รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ จัดระบบพี่เลี้ยงสอนงานหรือจ๊อบ โค้ช ให้ผู้ป่วยจิตเวชใน4 จังหวัดอีสานตอนล่างที่อาการทางจิตทุเลา มีบัตรคนพิการ และมีความพร้อมพื้นฐานในการทำงาน แต่ว่างงาน เพื่อให้มีงานทำตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ. 2550 ลดการพึ่งพิง นำร่องปีนี้ครั้งแรก 7 คน เข้าทำงานในรพ.รัฐและภาคเอกชนชี้หากสังคมร่วมกันให้โอกาสจ้างงานคนพิการทางใจ จะช่วยเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง สร้างความรู้สึกมีคุณค่า มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
วานนี้ 6 ก.พ. 2563 ที่โรงแรมสีมาธานี จ.นครราชสีมา นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เปิดอบรมบุคลากรทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในโครงการพัฒนาแนวทางการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรมที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งอยู่ในความดูแลของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ประกอบด้วย 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ได้แก่นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ เพื่อให้มีงานทำ มีรายได้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2556 ซึ่งกลไกในการขับเคลื่อนงานนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในการบูรณาการองค์ความรู้ บุคลากร ทรัพยากร เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางจิตใจฯเป็นแนวทางเดียวกัน
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ ได้จัดความพิการไว้ 7 ประเภท โดย 4 ใน 7 ประเภท เป็นคนพิการที่เป็นผลมาจากการเจ็บป่วยทางจิตเวช ซึ่งเกิดจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติ ได้แก่ 1.คนพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม 2.พิการทางสติปัญญา 3.พิการทางการเรียนรู้ และ4.ออทิสติก ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมสุขภาพจิตในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมและทางอาชีพ เพื่อสนับสนุนให้มีจ้างงานคนพิการกลุ่มนี้ สร้างอาชีพและมีรายได้ รวมทั้งเข้าถึงสิทธิต่างๆอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมตามที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด จากการประชุมร่วมกับเครือข่ายสวัสดิการสังคมในพื้นที่ พบว่า คนพิการกลุ่มนี้ยังได้รับการช่วยเหลือด้านอาชีพน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับคนพิการทางกานายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อไปว่า ในการแก้ไขปัญหาให้คนพิการทางจิตใจและพฤติกรรม ได้มีงานทำเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ในปีนี้รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้นำระบบพี่เลี้ยงสอนงานหรือที่เรียกว่า “จ๊อบโค้ช” (Job Coach) ซึ่งประกอบด้วยทีมสหวิชาชีพต่างๆ 1 ทีม มาใช้ในกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพตามหลักการฟื้นคืนสู่สุขภาวะ เพื่อต่อยอดให้ผู้ป่วยจิตเวชที่อาการทุเลาแล้วและมีความต้องการมีงานทำ ได้มีอาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีนักสังคมสงเคราะห์เป็นแกนหลักดำเนินการประสานกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนที่พร้อมจะรับคนพิการกลุ่มนี้เข้าทำงาน พร้อมทั้งดำเนินการคัดเลือกคนพิการเข้าทำงานตามความเหมาะสมกับประเภทงาน และอยู่ใกล้บ้าน ในปีนี้ดำเนินการรุ่นแรกจำนวน 7 คน เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นชาย โดยจะเข้าทำงานที่รพ.สุรินทร์ จ.สุรินทร์ 1 คน ,ทำที่รพ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ 1 คน ,ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)จอมแก้ว จ.ชัยภูมิ 1 คน ,ที่รพ.สต.ปลายราง จ.นครราชสีมา 3 คน และที่บริษัทโกลบอลเจท เอ็กซเพรส จ.นครราชสีมา 1 คน ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนี้
“หากสังคมร่วมกันให้โอกาสจ้างงานคนพิการทางใจ จะช่วยเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ลดการพึ่งพิง เนื่องจากการทำงานและการมีรายได้จะเป็นตัวสร้างความรู้สึกมีคุณค่า มีกำลังใจ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีคุณภาพชีวิตดีเหมือนคนทั่วไป”นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
ทางด้านนางสาวชลิดา สาโรจน์ หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่า ในการดำเนินการคัดเลือกคนพิการทางจิตใจและพฤติกรรมเข้าทำงานนั้น คนพิการจะต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง มีอาการทางจิตทุเลาแล้ว มีบัตรคนพิการ และมีสมรรถนะทักษะพื้นฐานในการทำงาน รวมทั้งทักษะการปรับตัวทางสังคมผ่านเกณฑ์ สำหรับคนพิการรุ่นแรก 7 คนที่เข้าทำงานนั้น งานที่ได้รับ เช่นงานแม่บ้าน งานเอกสาร โดยจะมีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ของสถานบริการหรือบริษัท คอยสอนงานเป็นพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้รพ.จิตเวชฯจะประเมินเป็นระยะๆทุก 1 ,3 และ 6 เดือน เพื่อติดตามดูคุณภาพชีวิตต่างๆ พร้อมทั้งเร่งสร้างความเข้าใจสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งขณะนี้ภาคธุรกิจหลายแห่งให้ความสนใจ อาทิ หจก. 3 ดีบริการ ,บริษัทซีเกท ,บริษัทเตียหงี่เฮียง ,บริษัทไทยเบฟเวอเรจ เป็นต้น และส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมอบรมในครั้งนี้ด้วยซึ่งอบรมเป็นเวลา 2 วันคือ 6-7 กุมภาพันธ์ 2563
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก https://www.ryt9.com/s/prg/3092768