การดำรงชีวิต : การสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม และการเคลื่อนไหวสำหรับคนตาบอด (Orientation and Mobility)
การฝึกทักษะ การสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม และการเคลื่อนไหวสำหรับคนตาบอด ( Orientation and Mobility หรือ O&M )คือหัวใจหรือสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของคนพิการทางการเห็น เพื่อให้สามารถช่วยตนเองและดำรงชีวิตอิสระด้วยตนเอง[1]
- ความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม(Orientation) คือความสามารถที่จะรู้ว่าตนเองอยู่ที่ใดในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ
- การเคลื่อนไหว(Mobility) คือความสามารถที่จะเคลื่อนไหวจากสถานที่แห่งหนึ่ง ไปยังสถานที่ต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมได้อย่างปลอดภัยรวดเร็วและสง่างาม
วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล[2] ได้กล่าวว่า O&M เป็นตัวย่อของ Orientation and Mobility : ซึ่งเป็นวิชาที่สำคัญที่สุด และจำเป็นมากสำหรับคนตาบอดที่จำเป็นจะต้องเรียน มีความหมายว่า “การทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว” เป็นวิชาที่สอนให้คนตาบอดรู้จักใช้ประสาทสัมผัสที่เขามีอยู่ ได้แก่ สายตาบางส่วน การฟังเสียง การสัมผัส การดมกลิ่น การชิมรส และประสบการณ์เดิม โดยเฉพาะการฝึกเดินด้วยไม้เท้าขาว ไปยังสถานที่ต่างๆที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ สง่างาม และปลอดภัยได้ด้วยตนเอง เพื่อทำให้เขาทราบว่า
1) ตัวเขาอยู่ที่ไหน
2) สถานที่และสิ่งต่างๆ รอบตัวเขามีอะไรบ้าง
3) สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขามีความสัมพันธ์กันอย่างไร
4) ตัวเขากับสิ่งแวดล้อมสัมพันธ์กันอย่างไร
การฝึก O&M [3] เพื่อให้คนพิการทางการเห็น สามารถไปไหนมาไหนได้ รู้สภาพแวดล้อมในที่ต่างๆ คือ รู้ว่าขณะนี้อยู่ที่ไหน ต้องการจะไปที่ไหนและจะไปได้อย่างไร ต้องมีการฝึกฝนทักษะต่างๆ เป็นขั้นตอน โดยทั่วไปการนำทางสามารถทำได้โดย
1) การใช้คนนำทาง เป็นวิธีที่ปลอดภัยได้ผลดี แต่ต้องอาศัยการพึ่งพาผู้อื่น จึงควรใช้ในระยะแรก เพื่อฝึกทักษะอื่นๆ ต่อไป
2) ผู้นำทางงอแขนแนบลำตัว ให้ผู้ตามจับที่เหนือข้อศอกเล็กน้อย ยืนหลังจากผู้นำทางประมาณครึ่งก้าว เวลาผู้นำทางเดินให้เดินนำประมาณ ๑ ก้าว และเมื่อถึงทางแคบ ประตู หรือที่คนพลุกพล่านให้ดันข้อศอกไปข้างหลัง เพื่อเตือนผู้ตามให้ระวัง ระหว่างนำทางควรบอกสภาพแวดล้อมไปด้วย โดยใช้คำพูดที่ชัดเจน สื่อความหมายได้ดี และเมื่อจะปล่อยผู้ตามไว้ตามลำพังควรจัดให้อยู่ที่ติดกับเก้าอี้ ผนังหรือสิ่งแวดล้อมอื่น
3) การใช้ไม้เท้า เป็นวิธีที่ทำได้ไม่ยาก ไม่สิ้นเปลือง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งของและทางเดินด้านหน้าได้เฉพาะที่อยู่กับพื้น แต่สิ่งที่สูงลอยขึ้นมาจะไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม้เท้าที่ใช้ควรมีพื้นหนังเบา ความยาวพอเหมาะประมาณพื้นถึงหน้าอก โดยทั่วไปจะใช้สีขาวเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของคนพิการทางสายตา
4) การใช้สุนัขนำทาง มีคนใช้วิธีนี้น้อย เพราะต้องมีการฝึกฝนรวมกันทั้งคนและสุนัข ผู้ที่ใช้วิธีนี้ได้กำหนดให้มีอายุ 18 – 60 ปี และมีสุขภาพดี การได้ยินปกติ และต้องตาบอดสนิทแล้ว เพราะจะต้องมีความสามารถเพียงพอที่จะดูแลสุนัขเองได้ สุนัขที่นำมาฝึกนำทางได้นั้นจะเลือกพันธุ์ที่ฉลาด ขนสั้น ได้แก่ German shepherd, Golden retriever Labrador retriever และ boxer เพื่อให้ดูแลง่าย
5) การใช้เครื่องมือทางอีเล็คทรอนิก เช่น คลื่นเสียง หรือ LASER เพื่อช่วยให้รู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมดีขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่ระดับเหนือพื้นขึ้นมา เมื่อใช้ร่วมกับไม้เท้านำทางจะทำให้สามารถระวังตัวได้ดียิ่งขึ้น
ขอบคุณ: http://202.151.176.107:8080/public/health.do