แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

ประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จำนวนมากกว่า 3 แสนคน มากเป็นอันดับสอง รองจากผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ซึ่งมีจำนวนเกือบๆ หนึ่งล้านคน แต่รู้ไหมว่าในบรรดาผู้พิการ คนหูหนวกมีโอกาสได้งานทำน้อยที่สุด

เพราะการไม่ได้ยินเสียง ส่งผลกระทบโดยตรงกับการสื่อสาร ลองจินตนาการตอนที่คุณเห็นคำศัพท์ยากๆ อย่าง ‘รัฐธรรมนูญ’ เป็นครั้งแรก คุณไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร คุณก็ต้องใช้หูฟัง เมื่อมีคนอธิบาย จึงจะเข้าใจความหมาย ดังนั้นเมื่อหูไม่ได้ยินเสียง การจะอธิบายคำศัพท์นามธรรม ที่ไม่ใช่ ไก่ ไข่ ขวด ซึ่งชี้ให้ดูก็พอจะรู้ความหมาย จึงเป็นเรื่องท้าทายไม่ใช่น้อย

สิ่งที่เป็นผลตามมาจากการหูหนวกคือข้อจำกัดในการพูด เพราะเมื่อไม่เคยได้ยินเสียงพูดมาก่อน จึงไม่รู้ว่าจะออกเสียงเป็นคำพูดอย่างไร ทำให้ที่ผ่านมาโลกของคนหูหนวกถูกจำกัดด้วยกำแพงที่มองไม่เห็นมาตลอด ทั้งด้านการใช้ชีวิต การศึกษา และอาชีพ

ในชีวิตที่ผ่านมา คุณเคยพบเจอและสื่อสารกับคนหูหนวกบ้างไหม เชื่อว่าหลายคนส่ายหน้าอยู่ในใจ ก่อนเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดียที่หลายๆ รายการมี Subtitle คนหูหนวกดูทีวีและจะเข้าใจเนื้อหาก็เฉพาะรายการใหญ่ๆ ที่มีการแปลภาษามือเท่านั้น

จำนวน 3 แสนกว่าคน คิดเป็นไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรประเทศไทย สังคมจึงมองข้ามคนกลุ่มนี้ไป ด้วยความไม่คุ้นเคย ความไม่รู้ และความไม่ใส่ใจของสังคมส่วนใหญ่ ทำให้การสื่อสารระหว่างโลก 2 ใบที่ท้าทายอยู่แล้วยิ่งยากขึ้นไปอีก

ถัดจากถนนสาทรที่อึกทึกครึกโครม สู่ความเงียบสงบในโรงเรียนโสตศึกษา ทุ่งมหาเมฆ สถานที่ทำการทุกวันเสาร์ของ EDeaf กลุ่มอาสาสมัครรุ่นใหม่ ที่ตั้งใจสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ระหว่างพี่ๆ หูดีและน้องๆ ผู้พิการทางการได้ยิน ด้วยวิชาสนุก แปลกใหม่ นำไปใช้ได้จริง ที่น้องๆ ลงประชามติกันอย่างกระตือรือร้นว่าอยากเรียน แต่หาเรียนไม่ได้จากที่ไหน เพราะเท่าที่เห็นคลาสสอนวิชาเหล่านั้น มีให้เฉพาะคนหูดี

ตั้งแต่วิชาออกแบบสติกเกอร์ไลน์ วิชาถ่ายภาพ วิชาทำหนังสั้นลงยูทูบ ไปจนถึงวิชาเต้น K-Pop!

 

 

EDeaf ห้องเรียนวิชาฮิปครั้งแรกของน้องหูหนวก สอนโดยพี่หูดีที่เชื่อมโลกเข้าหากันด้วยการสื่อสารไร้เสียง
EDeaf ห้องเรียนวิชาฮิปครั้งแรกของน้องหูหนวก สอนโดยพี่หูดีที่เชื่อมโลกเข้าหากันด้วยการสื่อสารไร้เสียง

 

 

ผู้ก่อตั้งและหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของโครงการนี้คือ นัท-ยุทธกฤต เฉลิมไทย Child Care and Development Expert แห่ง UN Migration Agency ผู้ทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์หลากหลายเชื้อชาติ เพื่อดูแลและออกแบบการศึกษารวมถึงกิจกรรมให้เด็กๆ ผู้ลี้ภัยในสถานกักกัน

 

 

นัท-ยุทธกฤต เฉลิมไทย EDeaf ห้องเรียนวิชาฮิปครั้งแรกของน้องหูหนวก สอนโดยพี่หูดีที่เชื่อมโลกเข้าหากันด้วยการสื่อสารไร้เสียง

 

 

นัทสนใจและผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษามาตลอด นอกจากจะเป็นครูรุ่นแรกในโครงการ Teach For Thailand แล้ว เขายังเคยเป็น Project Manager ให้โครงการ Saturday School และทำงานอาสาสมัครในแวดวงการศึกษาทั้งในพื้นที่เมืองและชนบทห่างไกลมาแล้วมากมาย

เราจะไปคุยกับนัท เพื่อฟังเรื่องราวการผลักดันสังคมไปสู่ความเข้าใจ และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง ซึ่งเริ่มต้นจากอาสาสมัครกลุ่มเล็กๆ เพื่อโลกแห่งความเท่าเทียม แม้จะเป็นโลกที่ไร้เสียงก็ตาม

 

01

นักเรียนแลกเปลี่ยนผู้พูดภาษามือ

จุดเริ่มต้นของ EDeaf มาจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว นัทได้เป็นหนึ่งในกรรมการคัดเลือกนักเรียนที่จะได้รับทุน YES ของโครงการ AFS ที่นัทเองก็เคยได้รับทุนนี้เมื่อ 10 ปีก่อน เพื่อไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้นัทในวันนั้นได้เรียนรู้เรื่องทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม และความความเท่าเทียม ซึ่งเขามองว่ามันคือโอกาสเปลี่ยนชีวิตที่ใครอีกหลายๆ คนไม่ได้ จึงตั้งใจนำความรู้ความสามารถที่ได้รับ มาช่วยเหลือสังคมต่อจนถึงทุกวันนี้

ทุน YES ในปีนั้น นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่เด็กหูหนวกมีโอกาสได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ

 

 

นัท-ยุทธกฤต เฉลิมไทย EDeaf ห้องเรียนวิชาฮิปครั้งแรกของน้องหูหนวก สอนโดยพี่หูดีที่เชื่อมโลกเข้าหากันด้วยการสื่อสารไร้เสียง

 

 

นัทอธิบายว่า “ความยากที่น้องๆ ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ คือการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ที่นอกจากจะเตรียมพร้อมเรื่องการเขียนอ่านแล้ว ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมภาษามือแบบอเมริกัน (American Sign) ซึ่งแตกต่างจากภาษามือไทย (Thai Sign) คำที่มีความหมายเดียวกัน อาจแสดงสัญลักษณ์ในภาษามืออเมริกันและไทยแตกต่างกัน

“นอกเหนือจากการสื่อสาร คือเรื่องของใจล้วนๆ ว่าน้องพร้อมจะเปิดใจเรียนรู้ ยอมรับความยากลำบากในการปรับตัวมากแค่ไหน เพราะพวกเขาคือรุ่น Pioneer ไม่มีใครรู้ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร ทุกกระบวนการคัดเลือก เรามีผู้เชี่ยวชาญจากสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ที่ดูแลเรื่องการศึกษาของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทยมาร่วมทีมด้วย

 

 

นัท-ยุทธกฤต เฉลิมไทย EDeaf ห้องเรียนวิชาฮิปครั้งแรกของน้องหูหนวก สอนโดยพี่หูดีที่เชื่อมโลกเข้าหากันด้วยการสื่อสารไร้เสียง

 

 

“ในฐานะกรรมการสัมภาษณ์ เราก็กังวลนะว่าน้องๆ จะปรับตัวได้ไหม เพราะในบรรดาความพิการรูปแบบต่างๆ คนหูหนวกจะถอยห่างจากสังคมมากที่สุด เขาเห็นก็จริง แต่สื่อสารบอกความต้องการของตัวเองไม่ได้ นั่นทำให้โอกาสของคนหูหนวกไม่กว้างเท่าผู้พิการด้านอื่นๆ มาแต่ไหนแต่ไร

“แต่เราก็เชื่อว่าน้องที่ได้รับทุนทั้งสามคน คือผู้ที่จะมาเปลี่ยนแปลงการศึกษาของคนหูหนวกในประเทศไทย”

 

02

YES We Can

1 ปีผ่านไป ก็ถึงวันที่น้องๆ ผู้พิการทางการได้ยินทั้ง 3 คน กลับจากการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

“วันที่น้องๆ เข้ามารายงานตัวเมื่อกลับถึงประเทศไทย คือกรรมการทุกคนอึ้งไปเลย ทุกคนเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหนังมือ พลังความเชื่อมั่นในตัวเองของน้องๆ มันแผ่ออกมาจากทุกคำพูด (ภาษามือ) ทำให้เรานึกย้อนถึงตัวเองตอนที่ไปแลกเปลี่ยน พอกลับมาเมืองไทย คนรอบตัวก็บอกว่าเราดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก ทั้งการกระทำและความคิด น่าจะเป็นอิทธิพลของวัฒนธรรมที่เราได้ไปเรียนรู้และอยู่อาศัยมา

“กลายเป็นไอเดียตั้งต้นของ EDeaf ที่เราอยากสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองให้เด็กหูหนวกคนอื่นๆ โดยเริ่มจากการทำค่ายน้องหูหนวกชื่อ YES We Can ซึ่งมีน้องๆ จากห้าโรงเรียนสอนคนหูหนวกมาเข้าร่วม มีน้องนักเรียนแลกเปลี่ยนทั้งสามคนมาช่วยเป็นสตาฟและวิทยากรช่วง Sharing Session เล่าเรื่องระบบการศึกษาและการใช้ชีวิตในสังคมอเมริกันที่ได้ไปเจอมา

 

 

EDeaf ห้องเรียนวิชาฮิปครั้งแรกของน้องหูหนวก สอนโดยพี่หูดีที่เชื่อมโลกเข้าหากันด้วยการสื่อสารไร้เสียง
EDeaf ห้องเรียนวิชาฮิปครั้งแรกของน้องหูหนวก สอนโดยพี่หูดีที่เชื่อมโลกเข้าหากันด้วยการสื่อสารไร้เสียง

 

 

“มีช่วงหนึ่งที่เขาพูดกับน้องๆ หูหนวกด้วยกันว่า ให้เชื่อว่าความเท่าเทียมมีอยู่จริง เขาเห็นมาแล้ว”

นัทเล่าต่อยิ้มๆ ว่า “สิ่งที่เราอยากเห็นจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ามีแค่น้องๆ 3 คนเป็นคนเริ่ม มันต้องมีคนหูดีเข้ามาช่วยกันทำด้วย พวกเราเลยเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา ค่ายระยะเวลาสั้น มันสร้างแรงบันดาลใจ แต่เราไม่ได้อยากสร้างแค่แรงบันดาลใจ เราอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงระยะยาวที่ยั่งยืน”

 

03

ตามหาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 

เป้าหมายของ EDeaf คือมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ด้วยการออกแบบหลักสูตร 21st Century Skills หรือทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับผู้พิการทางการได้ยินให้เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนผ่านจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวแล้ว แรงงานซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดกำลังค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบ รวมถึงทักษะที่ต้องใช้ในการดำรงชีวิตก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยเฉพาะทักษะด้านการเข้าสังคมและอารมณ์ (Social and Emotional Skill) ซึ่งกระบวนการสร้างทักษะเหล่านี้ ไม่สามารถสร้างจากรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ในห้องเรียนอีกต่อไป

นัทอธิบายเพิ่มว่า ปัญหาการศึกษาจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา เพราะปัญหาสังคมนั้นเชื่อมโยงกระทบถึงกันทั้งหมด ตั้งเต่เด็กคนหนึ่งเกิดมาจนถึงเข้าสู่ระบบการศึกษา ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ครอบครัวหนึ่ง พ่อติดเหล้า แม่ติดพนัน ส่งผลให้มีปัญหาด้านการเงิน ซึ่งมีโอกาสนำไปสู่ปัญหาด้านการศึกษาของลูก

 

 

นัท-ยุทธกฤต เฉลิมไทย EDeaf ห้องเรียนวิชาฮิปครั้งแรกของน้องหูหนวก สอนโดยพี่หูดีที่เชื่อมโลกเข้าหากันด้วยการสื่อสารไร้เสียง

 

 

“คนส่วนมากมักคิดว่าเด็กกรุงเทพฯ เข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้มากกว่าเด็กต่างจังหวัด ซึ่งจริงๆ แล้วในกรุงเทพฯ มีเด็กด้อยโอกาสอยู่มากมาย เด็กเหล่านี้ไม่มีเงินพอที่จะเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ของพวกเขาด้วยซ้ำ และส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่มีญาติพี่น้องคอยช่วยดูแลกันแบบชนบท ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเติบโต มีปัจจัยเสี่ยงเยอะ ส่งผลให้โอกาสที่เด็กจะเดินเส้นทางผิดสูงตามไปด้วย”

ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพและการเข้าถึงการศึกษาจะโทษส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องปรับปรุงพัฒนาอย่างบูรณาการไปพร้อมๆ กัน ตั้งแต่โครงสร้างระบบ การบริหารงานของแต่ละโรงเรียน ไปจนถึงรูปแบบและแผนการสอนของครูแต่ละคน

ในขณะที่เด็กทั่วไปต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงด้านทักษะครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ เด็กหูหนวกก็ต้องพยายามมากกว่าหลายเท่า เพื่อวิ่งไล่ตามการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ทันเช่นกัน

 

 

EDeaf ห้องเรียนวิชาฮิปครั้งแรกของน้องหูหนวก สอนโดยพี่หูดีที่เชื่อมโลกเข้าหากันด้วยการสื่อสารไร้เสียง
EDeaf ห้องเรียนวิชาฮิปครั้งแรกของน้องหูหนวก สอนโดยพี่หูดีที่เชื่อมโลกเข้าหากันด้วยการสื่อสารไร้เสียง

 

 

04

ห้องเรียนไร้เสียง

เมื่อหมุดหมายหลักคือการออกแบบหลักสูตร EDeaf จึงไม่ได้มีแค่ครูอาสาที่มาช่วยสอนน้องๆ เท่านั้น แต่ยังมีทีมเบื้องหลังอย่าง LD (Learning Development) ซึ่งประกอบไปด้วยคนรุ่นใหม่จากหลากหลายทักษะวิชาชีพ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และพัฒนาหลักสูตรร่วมกับครูอาสาและน้องๆ หูหนวกอย่างใกล้ชิด

“จากค่าย YES We Can เราเก็บข้อมูลความต้องการและพฤติกรรมของน้องๆ มาเป็นตัวตั้งต้นในการออกแบบหลักสูตร แต่นี่เป็นครั้งแรกๆ ของกระบวนการสอนทักษะใหม่ให้น้องหูหนวก จึงไม่มีใครรู้ว่าทักษะไหนเวิร์กหรือไม่เวิร์ก จนกว่าจะได้ทดลองสอนจริง สังเกตการณ์ ปรับปรุง นำไปสอนใหม่ สังเกตการณ์ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมโครงการของเราจึงต้องยาวนานข้ามปี”

 

 

EDeaf ห้องเรียนวิชาฮิปครั้งแรกของน้องหูหนวก สอนโดยพี่หูดีที่เชื่อมโลกเข้าหากันด้วยการสื่อสารไร้เสียง

 

 

นัทเล่าต่อว่า “เมื่อรู้ว่าจะต้องสอนวิชาอะไรบ้าง เราก็เปิดรับครูอาสาที่มีความเชี่ยวชาญในการสอนวิชานั้นๆ ตอนแรกครูอาสาหลายคนก็กังวลว่าจะสื่อสารกับน้องๆ หูหนวกได้ไหม เพราะบางคนก็ไม่เคยใช้ภาษามือมาก่อน แต่ปรากฏว่าเมื่อได้ทำกิจกรรมกันจริงๆ การสอนกลับลื่นไหลไปอย่างสนุกสนาน โดยมีล่ามจากสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษมาช่วยเป็นระยะ ที่สำคัญคือน้องๆ เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว จนต้องเปลี่ยนแผนการสอนกันรัว เพราะเนื้อหาเบสิกเกินไป (หัวเราะ)”

ทุกเช้าวันเสาร์ น้องๆ จากโรงเรียนโสตศึกษา ทุ่งมหาเมฆ มีห้องเรียน 4 วิชาทักษะ ซึ่งทางโรงเรียนและผู้ปกครองช่วยตั้งโจทย์ให้ EDeaf ว่าอยากได้ทักษะที่น้องๆ นำไปใช้สร้างรายได้เสริมได้ไม่ยาก คือ

 

 

EDeaf ห้องเรียนวิชาฮิปครั้งแรกของน้องหูหนวก สอนโดยพี่หูดีที่เชื่อมโลกเข้าหากันด้วยการสื่อสารไร้เสียง
EDeaf ห้องเรียนวิชาฮิปครั้งแรกของน้องหูหนวก สอนโดยพี่หูดีที่เชื่อมโลกเข้าหากันด้วยการสื่อสารไร้เสียง

 

 

วิชาออกแบบสติกเกอร์ไลน์

วิชาการแสดงและการเต้น

วิชาถ่ายภาพ

และวิชาถ่ายหนังสั้นลงยููทูบ

เราเองก็ได้ไปลองเรียนเต้นกับเขาด้วย แม้จะเป็นคลาสเต้นแบบไร้เสียง แต่บอกเลยว่าสนุกและได้เหงื่อไม่แพ้คลาสเต้นแบบปกติเลย

 

05

ทำลายกำแพงต้องใช้เวลา

EDeaf แบ่งการทำงาน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการสร้างหลักสูตร 21st Century Skills เป็น 3 Phases คือ

Dream and Discovery การทำงานในระยะแรก ซึ่งเป็นระยะที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เป็นระยะที่ทุกคนก้าวเท้าเข้ามาร่วมสำรวจ สร้างความฝัน และการเปลี่ยนแปลงสู่ความเท่าเทียมกันทางการศึกษา

Design เป็นระยะต่อไป ที่ EDeaf ทดลองสอนและพัฒนาหลายๆ ทักษะร่วมกับน้องหูหนวกแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการออกแบบให้รูปแบบการสอนนั้นเป็นหลักสูตรที่นำไปใช้ได้ทั่วประเทศ

Deliver สุดท้ายคือเวทีสาธารณะ EDeaf จะยื่นหลักสูตรต่อไปให้กระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาบรรจุลงในระบบ รวมถึงสื่อสารออกไปในวงกว้าง เพื่อสร้างความตระหนัก ผ่านการพิสูจน์ของทีม EDeaf ว่าคนหูดีและคนหูหนวกก็สื่อสารและเรียนรู้ร่วมกันได้

 

 

นัท-ยุทธกฤต เฉลิมไทย EDeaf ห้องเรียนวิชาฮิปครั้งแรกของน้องหูหนวก สอนโดยพี่หูดีที่เชื่อมโลกเข้าหากันด้วยการสื่อสารไร้เสียง

 

 

“สุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการลดกำแพงที่กั้นระหว่างคนหูหนวกและสังคมให้ต่ำลงๆ จนถึงไม่มีกำแพงอยู่เลยในอนาคต เราเริ่มที่เด็ก เพราะเด็กวันนี้คือคนที่จะสร้าง Mindset ใหม่ให้สังคมในเจเนเรชันต่อไป เพื่อให้คนหูหนวกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจริงๆ กล้าลุกขึ้นแสดงความคิดเห็น เป็น Active Citizen ไม่ต้องเป็นแค่ Passive Citizen อย่างที่เป็นมา” นัทเล่าทิ้งท้าย

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก  https://readthecloud.co/edeaf/

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *