ช่วยเหลือคนตาบอดบนรถไฟฟ้าอย่างไรให้ถูกวิธี

นั่งอยู่ก็ตกใจว่าจะทำอย่างไร แม้เขาจะยังไม่เอ่ยปากขอความช่วยเหลือ หลายคนระส่ำระส่าย คุณกำลังคิดว่าจะให้เขายืนอยู่ตรงไหน จะลุกให้เขานั่ง จะพาเขาไปนั่งเก้าอี้คนพิการ หรือปล่อยให้เขายืนต่อไป

 

 

นี่คงเป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่หลายคนพบเจอ คนตาบอดขึ้นรถไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คุณก็ทำตัวไม่ถูก คุณไม่มั่นใจว่าคนตาบอดเหล่านั้นต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า และคุณเองก็ไม่กล้าถาม

thisable.me ได้มีโอกาสคุยกับพี่ๆ คนตาบอด ทั้งพี่หรั่ง พี่เอก และพี่ทิพย์ เกี่ยวกับประสบการณ์บนรถไฟฟ้า รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ว่าถ้าคุณจะช่วยต้องทำอย่างไร อะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำ ลองมาสำรวจกันว่ามีสิ่งใดบ้างที่คุณช่วยได้ เมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือ

 

 

‘เอก’ พิการทางการมองเห็นและใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางเกือบทุกวัน ทั้งไปทำงานและทำธุระต่างๆ
เขาเป็นครูสอนการเดินทางให้กับนักเรียนตาบอดที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ทำให้เขามีประสบการณ์ในการไปไหนมาไหนอย่างเชี่ยวชาญ

หลายครั้งคนมักถามเขาว่า หากเจอคนตาบอดบนรถไฟฟ้าจะต้องลุกให้คนตาบอดนั่งหรือไม่ เขาจึงอธิบายให้ฟังว่า อยากให้คนมองคนตาบอดเป็นคนปกติทั่วไป ที่นั่งสำหรับคนพิการ เป็นที่นั่งสำหรับคนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ไม่สามารถยืนนานๆ ได้ เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก คนท้อง ฯลฯ คนตาบอดหลายคนสามารถยืนได้ แค่ต้องการอะไรยึดเกาะเหมือนคนอื่นทั่วไป

หากอยากช่วยเหลือคนตาบอดก็สามารถช่วยได้โดยการหาที่ให้คนตาบอดจับ ไม่ว่าจะเป็น เสา ราวจับ ห่วงที่ห้อยอยู่ เพื่อให้คนตาบอดปลอดภัย บางคนช่วยเหลืออย่างผิดๆเช่น คิดว่าคนตาบอดจำเป็นต้องนั่ง ต้องเสียสละลุกให้คนตาบอดนั่ง

“มีคนลุกแล้วจับผมหันหลังชิดกับเก้าอี้ และจับไหล่กดลง คนตาบอดไม่รู้หรอกว่าเก้าอี้อยู่ตรงไหน จนอาจทำให้อันตรายทั้งตัวคนตาบอดและคนที่นั่งอยู่ใกล้ๆ คนตาบอดหลายคนมีไม้เท้าอยู่ในมือ หากเขาเสียหลักล้มลง แม้จะล้มลงไปบนที่นั่งไม้เท้าที่ถืออยู่ก็อาจพลั้งไปโดนคนที่อยู่ข้างๆได้ เพราะฉะนั้นหากอยากจะบอกว่ามีเก้าอี้ว่าง และให้คนตาบอดนั่ง การช่วยเหลือที่ถูกต้องก็คือ การบอกคนตาบอดว่ามีเก้าอี้ว่างอยู่ตรงไหน ข้างหน้า ข้างซ้าย ข้างขวา แค่นั้นก็พอแล้ว คนตาบอดสามารถเอื้อมมือไปจับเองได้” เอกแนะนำ

 

 

‘หรั่ง’ เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคําแหง และยังเป็นครูสอนการเดินทางด้วยไม้เท้าขาวให้กับนักเรียนตาบอด เขาใช้รถไฟฟ้าเป็นประจำในการเดินทางไปเรียนและทำงาน

ระหว่างทางบนรถไฟฟ้าหรั่งเจอการช่วยเหลือทั้งถูกและไม่ถูกวิธี เช่นเดียวกับเอกเจอ คนมักลุกเพื่อให้คนตาบอดนั่ง และเข้าใจว่าคนตาบอดไม่สามารถยืนได้นาน

“การช่วยเหลือคนตาบอดไม่ใช่แค่การลุกให้นั่ง แต่ต้องดูสถานการณ์ประกอบว่า ว่าเขาเจ็บขาไหม น้ำหนักเยอะรึเปล่า ยืนได้มั่นคงไหม ถ้าเขายืนได้ก็แค่หาที่จับหรือที่ปลอดภัยไม่ขวางทางเข้าออก หรือเสียงถูกชนและกีดขวางคนอื่น”

วิธีช่วยเหลือคนตาบอดที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดก็คือ เวลาคนตาบอดเดินออกจากรถไฟฟ้าคนมักจะจับหรือคว้าแขนเขาไว้เพราะกลัวคนตาบอดล้มหรือกีดขวางคนอื่น แต่นั่นอาจทำให้คนตาบอดที่กำลังก้าวลงรถไฟฟ้าเสียหลักล้มลงไป

ฉะนั้นหากจะช่วยก็ก็ควรเริ่มพูดคุยตั้งแต่อยู่บนรถไฟฟ้า เช่น อธิบายว่าต้องก้าวขาข้ามช่องว่างระหว่างรถอย่างไรเพื่อให้ปลอดภัย

นอกจากนี้หรั่งยังอยากให้มีระบบอำนวยความสะดวกที่หลากหลายมากขึ้น พื้นที่สถานีควรมีเบรลล์บล็อกหรือระบบนำทางอื่นเช่น ระบบเสียง อย่างเช่นเสียง ‘กรุณาจับราวบันไดด้วย’ คนตาบอดก็จะรู้ว่าบันไดเลื่อนอยู่ตรงนี้

“ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่จะส่งคนตาบอดขึ้นบริเวณหัวขบวน ผมเข้าใจความสะดวกของระบบการทำงาน แต่หากเราสามารถทำให้คนตาบอดใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปได้ เดินทางได้เองด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มีไกด์บล็อก มีเสียงนำทาง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องบอกให้คนตาบอดขึ้นรถไฟบริเวณหัวขบวนอีกต่อไป”

 

 

‘ทิพย์’ เป็นหญิงสาวพิการทางสายตา ซึ่งกำลังเรียนปริญญาโทที่ประเทศมาเลเซีย เธอเล่าว่า การใช้รถไฟฟ้าที่ไทยกับมาเลเซียไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่ รถไฟฟ้าของมาเลเซียมีข้อดีตรงที่มักมีห้างสรรพสินค้าติดกับสถานีรถไฟฟ้าและมีเบรลล์บล็อกจากบริเวณสถานียาวไปจนถึงในห้าง ซึ่งช่วยให้คนตาบอดเดินทางได้ง่ายขึ้น

ทิพย์มักเจอคนเข้ามาช่วยเหลือถูกวิธีบ้างไม่ถูกบ้าง เธอจึงเสนอวิธีการช่วยอย่างง่าย โดยหากเจอคนตาบอดเดินมาสถานีรถไฟฟ้าก็สามารถถามเขาก่อนว่าเขาต้องการไปที่ไหน และมีอะไรให้ช่วยไหม เพราะโครงสร้างของแต่ละสถานีนั้นไม่เหมือนกัน คนตาบอดจึงอาจไม่รู้ว่าจุดจำหน่ายตั๋วอยู่ที่ไหน คนที่เข้ามาช่วยอาจพาคนตาบอดไปที่ตู้เลยหรืออาจจะพาไปส่งต่อให้เจ้าหน้าดูแลอีกทีก็ได้

หากเจอคนตาบอดบนรถไฟฟ้า คนทั่วไปคงคิดว่าต้องลุกให้นั่ง แต่ทิพย์กลับบอกว่า จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องลุกให้ เพราะคนตาบอดสามารถยืนได้โดยไม่มีปัญหา และอาจมีบางคนต้องการที่นั่งมากกว่า เช่น ผู้สูงอายุ คนท้อง หรือคนที่ขาเจ็บ เธอคิดว่าคนตาบอดที่ออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองก็คงคิดแบบนี้เหมือนกัน

ส่วนวิธีที่ช่วยเหลือคนตาบอดที่คนทั่วไปเข้าใจผิดคือการนำทางด้วยการจับไม้เท้าจับมือหรือจูงมือ วิธีนี้อาจทำให้คนตาบอดเดินไม่ถนัดหรือเสียหลังล้มชนได้ วิธีที่ถูกคือการให้คนตาบอดจับด้านหลังของข้อศอกแล้วนำทางโดยเดินก้าวปกติไม่จำเป็นต้องเดินช้า หรือพะวงหน้าหลัง เมื่อถึงในขบวนรถไฟฟ้าก็พาเขาไปจับเสาหรือราวเอาไว้ในจุดที่ไม่กีดขวางคนทั่วไป

หากถามเรื่องระบบนำทางเทื่ออกจากรถไฟฟ้า ทิพย์ระบุว่า ยังไม่มี หากคนตาบอดเดินทางจากรถเมล์เพื่อขึ้นรถไฟฟ้า เขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องเดินไปทางไหนเพื่อให้ถึงสถานี เพราะไม่มีเบรลล์บล็อกสำหรับคนตาบอดเลย ไม่รู้ว่าประตูอยู่ตรงไหน บันไดเลื่อนอยู่ตรงไหน เธอยกตัวอย่างสถานี MRT สวนจตุจักร หากคนขับแท็กซี่ไม่เข้าไปส่งที่หน้าประตูทางเข้า เธอก็ไม่สามารถเข้าไปได้เพราะด้านหน้าเป็นที่จอดรถ หลายครั้งที่เธอโชคดีเจอคนที่เข้าไปส่งได้ แต่ถ้าไม่มีคนไปส่งก็ไม่รู้ว่าจะต้องเดินเข้าไปยังไงเพราะไม่มีระบบอะไรที่จะนำทางเราไปเลย ดังนั้นควรมีระบบนำทางคนพิการเข้าไปยังสถานีรถไฟฟ้า เช่น เบรลล์บล็อกเพื่อนำทางคนตาบอดไปยังสถานีรถไฟฟ้าด้วยตัวเอง

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก  https://thisable.me/content/2020/01/590

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *