เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา จัดสัมมนา “มิติใหม่ทรัพย์สินทางปัญญา : ประเทศไทยกับก้าวต่อไปของกฎหมายลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …(ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับคนพิการ) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าจะพิจารณาเห็นชอบในเร็ว ๆ นี้
ซึ่งหลังจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยก็จะทำหนังสือเพื่อขอเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty 1996 : WCT หรือภาคีสนธิสัญญามาร์ราเคช) ซึ่งจะมีผลให้ผู้พิการ เจ้าของลิขสิทธิ์ ผลงานต่าง ๆ หรือองค์กรได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายต่อไป
นายดิเรก บุญแท้ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมได้เปิดรับฟังความเห็น ประกอบการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นการแก้ไขข้อ “ยกเว้น” การละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามาร์ราเคช หลังจากที่ สนช.มีมติให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 ซึ่งจะทำให้ให้คนพิการมีโอกาสเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ตามความจำเป็นและตามประเภทของการพิการ
ด้าน นายมณเฑียร บุญตัน ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …(ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับคนพิการ) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อทางเลือกที่เหมาะกับผู้พิการในประเทศไทยมีน้อย เช่น สื่อภาพยนตร์ บันเทิง จากการศึกษาเมื่อเทียบต่างประเทศส่วนใหญ่จะมาจากสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก และผู้พิการที่เข้าถึงสื่อทางเลือกได้เช่น ผู้พิการทางสายตา ไม่ได้ยิน ส่วนผู้พิการด้านอื่น เช่น การเคลื่อนไหว การเรียนรู้ ยังเข้าไม่ถึง ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงปรับปรุงเพื่อให้เข้าถึงสื่อทางเลือกและการเข้าถึงของผู้พิการ ทางภาคีสนธิสัญญามาร์ราเคชยังเปิดกว้างด้านกฎหมายให้ประเทศที่เข้าเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้พิการได้ เช่น ความพิการ การนำเข้าสื่อทางเลือกจากต่างประเทศ การเผยแพร่ ทำซ้ำ ดัดแปลง ที่อยู่ภายใต้กฎหมาย หากไม่ได้ทำเพื่อรายได้หรือผลกำไร ซึ่งจะกำหนดว่า ใคร บุคคลไหน องค์กร หรือสมาคมใด ที่ดำเนินการได้
ขณะที่ น.ส.นุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ กรมได้ศึกษาจากต่างประเทศ เช่น แคนาดา เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ที่มีกฎหมายลักษณะนี้ ซึ่งทุกประเทศสามารถเพิ่มเติมรายละเอียดเพื่อการเข้าถึงสื่อทางเลือกของผู้พิการและให้สอดคล้องความเป็นจริงและการเข้าเป็นภาคี ดังนั้นประเทศไทยได้ศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน แต่สำหรับข้อกังวลจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลักภาระให้ผู้ประกอบการ เจ้าของสิทธิ์ การทำสื่อทางเลือกพร้อมกัน การใช้ช่องโหว่ของกฎหมายในการละเมิด การไม่ต้องขออนุญาตการทำสื่อสำหรับผู้พิการ ประเด็นเหล่านี้ กรมพร้อมที่จะนำไปหารือ ซึ่งอาจจะนำไปแก้ไขปรับปรุงเพิ่มในร่างประกาศของกฎกระทรวงต่อไป
ปัจจุบันผู้พิการในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ พิการทางการมองเห็น การได้ยิน สติปัญญา ทางจิตใจออทิสติก การเรียนรู้ และพิการทางร่างกาย และจำนวนที่ขึ้นทะเบียนขอบัตรผู้พิการทั้งประเทศ 1.9 ล้านคน แต่จำนวนนี้ยังมีผู้พิการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกเป็นจำนวนมาก เพราะประเทศไทยไม่ได้มีการบังคับขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้พิการเองและมีองค์กรสำหรับผู้พิการ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ องค์กรระดับชาติ กับองค์กรสมาคม ที่ต้องการสนับสนุนช่วยเหลือผู้พิการ แต่ต้องอยู่ในมาตรฐานและกฎหมายกำหนด จะมีการประเมินและต่ออายุทุก 3 ปี ปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 1,000 องค์กร
น.ส.ชลทิพย์ ยิ้มย่อง มูลนิธิคนตาบอดไทย กล่าวว่า สื่อที่ผู้พิการเข้าถึงได้มากสุดก็คือ การใช้สายตา รองลงมาเป็นการได้ยินและสัมผัส “แต่ยังน้อย” โดยเฉพาะสื่อภาพยนตร์ การศึกษา โดยผู้พิการมองว่าทุกสื่อล้วนเป็นสิ่งที่พัฒนาความรู้ได้ แต่การทำสื่อทางเลือกกลับมีไม่มาก เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ปัจจุบันมีเพียง 8,000 เรื่องเท่านั้น อย่างไรก็ดี เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีการบังคับใช้และไทยได้เข้าเป็นภาคีจะเป็นประโยชน์และสร้างโอกาสอันดีในการเข้าถึงสื่อของผู้พิการไม่เฉพาะสื่อภายในประเทศ แต่รวมไปถึงสื่อต่างประเทศ ทั้งนี้ยังมองว่าควรจะมีหน่วยงานกลางด้วย เพื่อเป็นศูนย์กลางในด้านข้อมูล การทำสื่อทางเลือกหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องเพื่อการตรวจสอบและติดตาม ในการสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของสิทธิ์ และป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์