ใส่มอเตอร์ติดสปีดให้วีลแชร์ ผู้พิการ-สูงวัย ใช้ชีวิตนอกบ้าน

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า คนพิการในประเทศไทยมีประมาณ 3.7 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขผู้สูงอายุ พบว่ามีกว่า 11 ล้านคน และกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์

จะดีแค่ไหนหากประชากรทั้งสองกลุ่มนี้ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาการช่วยเหลือจากคนในครอบครัวซึ่งเป็นวัยแรงงาน…? และนี่คือนวัตกรรมที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้านของผู้พิการและสูงวัย เป็นเรื่องง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น “ปลั๊ก แอนด์ โก วีลแชร์” (Plug & Go Wheelchair) ที่ได้รับการการันตีจาก 3 รางวัล คือ รางวัลเหรียญเงิน ในสาขาวิศวกรรมการแพทย์ และอุปกรณ์สำหรับคนพิการ, รางวัลพิเศษ (Special Award) จากเวทีประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 40 (40th International Exhibition of Inventions of Geneva) ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และล่าสุด สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากเวทีประกวดนวัตกรรมผู้สูงอายุและคนพิการ (Thailand Friendly Design Expo 2019)

นายเมธาสิทธิ์ เกียรติ์ชัยภา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ตัวแทนทีมพัฒนานวัตกรรม กล่าวว่า ปลั๊ก แอนด์ โก วีลแชร์ เป็นนวัตกรรมล้อเสริมมอเตอร์ ที่ช่วยเร่งสปีดวีลแชร์ให้ขับเคลื่อนได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น เพียงแค่เชื่อมล้อเสริมเข้ากับคานอะลูมิเนียมใต้วีลแชร์ และกดปุ่มสตาร์ตที่แผงควบคุม พร้อมออกแรงบิด ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้พิการสามารถเริ่มต้นใช้ชีวิตหรือหาประสบการณ์นอกบ้านได้อย่างมั่นใจ อีกทั้งไม่เหนื่อยล้าแม้เส้นทางจะขรุขระหรือลาดชัน

 

ใส่มอเตอร์ติดสปีดให้วีลแชร์ ผู้พิการ-สูงวัย ใช้ชีวิตนอกบ้าน

 

นวัตกรรมชิ้นนี้ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือ คานแนวนอนใต้วีลแชร์ เป็นคานอะลูมิเนียมสำหรับติดตั้งใต้วีลแชร์ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับหัวลากล้อมอเตอร์, หัวลากล้อมอเตอร์ เป็นล้อเสริมที่มาพร้อมความสามารถในการขับขี่ด้วยความเร็วที่ 23 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แบตเตอรี่ที่ช่วยให้วีลแชร์สามารถวิ่งได้ไกลถึง 18 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้งประมาณ 3-4 ชั่วโมง คานแนวตั้งสำหรับเชื่อมต่อกับคานแนวนอนใต้วีลแชร์ ที่ผู้ป่วยสามารถติดตั้งได้ด้วยตนเองใน 6 วินาที และคอนโทรลเลอร์ควบคุมทิศทางใน 3 ระดับคือ เดินหน้า-อยู่กับที่-ถอยหลัง

นอกจากนี้ ทีมวิจัย ซึ่งมี ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ (CED2) และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา ยังได้นำหลักการรีดีไซน์ (Redesign) หรือการออกแบบใหม่มาประยุกต์ใช้ โดยเลือกใช้วัสดุอะลูมิเนียมทดแทนการใช้เหล็ก ใน 2 ส่วนคือ คานอะลูมิเนียมใต้วีลแชร์ และอุปกรณ์เชื่อมต่อหัวลากล้อมอเตอร์ เพื่อให้นวัตกรรมมีน้ำหนักเบา ลดการใช้แรงของผู้ใช้งาน ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการพัฒนานวัตกรรม โดยปลั๊ก แอนด์ โก วีลแชร์ สามารถใช้ติดตั้งกับวีลแชร์คันเดิมที่ใช้งานอยู่แล้วได้ทันที และถอดประกอบง่ายในกรณีที่ต้องขนย้าย นวัตกรรมชิ้นนี้มีต้นทุนการผลิตราว 20,000 บาท และได้รับการจดสิทธิบัตรในนาม “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นับเป็นนวัตกรรมที่ลดข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต เพื่อให้ผู้พิการหรือผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยสร้างคุณค่าทางจิตใจและยกระดับคุณภาพชีวิต ให้สามารถฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้นในอนาคต

ขอบคุณ… https://www.dailynews.co.th/article/755084

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

http://www.tddf.or.th/news/detail.php?contentid=0072&postid=0020594&currentpage=1&fbclid=IwAR0EOThryGzMbL-MOQYKxiSTtue3YbcFGmJzqemfj5Hij1gRPZFlLjO6BYI

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *