เอาใจนายกฯ ออกระเบียบให้ช่างภาพ สื่อมวลชนทำความเคารพก่อนและหลังในการถ่ายภาพ ห้ามห้อมล้อมและอยู่ห่าง 5 เมตร เพื่อไม่ให้กีดขวางทาง ของนายกรัฐมนตรี
– ออกระเบียบช่างภาพ ห้ามเข้าใกล้นายกฯ / ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)ว่า เมื่อเวลา 09.30 น.นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Social Expo 2018 ที่ฮอลล์ 5 – 7 อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี
ทั้งนี้ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาถึงเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของอิมแพค เมืองทองธานีได้ทำตามตรวจ(สกรีน)บุคคลที่จะเข้าร่วมงานอย่างบะเอียดเข้มงวด โดยทุกคนจะต้องเดินผ่านเครื่องสแกนวัตถุต้องสงสัย รวมทั้งต้องลงทะเบียนติดบัตรและติดสติ๊กเกอร์เพื่อแสดงว่าผ่านการตรวจเรียบร้อยแล้วทุกคน กระเป๋าแบะวัตถุแปลกปลอมจะต้องแสดงกับเจ้าหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า และวันเดียวกันนี้ (3 ส.ค.) เป็นที่น่าสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ได้มีความเข้มงวดกับสื่อมวลชนและช่างภาพที่จะเข้าปฎิบัติหน้าที่ภายในบริเวณงาน และเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่จากกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 จัดทำใบลงทะเบียนสำหรับช่างภาพสื่อมวลชนโดยให้มีการลงชื่อ สังกัด และเบอร์โทรศัพท์อย่างชัดเจน มีการจดเลขที่ไอดีการ์ดบัตรประชาชน
ซึ่งข้อกำหนดมีเนื้อหาดังนี้ มารยาทในการถ่ายภาพของช่างภาพสื่อมวลชน 1.ต้องอยู่ในลักษณะเคารพต่อนายกรัฐมนตรีและแสดงความเคารพทั้งก่อนและหลังถ่ายภาพ 2. การแต่งกายที่สุภาพบุรุษชุดสูทสากล สุภาพสตรีชุดกระโปรง รองเท้าหุ้มส้น
3.กล้องที่จะนำมาบันทึกภาพต้องผ่านการตรวจและติดแท็กที่ได้รับอนุญาตจากตำรวจสันติบาล 4. จะอนุญาตให้เฉพาะช่างภาพที่ลงทะเบียนและติดต่อแผนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น 5.ไม่แสดงกริยาวาจาหรือมารยาทอันไม่สมควร
6.ในการถ่ายภาพควรอยู่ห่างจากนายกรัฐมนตรี 5 เมตรเป็นอย่างน้อย 7. ไม่ควรเบียดเสียดกันถ่ายภาพหรือถ่ายภาพลักษณะยืนขำศรีษะผู้อื่นหรือยื่นกล้องถ่ายภาพในลักษณะถ่ายภาพข้ามท่าน
สำหรับข้อควรปฎิบัติในการบันทึกภาพ 1.ต้องไม่ถ่ายภาพตรงหน้า ขณะที่นายกรัฐมนตรีอยู่ในห้องรับรอง 2.ห้ามถ่ายภาพขณะเดินขึ้นหรือลงจากที่สูงเช่นบันได ฯล 3.ห้ามถ่ายภาพขณะรับประทานอาหาร 4.ห้ามออกนอกสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ วิ่งตัดหน้า วิ่งลุกลนหรือห้อมล้อมกีดขวางทางเดิน
5.ให้บันทึกได้ในจุดหรือสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ได้จัดไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม 6.การใช้ไฟฉายใช้ได้ในทุกโอกาส แต่การถ่ายไฟไม่ควรเกิน 1,500 วัตต์และควรอยู่ห่างจากห้องรับรอง 7.หากฝ่าฝืนมารยาทข้อควรปฏิบัติหรือไม่เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จะถูกริบปลอกแขนและห้ามบันทึกภาพ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุด JAKARTA POST สื่อหลักอินโดนีเซียตีพิมพ์บทความแนะ อย่าให้ผู้นำเผด็จการทหารไทยนั่งเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า
โดยมีเนื้อหาของบทความระบุว่า “การรัฐประหาร (junta)ของไทยไม่คู่ควรกับตำแหน่งท่ามกลางคลื่นที่แข็งแกร่งของความประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ ( democratization) ประเทศไทยสมควรได้รับสิทธิ์ในการนั่งเก้าอี้ประธานอาเซียน แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้การรัฐประหาร( junta)
และก่อนที่จะนั่งเก้าอี้ประธานอาเซียนในปีหน้าพล.อ.ประยุทธ์ ควรเติมเต็มความมุ่งมั่นของเขาในการเลือกตั้งฟรีและประชาธิปไตย ถ้าเขาไม่ทำอย่างนั้นเขาไม่ควรนั่งเก้าอี้ในปีหน้า” น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ประกาศที่จะไม่ตอบโต้และพูดประเด็นการเมืองในช่วงนี้ และคาดว่า จะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เจ้าหน้าที่เข้มงวดกับการทำงานของช่างภาพและสื่อมวลชน
ขอบคุณ: https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_1400601