพนักงานบริษัทที่มีใบรับรองเงินเดือน

ช่องทางการชำระเงิน ในอดีตนั้นลูกหนี้กองทุนฯ ไม่ได้ชำระเงินกู้ยืมคืนอย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะความไม่สะดวกในการเดินทางไปชำระเงินด้วยตนเองที่สำนักการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เท่านั้น ต่อมาจึงได้มีการเพิ่มช่องทางการชำระทางธนาณัติ, ชำระผ่านธนาคารกรุงไทยด้วยระบบบาร์โค้ด และหักจากเงินฝากบัญชีธนาคารกรุงไทย ล่าสุดในปี 2556 จึงเพิ่มช่องทางในการชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุน ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ทั้งร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น และห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ

เจ้าหน้าที่ทุจริต ตัวอย่างเช่นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือเมื่อหลายปีก่อน เคยมีเหตุอดีตเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสำนักงานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของจังหวัดทุจริตเงินที่คนพิการมาชำระหนี้ ทำให้คนพิการหลายคนต้องเสียสิทธิในการกู้เงินในครั้งต่อมาไม่ว่าจะเป็นการไม่สามารถกู้ต่อได้ การกู้ได้ไม่เต็มจำนวน หรือการอนุมัติล่าช้า เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันอดีตเจ้าหน้าที่คนนี้กำลังถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย รวมทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาให้คนพิการที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของอดีตเจ้าหน้าที่คนนี้อยู่

มีอาชีพให้ทำไม่มากนัก ท้ายสุดอาชีพสำหรับคนพิการอาจจะมีไม่มากนัก ซึ่งอุปสรรคเกิดทั้งจากตัวคนพิการเองอย่างงานงานศึกษาของ สุดา นุ่มพุ่ม (2549) เรื่อง ‘ความมั่นคงในอาชีพและรายได้ของคนพิการที่ผ่านการอบรมหลักสูตรคอมพิวเตอร์ ของมูลนิธิพัฒนาและส่งเสริมคนพิการ’ พบว่าคนพิการที่มีความพิการภายหลังจะปรับตัวได้ยากกว่าคนพิการที่มีความบกพร่องมาแต่กำเนิด และมองว่าการที่คนพิการมีเจตคติในทางลบต่อตนเอง อ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจ ขาดทักษะทางสังคมไม่มีความอดทนในการทำงานย่อมเป็นอุปสรรคในการทำงานของคนพิการได้ นอกจากนี้ยังพบว่า คนพิการโดยส่วนมากตระหนักในคุณค่าของอาชีพและปรารถนาที่จะมีงานทำ แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความพร้อมที่จะประกอบอาชีพในสังคมได้ หรือทัศนะคติของสังคมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ไม่เอื้อให้คนพิการประกอบอาชีพที่หลากหลายได้ ส่วนใหญ่พบว่าคนพิการกู้ยืมเงินจากกองทุนไปประกอบอาชีพเช่น การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดร้านขายของชำ ทำงานหัตถกรรม หรือเป็นช่างซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ เท่านั้น

กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ จำกัดสิทธิคนพิการ เช่น จำกัดสิทธิคนพิการไม่ให้ประกอบอาชีพบางอย่างทั้งที่เป็นอาชีพอิสระ เช่น ห้ามคนพิการได้รับใบประกอบโรคศิลป์แผนโบราณ ห้ามคนพิการเป็นนายหน้าขายประกันชีวิต เป็นต้น

คนพิการจำนวนมากยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือมีบัตรประจำตัวคนพิการ ปัญหาที่คนพิการจำนวนมากยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน และยังไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการ อาจมาจากภาครัฐขาดการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มคนพิการทราบถึงสิทธิ และหน้าที่ที่คนพิการจะได้รับจากการมีบัตร หรือขั้นตอนต่าง ๆ ยุ่งยากสำหรับคนพิการบางประเภทที่ไม่สะดวกกับการเดินทาง เป็นต้น ซึ่งการไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็ทำให้คนพิการเหล่านี้เสียสิทธิในการกู้ยืมเงินจากกองทุน

ค้างชำระหนี้ไปนาน กลับมาเข้าระบบเพื่อรักษาสิทธิได้ หากเบี้ยวหนี้จริงก็ยังถูกส่งฟ้อง

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ เดือน ก.ค. 2559 พบว่า ปัจจุบันมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ระหว่างการชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย และจะมีผู้ใช้บริการกู้ยืมจากกองทุนฯ เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 10,000 ราย แต่กระนั้นก็ยังมีผู้กู้ยืมจากกองทุนฯ ติดค้างการชำระหนี้อยู่จำนวนหนึ่ง

ที่ผ่านมา ศูนย์บริการคนพิการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงใหม่ ได้จัดการประชุมโครงการเสริมพลังผู้ใช้บริการกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงใหม่ และได้ให้ข้อมูลแก่คนพิการที่เข้าร่วมประชุมว่า ปัจจุบันยังมีคนพิการจำนวนหนึ่งที่เคยกู้ยืมเงินกองทุนฯ ไปแต่ไม่ได้ทำการชำระหนี้ต่อเนื่องและขาดการติดต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิดจากอุปสรรคในอดีตทั้งการชำระเงินคืน หรือการส่งเสริมองค์ความรู้ให้คนพิการประกอบอาชีพยังไม่ดีและไม่เพียงพอมากนักเหมือนในปัจจุบัน คนพิการที่ผิดชำระหนี้เหล่านี้หลายคนถึงกับไม่ยอมไปแสดงตนเพื่อต่ออายุบัตรคนพิการจึงทำให้เสียสิทธิต่าง ๆ เนื่องจากความกลัว ทั้งนี้ในปัจจุบันทางศูนย์บริการคนพิการฯ อยากให้คนพิการที่ผิดชำระหนี้ในอดีตมาติดต่อพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันในการชำระหนี้ กลับมาเข้าระบบเพื่อรักษาสิทธิต่าง ๆ ที่คนพิการควรได้รับ

นอกจากนี้ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่าในส่วนของการดำเนินการติดตามลูกหนี้เงินกู้ยืมกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนั้น จะมีการติดตามลูกหนี้ทั้งลูกหนี้ NPL และลูกหนี้ที่ค้างชำระค่างวด ใช้วิธีทั้งการส่งจดหมายทวง ลงพื้นที่ติดตาม มีการจัดประชุมแจ้งลูกหนี้ให้รับสภาพหนี้ ชำระบางส่วน ตัดเป็นหนี้สูญ และจะมีการดำเนินคดีฟ้องร้องกับลูกหนี้ที่ไม่ชำระหนี้ในอนาคตอีกด้วย

 

ขอบคุณ: https://thisable.me/content/2017/08/253

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *