เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2563 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “วันครอบครัวยิ้มสวย เสียงใส ครั้งที่ 9” ภายใต้โครงการรณรงค์ป้องกันความพิการแต่กำเนิด และภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ด้วยโฟเลต ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศูนย์รักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ และวิทยากรจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สภากาชาดไทย สมาคมเพื่อเด็กพิการ (ประเทศไทย) จัดกิจกรรม “วันครอบครัวยิ้มสวย เสียงใส ครั้งที่ 9” ภายใต้โครงการรณรงค์ป้องกันความพิการแต่กำเนิด และภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ด้วยโฟเลต โดย ศ.ทพ.ธีระวัฒน์ โชติกเสถียร ประธานศูนย์รักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ รศ.ทพญ.สั่งสม ประภายสาธก รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวรายงาน รศ.ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดงาน
ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นความพิการของบริเวณช่องปาก และใบหน้าที่มีมาแต่กำเนิด ส่งผลต่อความทุกข์ทรมานกับเด็กและบุคคลในครอบครัว ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจได้ตั้งแต่แรกคลอด ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษา อาจจะส่งผลกับการดูดนม การเกิดปอดอักเสบ เกิดหูน้ำหนวกได้ง่าย การได้ยิน การออกเสียง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อพัฒนาการ และการเจริญเติบโตของเด็ก เช่น สุขภาพอนามัยช่องปากไม่ดี การเรียงตัวของฟันและการสบฟันผิดปกติ พูดไม่ชัด รอยแผลเป็นจากการผ่าตัดเพื่อเย็บรอยแยก และการเจริญผิดปกติของกระดูกขากรรไกรบน
มีรายงานทารกแรกเกิดที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ของประเทศไทย ในอัตราระหว่าง 1-1.6 คน ต่อ 1,000 คน มักพบในประชากรที่มีรายได้ต่ำ และเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ ส่วนใหญ่พบมากในถิ่นชนบททุรกันดารและครอบครัวที่ยากจน ซึ่งมารดาที่ตั้งครรภ์ไม่ได้รับสารอาหารครบถ้วน หรือมีการใช้สารเสพติด อากาศมีมลพิษ และมักพบในครอบครัวที่เคยมีคนเป็นปากแหว่งเพดานโหว่ และการดูแลรักษาต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานานกว่า 10 ปี
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ให้การรักษาทางทันตกรรม แก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 30 ปี และได้ร่วมในโครงการยิ้มสวยเสียงใส เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ยังอยู่ในการดูแลประมาณ 400 คน จึงได้จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อการพัฒนาคุณภาพการรักษาแบบองค์รวม และพัฒนาการเรียนการสอนแก่นักศึกษาทันตแพทย์ ทั้งระดับก่อนและหลังปริญญา รวมถึงการเพิ่มประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ให้แก่ทันตแพทย์ที่สนใจและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่สังกัดโรงพยาบาลของสาธารณสุข 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการให้การรักษาทางทันตกรรมแก่ผู้ป่วยต่อไป
ขอบคุณ… https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1253105
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.tddf.or.th/news/detail.php?contentid=0066&postid=0020606¤tpage=1