กลุ่มครูอาสา ‘หัวใจถ่ายภาพ’ ที่เป็นมากกว่าการแค่การสอนคนตาบอดถ่ายภาพ

กลุ่มครูอาสา ‘หัวใจถ่ายภาพ’ คือกลุ่มคนอาสาที่สร้างขึ้นมาเพื่อสอนคนตาบอดถ่ายภาพ เริ่มโครงการมาตั้งแต่ ปี 53 ปัจจุบันตอนนี้ก็ผ่านมา 10 ปีแล้ว ท่ามกลางคำถามว่าคนตาบอดจะถ่ายรูปไปทำไม ถ่ายไปแล้วได้อะไร

 

ปัจจุบัน ทัศนคติที่สังคมมองเปลี่ยนไปมากแค่ไหน แล้ว ‘หัวใจถ่ายภาพ’ เปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ชวนคุยกับ นพดล ปัญญาวุฒิไกร หรือครูฉุน กับการตกผลึกมาตลอด 10 ปี

 

 

แรกเริ่มไม่ได้แทนตัวเองว่าครู’ อะไรคือจุดเปลี่ยนในการเรียกตัวเองว่าครู

ครูฉุน: แรกเริ่มที่สอนคนตาบอดถ่ายภาพ เราไม่ได้คิดจะแตะอะไรลึกไปมากกว่านั้น ก็แค่สอนให้เขาถ่ายภาพได้ แต่ว่ายิ่งสอนไปเรื่อย ๆ ก็รู้ว่าไม่ใช่แค่เรื่องของการถ่ายภาพ แต่เป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์

 

ตอนที่เริ่มสอนทุกคนเรียกเราว่าพี่ทั้งที่อายุของเรามากกว่าพ่อแม่ของเขาอีก จนมาเด็กรุ่นหลัง ๆ เขาเรียกเราว่าครู เพราะรู้สึกเรามาสอน ครูบางโรงเรียนอยากให้เด็กเรียกว่าครู เพราะหากเรียกพี่เด็กจะดื้อ ไม่ให้ความร่วมมือ แต่สำหรับตัวเราเองไม่ซีเรียสในชื่อเรียก เป็นห่วงแค่การทำหน้าที่นั้นสมบูรณ์แบบหรือเปล่า การที่เราทำงานแบบนี้โดยที่ไม่ผ่านการเรียนครูมาก่อน ความรับผิดชอบจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราจะต้องเตรียมตัวมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ ฝังรากลึก จนในที่สุดก็เรียกตัวเองว่าครู

 

อะไรคือการสอนคนตาบอดถ่ายภาพ

เราเริ่มต้นจากการสอนถ่ายภาพ  หลังจากนั้น 2 ปีก็เริ่มปรับการสอน เพราะเขาสามารถใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารได้ เช่น เวลาเด็กตาบอดเล่าเรื่องบรรยากาศ หรือสภาพแวดล้อม  เขามักเล่าไม่ถูกว่า สถานที่เหล่านี้ตกแต่งหรือมีสภาพแวดล้อมเป็นยังไงหรือบอกไม่ถูกว่าความสนุกสนานหรือสิ่งที่ประทับใจนั้นเป็นยังไง  ภาพถ่ายจึงช่วยเล่าเรื่องราวส่วนนี้

 

ตอนสอนปีแรกเราก็เห็นว่าภาพถ่ายเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการสื่อสาร จึงลองให้เด็กไปถ่ายรูปงานวันเด็ก เขาก็บอกว่ามันสนุกมีนู่นมีนี่ แต่ก็บอกไม่ได้ว่าสิ่งต่าง ๆ เป็นยังไง ฉะนั้นภาพที่เขาถ่ายจึงช่วยทำให้เราเห็นว่า สภาพแวดล้อมที่เขารู้สึกสนุกสนานมันเป็นยังไง อีกอย่างที่เห็นคือเมื่อเด็กต้องมาอยู่โรงเรียนสอนคนตาบอดตั้งแต่เล็ก ๆ หลายคนเกิดความเหงา คิดถึงพ่อแม่ แต่ตอนนี้เขาสามารถถ่ายภาพสิ่งที่ทำให้หายเหงา เช่น เครื่องเล่น อุปกรณ์เล่น ที่เขาบอกไม่ถูกว่าหน้าตาเป็นยังไงกลับไปให้พ่อแม่ดูได้ หลังจากนั้นเราเริ่มให้เขาเขียนอักษรเบรลล์เล่าเรื่องประกอบ งานจึงพัฒนาแตะเรื่องของการสื่อสารมากขึ้น

 

การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงทุกวันนี้

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่คือการปรับให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ทำกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดประโยชน์กับเด็กที่สุด เมื่อก่อนหากต้องจับคู่ เราจะใช้วิธีให้ครูเลือกเด็ก แต่พอลองให้เด็กเลือกครูบ้าง พบว่าการเรียนประสบผลสำเร็จมากกว่าเด็ก ๆ เลือกคู่ของเขาจากน้ำเสียง ซึ่งสามารถบ่งบอกความรู้สึกได้ดี เด็กเลือกจากน้ำเสียงที่เขาคิดว่าจะเติมเต็มหรือจะจับคู่กับเขาได้

 

การทำงานที่ผ่านมามีข้อผิดพลาดบ้างไหม

ผิดเป็นครู หากผิดมากจะได้เป็น ผอ. การทำผิดเป็นเรื่องสำคัญ ขึ้นอยู่กับเจตนา ถ้าเรามีเจตนาดี หรือพยายามแล้ว แต่ยังผิด เราก็ยอมรับและเรียนรู้กับมัน โอบกอดมัน ละพิจารณาว่าทำอย่างไรไม่ให้ผิดพลาดแบบนั้นอีก

 

ในช่วงแรก บางอย่างที่เราคิดว่าถูก เช่น เมื่อมีเป้าหมายว่าอยากให้เด็กสื่อสารเก่ง เขียน-อ่านอักษรเบรลล์ได้คล่อง เราก็ไปบอกเด็กว่าคนไหนตั้งใจเขียนอักษรเบรลล์ได้เยอะก็จะอัดรูปเพิ่มให้ ปรากฏว่าเด็กก็เขียนอักษรเบรลล์มาเยอะเลยเพื่อขอรูปเพิ่ม ปรากฏว่าสิ่งที่เขาเขียนมาก็คือ ก-ฮ เราเองก็ไม่รู้ว่าเขาเขียนอะไร ทั้งที่เจตนาอยากให้เขาเขียน-อ่านอักษรเบรลล์ ตอนหลังมารู้ว่าสิ่งที่เราทำคือการเอาเหยื่อมาล่อ เห็นผลแค่ในระยะสั้น แต่ระยะยาวมันไม่ดี  หลังจากนั้นเราก็เปลี่ยนทันที ไม่เอารางวัลมาล่อเด็กแล้ว พยายามให้เขางอกงามจากภายใน และถามเหตุผลว่าเขาอยากได้รูปไปทำอะไร และพยายามโน้มน้าวให้เข้าเขียนด้วยการตั้งคำถาม เช่น ถ้าหากมีหลายรูป หนูจะจำได้ยังไงว่ารูปนี้คืออะไร เด็กก็จะรู้ว่าสุดท้ายเขาต้องเขียนเบรลล์ เขาถึงจะผ่านจุดนี้ได้ ครูเองก็ต้องหัดเขียน-อ่านอักษรเบรลล์ เวลาเด็กเขียนผิดจะได้บอกได้

 

คนเคยถามว่าจะสอนคนตาบอดถ่ายภาพไปทำไม และพี่ตอบว่าเขาจะมีความสุข ทุกวันนี้ยังตอบเหมือนเดิมไหม

ยิ่งเราทำก็ยิ่งยืนยันว่าการให้แบบไหนเป็นการให้ที่ให้ที่ยั่งยืน ความสุขมันก็เหมือนกันเนี่ยเราจะหาความสุขได้จากสิ่งภายนอกเนี่ยง่ายมาก เพลง การพูดคุย สิ่งแวดล้อม แต่ว่าความสุขพวกนี้มันอยู่ไม่นานยิ่งนับวันในสังคมเนี่ยความสุขมันต้องแลกมาด้วยเงิน ก็ทำให้คนที่ด้อยโอกาสหรือคนพิการเนี่ย ถูกจัดจำพวกหรือถูกให้ไปอยู่เบียดกลุ่มคนอยู่ล่าง ๆ ค่าคลองชีพที่แพงขึ้นเพราะทุกอย่างมันแลกมาด้วยเงินหมด ในขนาดที่คนพิการเนี่ยไม่ได้โอกาสจากทางสังคมที่เขาจะไม่มีความแตกต่างจากคนทั่วไป แล้วถามว่าแล้วเขาจะมีความสุขอย่างนั้นได้เนี่ยทำไง มันต้องแลกมาด้วยเงิน คือสินค้าบริโภคอุปโภคมันแลกมาด้วยเงินหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยิ่งทำให้เราเห็นมากขึ้นก็คือกระบวนการศึกษา กระบวนการสอนของเราเนี่ยต้องมุ่งจะทำให้เขาจะยื่นยัดด้วยตัวเขาเองได้และขนาดเดียวกันเขาก็ต้องการให้สังคมได้เห็นว่า เราแค่ให้โอกาส

 

 

แล้วทัศคติของสังคมต่างไปจากเมื่อ 10 ปีก่อนไหม

เปลี่ยนไปน้อยมาก ถึงแม้ว่าโครงการเราทำมา 10 ปี ในช่วง 5 ปีแรกออกสื่อเยอะมาก อบรมครูอาสาไปไม่น้อยกว่า 500 คน แต่ก็เหลืออยู่ที่เราไม่ถึง 20 คน ทัศนคติที่คนในสังคมมีต่อคนพิการยังไม่ค่อยได้เปลี่ยนแปลง สังเกตได้ง่าย ๆ คนไม่พิการมาหาคนพิการก็มาแล้วเลี้ยงข้าว เอาของมาให้ มาแล้วก็ไป ของที่เอามาให้ไม่กี่วันก็หมด แล้วถามว่าวันต่อไปเขาจะอยู่ด้วยอะไรถ้าเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

 

การสอนให้เขาช่วยตัวเองได้ก็ต้องสอนให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของสังคม ไม่ใช่สักแต่ว่าสอนอาชีพ แล้วอาชีพนั้นไม่ได้เป็นที่ต้องการ พอเขาทำของที่คนไม่ต้องการออกมา คนที่อุดหนุนก็จะอุดหนุนเพราะความสงสาร ฉะนั้นเราต้องกลับมาทบทวนว่า สิ่งที่เราสอนเขา ให้เขา เป็นการช่วยจริงหรือไม่ ก่อนที่จะบอกว่าคนพิการเป็นภาระของสังคม

 

เป็นครูอาสา ต้องทำอะไรบ้าง

ต้องลงมือทำ และปฏิบัติกับเขาเหมือนคนปกติ เขาสามารถสอยมะม่วง จุดเตา ทำทุกอย่างด้วยตัวเขาเองได้เราต้องมีความอดทนมากพอที่จะสอนให้เขาทำ แม้อาจต้องใช้เวลามากกว่าเราเพราะเขามองไม่เห็น สุดท้ายเขาก็ทำได้

 

ตอนนี้เด็กทุกคนเก่งกว่าพวกเราอีก ครูที่สอนเขาก็บอกว่าเขามัดย้อมเก่งกว่าครูอีก มัดละเอียดและมีความอดทนมากกว่า เพราะฉะนั้นเนี่ยเราพยายามจะใช้จุดแข็งของเขาก็คือความอดทน ทำให้สังคมเห็นอะไรสักอย่างเป็นรูปธรรม ภาพถ่ายของคนตาบอดนั้นดีมาก จนไม่มีไม่มีใครเชื่อว่าคนตาบอดถ่าย ทำไมถ่ายแล้วฟ้าไม่เอียง น้ำทะเลไม่หก กลายเป็นความเคลือบแคลงสงสัย เราก็เลยพยายามทำให้เป็นรูปธรรม ให้แตะไปถึงสิ่งที่เขาใช้ เช่น ถุงผ้ามัดย้อม

 

ก็ลองดูนะ ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นคำตอบที่ถูกต้อง หรือเปล่า แต่เราก็บอกว่าสิ่งที่เราทำเนี่ยมันได้มาจากประสบการณ์ ได้มาจากพื้นฐานขององค์ความรู้ที่มี แล้วเราก็ตัดสินใจทำ

 

 

ทำไมเขาไม่เชื่อว่าคนตาบอดสามารถถ่ายรูปได้

เพราะทุกคนมีกรอบความคิดของตัวเอง เขามองว่ากลไกการถ่ายภาพต้องอาศัยการมองเห็น ถ้าตามองไม่เห็นก็ถ่ายภาพไม่ได้หรือไม่มีทางถ่ายภาพดีแต่จริง ๆ แล้วทุกอย่างเป็นเรื่องของเหตุและผล เช่นเดียวกับการสอนเด็กตาบอดถ่ายภาพที่ไม่ได้อาศัยความฟลุ๊ค แต่เราทดลองและนำวิทยาศาสตร์การถ่ายภาพเนี่ยมาจับคู่กัน การถ่ายภาพได้ระนาบคือการถือกล้องให้ได้ระนาบ และการถือกล้องให้ได้ระนาบก็ต้องมีจุดอ้างอิง โดยเฉพาะคนที่มองไม่เห็นจุดอ้างอิงยิ่งสำคัญมาก เมื่อดูจะเห็นว่าสันกล้องเป็นเส้นตรง และระหว่างคิ้วเราก็เป็นเส้นตรง วางทาบกัน ก็จะได้แนวระนาบ

 

คนตาบอดบางคนไม่รู้ว่าตัวเองคอเอียง และเขาก็ไม่รู้ตัวว่าเอียง เขารู้สึกว่านี่คือโลกความตรงของเขาเราก็จะไม่ไปบอกว่าเขาคอเอียง  เพราะนั่นทำลายตัวตนของเขา เราจึงใช้วิธีบอกว่าหนูอยากได้รูปสวยไหม ถ้าหนูอยากได้มีอุบายนะ ต้องเอียงคอตรงนี้หน่อยแล้วถ่ายรูปจะสวย

 

แล้วปัจจุบันโครงการนี้เป็นที่รู้จักทั่วโรงเรียนตาบอดหรือยัง

รู้จักแต่ก็เสียดาย ที่หลายโรงเรียนมองเราเป็นแค่คนอยากทำความดี ทำจิตอาสา แต่ก่อนเราไปสอนทั่วประเทศ ตอนหลังก็ไม่ไปโรงเรียนไหนที่ไม่ให้ความร่วมมือหรือมีความตั้งใจไปกับเราจริง ๆ ถามว่าเด็กอยากให้เราไปไหม เขาอยาก แต่พอไปเนี่ยเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ความเหนื่อย งบประมาณ  ค่าวัสดุอุปกรณ์การเรียน มันหมดไป เราก็ต้องกลับมาโฟกัสว่า ที่ไหนที่พร้อมจะไปกับเรา เราก็โฟกัสที่โรงเรียนนั้น

 

เหมือนปัญหาจริง ๆ คือโรงเรียนกับครูมากกว่า

พวกผมสอนวิทยาศาสตร์เด็กมา 2 ปี ประยุกต์การสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์กับเด็กตาบอดและจัดให้ครูเนี่ยมาเรียนกับเรา แต่เท่าที่ทราบไม่มีโรงเรียนไหนกลับไปทำต่อ วันที่เราสอนก็รู้เลยว่าการสอนที่มีขาดความละเอียดอ่อนเพราะว่าเด็กตาบอดหลายคนเป็นโรคสมาธิจึงตั้งโจทย์ให้ครูว่าจะสอนเด็กยังไง ครูตอบไม่ได้ เขารู้ว่าเด็กไม่มีสมาธิ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองนั่งเรียนกับผม 10 นาทีก็เริ่มนั่งคุยกัน หยิบมือถือมาเล่น คำถามคือคิดว่าครูมีสมาธิไหม ต่างอะไรกับเด็ก จึงบอกให้เด็กต้องอยู่กับเราเป็นชั่วโมง แล้วเราก็ไปบอกว่าเด็กไม่มีสมาธิ

 

แล้วหากเด็กเป็นสมาธิสั้นคุณรู้ไหมว่าจะต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กยังไงเพราะถ้าคุณวินิจฉัยผิดก็เท่ากับทุบเด็ก ฉะนั้นการมีมูลนิธิ มีโรงเรียน มีเจตนาดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีองค์ความรู้ ใฝ่รู้ เราอยากให้เด็กเป็นยังไงเราก็ทำให้เด็กดูนั่นคือต้นแบบ เหมือนคำไทยเราพูดว่าครูคือพ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ของชาติ

 

ในตอนนี้ยังสอนถ่ายรูปอยู่ไหม

สอนอยู่ แต่ลดบทบาทของการถ่ายภาพน้อยลง อาศัยการถ่ายภาพเป็นเครื่องมือพาเขาออกไปข้างนอกแล้วให้เขาถ่ายรูป แต่เขาต้องกลับมาเล่าเรื่อง สื่อสารได้ สะท้อนว่าการพาไปครั้งนี้เขาได้อะไร เขารู้อะไรบ้าง เขาประทับใจอะไรบ้าง หาทางให้เขาได้สื่อสาร เพิ่มสัดส่วนกระบวนการเรียนรู้เพิ่มขึ้น

 

หลังเริ่มทำมัดย้อม เป็นอย่างไรบ้าง

ปีที่แล้วเขาก็ไม่ได้เก่งขนาดนี้นะ เด็กตาบอดพยายามจะหางาน ทำให้สังคมยอมรับ เราจึงเอางานนี้มาให้เด็กทำ ตอนนี้เขาคล่องมากเลย แต่เมื่อคล่องมากก็แปลว่าองค์ความรู้ที่เราสอนเด็กมันตันแล้ว เขาเก่งกว่าเราอีก ฉะนั้นทั้งครูทั้งเด็กต้องไปหาความรู้เพิ่มเติม กระบวนการทำงานแม้เงินจะเป็นส่วนสำคัญ  แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือทำยังไงให้มีความสุข ถ้าเขามีความสุขกับการทำงานผลงานก็จะสวย คนซื้อก็จะมีความสุขด้วย ถ้าเราทำงานด้วยตัวเองอย่างมีความสุข ผลงานสวยเป็นการส่งต่อความสุข และถ้าคนซื้อไปมีความสุข เขาอาจจจะกลับมาซื้อซ้ำและไม่ได้ซื้อเพราะความสงสาร แต่ซื้อเพราะมันมีคุณค่า

 

 

10 ปีที่คิดไหมว่าจะมาถึงขนาดนี้

ไม่คิดหรอกว่าเราจะมาถึงขนาดนี้ แต่ยิ่งสอนก็ยิ่งตกผลึกมากขึ้น ภาพถ่ายที่ดีที่สุดไม่ใช่ภาพถ่ายที่เกิดจากกล้องถ่ายรูปหรือมือถือ เพราะไอ้พวกนั้นเราเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ หากฮาร์ดดิสเสีย ก็เรียกภาพคืนไม่ได้ แต่ภาพในความทรงจำนึกถึงเมื่อไหร่มันก็มา ไฟฟ้าไม่มีก็มา นึกถึงเมื่อไหร่ความสุขก็มา เราถึงบอกว่าภาพสวยที่สุดคือภาพของความทรงจำดี ๆ  ที่มีอยู่ในตัวผู้คนมากกว่า นี่คือภาพถ่ายที่สวยงามที่สุด

 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก  https://thisable.me/content/2020/02/597

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *