น้ำตกเจ็ดสาวน้อย อช.เจ็ดสาวน้อย แหล่งท่องเที่ยวเพื่อผู้พิการ นำร่องอารยสถาปัตย์แห่งแรกในอุทยานแห่งชาติ
(ภาพ : อช.เจ็ดสาวน้อย)
“นักท่องเที่ยวคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตัวเขาพิการมาตั้งแต่เด็กปัจจุบันมีอายุ 60 กว่าปีแล้ว ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นน้ำตกเจ็ดสาวน้อย (ของจริง) แต่หลังจากทางอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ได้จัดทำเส้นทางเพื่อผู้พิการขึ้น วันนี้ทำให้เขาได้มีโอกาสเห็นความงามของน้ำตก จึงรู้สึกดีใจมาก ๆ ที่มีหน่วยงานให้ความสำคัญ และจัดทำพื้นที่แบบนี้ให้กับผู้พิการ”
นายณรงค์ศักดิ์ นามตาปี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย เล่าถึงเสียงสะท้อนของนักท่องเที่ยวผู้พิการคนหนึ่งด้วยความภาคภูมิใจ หลังนักท่องเที่ยวคนดังกล่าวได้มีโอกาสมาสัมผัสกับมิติใหม่ของการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ ที่วันนี้ได้มีการพัฒนาพื้นที่ภายใน “อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย” เพื่อรองรับรถเข็นวีลแชร์สำหรับผู้พิการตามหลักอารยสถาปัตย์ในอุทยานแห่งชาติเป็นแห่งแรกในเมืองไทย
อารยสถาปัตย์ มิติใหม่ในอุทยานแห่งชาติ
“อารยสถาปัตย์” (Universal Design) คือ การออกแบบสภาพสิ่งแวดล้อมของสถานที่และสิ่งของรอบตัว เพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้คนในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น คนทั่วไป เด็ก คนชรา และ “ผู้พิการ” เพื่อให้ใช้งานด้วยตัวเองได้อย่างสะดวกปลอดภัย
ทางลาดอารยสถาปัตย์เพื่อผู้พิการใน อช.น้ำตกเจ็ดสาวน้อย (ภาพ : เพจ สำนักอุทยานแห่งชาติ)
สำหรับโครงการอารยสถาปัตย์ในอุทยานแห่งชาติได้มีการริเริ่มโครงการพัฒนาสิ่งอํานวยความสะดวกเพื่อคนทั้งมวลมาตั้งแต่ในปี 2556 โดยมีการจัดทำห้องน้ำเพื่อผู้พิการ และการก่อสร้างทางลาด (Ramp) เพื่อผู้พิการ เป็นจำนวนมากในอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ
ทั้งนี้การดำเนินการด้านอารยสถาปัตย์ก็เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ 2550 ที่ได้บัญญัติให้ออกกฎกระทรวง เพื่อกำหนดลักษณะหรือการจัดให้มีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการในอาคารสถานที่หรือบริการสาธารณะอื่นเพื่อให้คนพิการ และคนประชาชนโดยทั่วไป สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
อย่างไรก็ดีด้วยปัจจัยทางด้านภูมิประเทศที่มีความลาดชันสูง จึงทําให้อุทยานแห่งชาติหลายแห่งไม่สามารถจัดทําทางลาดเข้าอาคารที่ให้บริการได้ รวมถึงสิ่งก่อสร้างเดิมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ไม่ได้มีการออกแบบไว้สําหรับรองรับผู้ใช้รถเข็น ทางสํานักอุทยานแห่งชาติจึงได้ดําเนินการแก้ไขแบบแปลนสิ่งก่อสร้างเดิม พร้อมทั้งมีการออกแบบสิ่งก่อสร้างใหม่ เพื่อให้รองรับกับมาตรการผลักดันการจัดสิ่งอํานวยความสะดวกให้คนพิการมาตั้งแต่ปี 2557
อช. น้ำตกเจ็ดสาวน้อย มิติใหม่ของอุทยานฯแห่งชาติ กับเส้นทางอารยสถาปัตย์
กระทั่งมาในปีนี้ (2563) โครงการอารยสถาปัตย์เพื่อผู้พิการในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้เริ่มนำร่องเปิดใช้บริการเพื่อคนพิการ ใน 2 แห่งแรกของเมืองไทย คือ ที่ “อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย” และ “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการพัฒนาโครงการอารยสถาปัตย์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งหมดทั่วประเทศ
เหตุที่เลือกนำร่องในอุทยานฯ ทั้ง 2 แห่ง นอกจากเพื่อให้ผู้พิการสามารถท่องเที่ยวได้สะดวกมากขึ้นแล้ว ยังเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาคนพิการทางการเคลื่อนไหวนานาชาติ (IWAS World Games 2020) ที่จังหวัดนครราชสีมาที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งแต่เดิมมีกำหนดจัดในเดือน ก.พ. 63 แต่จำเป็นต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือน เม.ย. 63 เนื่องจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19
น้ำตกเจ็ดสาวน้อย แหล่งท่องเที่ยวไฮไลท์ใน อช.น้ำตกเจ็ดสาววน้อย
อุทยานแห่งชาติเจ็ดสาวน้อย มีพื้นที่ 26,238.00 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 129 ของประเทศไทย ที่ทำการอุทยานตั้งอยู่ หมู่ 9 บ้านแก่งหลุ ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี
อุทยานแห่งนี้ ถูกยกฐานะขึ้นมาจากวนอุทยานน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ที่จัดตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2523 โดยกองบำรุงสมัยนั้น เป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งนับตั้งแต่มีการยกฐานะขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติเจ็ดสาวน้อย มีการจัดการที่ดีขึ้นผิดหูผิดตา มีระเบียบ มีความสะอาดมากขึ้น
เส้นทางสัญจรใน อช. น้ำตกเจ็ดสาวน้อย (ภาพ : เพจ สำนักอุทยานแห่งชาติ)
อุทยานแห่งชาติเจ็ดสาวน้อย นอกจากจะมีน้ำตกชั้นต่าง ๆ ที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยแล้ว ยังมีลานกางเต็นท์ย่านที่ทำการและกำลังดำเนินการของบประมาณสร้างลานกางเต็นท์ใหม่ริมอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงามมากขึ้นอีกแห่งหนึ่ง (คาดว่าจะเสร็จในราวเดือน เม.ย.63) เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างแน่นอน นับเป็นอุทยานแห่งชาติหนึ่งที่ครบในเรื่องการท่องเที่ยว
อุทยานแห่งชาติเจ็ดสาวน้อย มีน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เป็นชั้นหินปูนที่สวยงาม 7 ชั้น ไหลลดหลั่นกัน ท่ามกลางบรรยากาศที่ร่มรื่น
สะพานข้ามภาค (ภาพ : เพจ อช.เจ็ดสาวน้อย)
นอกจากน้ำตกเจ็ดสาวน้อย อุทยานแห่งนี้ยังมี “สะพานข้ามภาค” เป็นสะพานทางเดินสร้างทอดข้ามระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน โดยมีลำน้ำเป็นตัวแบ่งอาณาเขตของจังหวัดสระบุรีกับนครราชสีมา
และ“น้ำตกเกาะสีชัง” ที่ตั้งอยู่ห่างจากน้ำตกเจ็ดสาวน้อยประมาณ 1 กม. ซึ่งวันนี้แม้น้ำตกเกาะสีชังจะยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายของนักท่องเที่ยว แต่ว่าก็เป็นน้ำตกที่มีความชุ่มฉ่ำสวยงามน่าเที่ยวไม่น้อย
น้ำตกเกาะสีชัง (ภาพ : เพจ อช.เจ็ดสาวน้อย)
น้ำตกเจ็ดสาวน้อย แหล่งท่องเที่ยวเพื่อคนพิการ
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้มอบหมายให้นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย เพื่อตรวจติดตามผลการดำเนินงานอารยสถาปัตย์ ของอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย โดยมีนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายณรงค์ศักดิ์ นามตาปี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย พร้อมผู้บริหารกรมอุทยานฯ ให้การต้อนรับ
ในการนี้ที่ปรึกษา รมว.ทส.ได้รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานพร้อมทั้งตรวจเยี่ยมชมเส้นทางอารยสถาปัตย์ โดยมีนายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และผู้ใช้วีลแชร์เดินทางมาทดลองใช้บริการในครั้งนี้ด้วย
ภาพวันตรวจงานอารยสถาปัตย์ ที่ อช. น้ำตกเจ็ดสาวน้อย (ภาพ : เพจ อช.เจ็ดสาวน้อย)
นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารมว.ทส. เปิดเผยว่า อารยสถาปัตย์ เป็นแนวคิดการออกแบบที่สำคัญในโลกยุคใหม่ เพื่อรองรับการใช้ชีวิตของคนทุกคน ทุกช่วงวัย ทุกสภาพและเงื่อนไขทางร่างกาย การพัฒนาสังคมให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติที่สุด คือเป้าหมายสำคัญของแนวคิดนี้
ส่วนนายณรงค์ศักดิ์ นามตาปี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ผู้ดูแลสถานที่เปิดเผยว่า เหตุที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อยได้รับเลือกให้จัดทำเส้นทางอารยสถาปัตย์เป็นที่แรก เพราะที่นี่เป็นจุดแวะเที่ยวสำคัญในเส้นทางสู่จังหวัดนครราชสีมา
นายณรงค์ศักดิ์ นามตาปี หน.อช. เจ็ดสาวน้อย
หัวหน้า อช. น้ำตกเจ็ดสาวน้อย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอุทยานฯ น้ำตกเจ็ดสาวน้อย มีทางลาดสำหรับรถเข็นวีลแชร์อยู่หลายจุดด้วยกัน ได้แก่ ที่ลานจอดรถ, ห้องน้ำสำหรับผู้พิการ 2 แห่ง, ศูนย์รักษาความปลอดภัย (เพื่อให้ผู้พิการได้ไปแจ้งเหตุหรือขอความช่วยเหลือได้สะดวก), ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (เพื่อให้ผู้พิการได้ไปสอบถามข้อมูลในด้านต่าง ๆ ได้สะดวก), เส้นทางขึ้นไปชมน้ำตก ซึ่งทำเป็นทางลาดให้ผู้ที่ต้องใช้วีลแชร์สามารถขึ้นไปได้ถึงชั้น 4 และจุดชมวิวที่ข้ามไปทางฝั่งนครราชสีมา นอกจากนี้ทาง อช.น้ำตกเจ็ดสาวน้อยยังมีวีลแชร์ให้บริการนักท่องเที่ยวอีก 3 คัน
“ในอนาคตทางอุทยานฯ อาจจะทำทางลาดที่สามารถเข้าไปสัมผัสกับน้ำตกได้เลย (ตอนนี้มีทางลาดเข้าไปชมวิวน้ำตก) รวมถึงอาจจะมีการสร้างบ้านพักสำหรับผู้พิการ ที่มีประโยชน์ใช้สอย (ฟังก์ชั่น) ช่วยอำนวยความสะดวกได้อย่างเต็มที่” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว
เส้นทางลาดเลาะลำน้ำ (ภาพ : เพจ สำนักอุทยานแห่งชาติ)
หัวหน้า อช. น้ำตกเจ็ดสาวน้อย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังการมีเส้นทางอารยสถาปัตย์ในอุทยานฯ เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องเรียนรู้เพิ่มเติม เนื่องจากผู้มาใช้งานแต่ละคนมีความพิการแต่ละส่วนไม่เหมือนกัน หรือถ้าเป็นผู้สูงอายุก็จะให้ความช่วยเหลือคนละแบบ
“การเรียนรู้เพิ่มเติมที่ว่าก็คือ เรียนรู้จากคนที่มาใช้งานนั่นแหละ ดูว่าเขาต้องการความช่วยเหลือแบบไหน เราจะคอยสอบถามพวกเขา ว่าอยากให้ช่วยแบบไหน โดยทุกจุดจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้ความช่วยเหลืออยู่ และมีป้ายสื่อความหมายให้ข้อมูลอยู่ด้วย”
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังการเปิดใช้เส้นทางลาดสำหรับผู้พิการในพื้นที่อุทยานฯ น้ำตกเจ็ดสาวน้อย ที่ผ่านมาได้มีนักท่องเที่ยวที่ต้องใช้วีลแชร์มาใช้บริการมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่มีเฉพาะแค่ผู้พิการเท่านั้น แต่ยังมีผู้สูงอายุ รวมถึงเด็ก ๆ ที่พ่อแม่นำลูกใส่รถเข็นเด็กมาด้วย
ผู้มาใช้บริการอารยสถาปัตย์ ใน อช.เจ็ดสาวน้อย (ภาพ : เพจ สำนักอุทยานแห่งชาติ)
นอกจากนี้ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ หัวหน้า อช. น้ำตกเจ็ดสาวน้อย กล่าวว่ารู้สึกภูมิใจและดีใจ ที่ได้เห็นผู้พิการ ผู้สูงอายุ ได้เข้าไปถ่ายรูปกับน้ำตกเจ็ดสาวน้อย
“นักท่องเที่ยวคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตัวเขาพิการมาตั้งแต่เด็กปัจจุบันมีอายุ 60 กว่าปีแล้ว ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นน้ำตกเจ็ดสาวน้อย (ของจริง) แต่หลังจากทางอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ได้จัดทำเส้นทางเพื่อผู้พิการขึ้น วันนี้ทำให้เขาได้มีโอกาสเห็นความงามของน้ำตก จึงรู้สึกดีใจมาก ๆ ที่มีหน่วยงานให้ความสำคัญ และจัดทำพื้นที่แบบนี้ให้กับผู้พิการ”
นายณรงค์ศักดิ์ นามตาปี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย เล่าถึงเสียงสะท้อนของนักท่องเที่ยวผู้พิการคนหนึ่งด้วยความภาคภูมิใจ
ผู้ปิดทองหลังพระ (ภาพ : เพจ สำนักอุทยานแห่งชาติ)
ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย นำนโยบายแห่งชาติ การลดใช้ วัสดุที่ยากต่อการย่อยสลาย จึงออกมาตรการ การลดใช้ ถุงพลาสติกหูหิ้ว และห้ามนำถุงพลาสติกหูหิ้วเข้าชั้นน้ำตกอุทยานฯ รวมถึงขอความร่วมมือทิ้งขยะในที่ทิ้งขยะที่อุทยานแห่งชาติจัดไว้ และแยกขยะก่อนทิ้ง
ผู้สนใจเที่ยวอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร.036-346-586 หรือดูที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ อุทยานแห่งชาตินํ้าตกเจ็ดสาวน้อย
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก https://mgronline.com/travel/detail/9630000019902
อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย
เพจ สำนักอุทยานแห่งชาติ
เพจ อช.เจ็ดสาวน้อย