อช. น้ำตกเจ็ดสาวน้อย เปิดจุดกางเต็นท์“ลานนับดาว” เริ่มตั้งแต่ 14 มี.ค. 63
อช. น้ำตกเจ็ดสาวน้อย ประกาศเปิดที่พักค้างใหม่ในอุทยานฯ จุดกางเต็นท์ลานนับดาว ท่ามกลางธรรมชาติ บรรยากาศดี มีการออกแบบตามอารยสถาปัตย์ โดยจะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. 63 เป็นต้นไป
อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ชวนคนรักธรรมชาติไปนอนนับดาวเคล้าเสียงน้ำตก กับที่พักค้างแรมปรับปรุงใหม่ในอุทยานฯ จุดกางเต็นท์ “ลานนับดาว” สถานที่กางเต็นท์ท่ามกลางธรรมชาติ บรรยากาศดี เป็นระเบียบสวยงาม
นายณรงค์ศักดิ์ นามตาปี หน.อช. เจ็ดสาวน้อย
นายณรงค์ศักดิ์ นามตาปี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย เปิดเผยกับ MGR Travel ว่า จุดกางเต็นท์ลานนับดาวมีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ (รวมทางเดินเท้า) โดยจุดกางเต็นท์นี้จะอยู่ใกล้กับน้ำตกเจ็ดสาวน้อยชั้นที่ 5 และขนานไปกับตัวน้ำตก
จุดกางเต็นท์ลานนับดาว ปรับปรุงจากพื้นที่กางเต็นท์เดิม โดยมีการทำทางเดินเท้าให้สะดวกสบายและปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นระเบียบสวยงามมากยิ่งขึ้น สามารถกางเต็นท์ได้ประมาณ 200 หลัง รองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 300 คน
โดยจุดกางเต็นท์ลานนับดาวจะเริ่มเปิดบริการให้นักท่องเที่ยวมากางเต็นท์ค้างแรมใน อุทยานฯ น้ำตกเจ็ดสาวน้อยตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. 63 เป็นต้นไป
จุดกางเต็นท์ลานนับดาว บรรยากาศดี ใกล้ชิดธรรมชาติ (ภาพ : อช. น้ำตกเจ็ดสาวน้อย)
นอกจากนี้ที่ลานนับดาวยังมีอาคารเอนกประสงค์ มีห้องไว้บริการ รวมถึงมีการออกแบบตามอารยสถาปัตย์ รถวีลแชร์สามารถเข้ามาอีกทั้งยังมีห้องน้ำสำหรับผู้พิการอีกด้วย
สำหรับจุดเด่นของจุดกางเต็นท์ลานนับดาว และกิจกรรมน่าสนใจที่ชวนให้นักท่องเที่ยวสนุกเพลิดเพลินนั้น หัวหน้าอุทยานฯ น้ำตกเจ็ดสาวน้อย กล่าวว่า ที่ลานนับดาวจะติดริมน้ำสามารถลงเล่นน้ำได้เลย ในส่วนกิจกรรมนั้น นักท่องเที่ยวสามารถไปชมน้ำตก ชมธรรมชาติวิวภูเขา หรือปั่นจักรยานเล่นได้
ลานนับดาว จุดกางเต็นท์ อช.น้ำตกเจ็ดสาวนน้อย (ภาพ : อช. น้ำตกเจ็ดสาวน้อย)
ขณะที่ลานนับดาวนั้นเนื่องจากเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ในยามค่ำคืนสามารถนอนดูดาวได้ แม้อาจจะไม่เห็นชัดเท่าบนดอยสูงแต่ว่าก็สวยงามและมีเสน่ห์ไปอีกแบบ
“สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมากางเต็นท์นอนที่ลานนับดาว แนะนำให้นำเต็นท์มาเองเพราะจำนวนเต็นท์ที่ทางอุทยานฯ จัดเตรียมไว้อาจไม่เพียงพอ”
ลานนับดาว จุดกางเต็นท์ อช.น้ำตกเจ็ดสาวนน้อย (ภาพ : อช. น้ำตกเจ็ดสาวน้อย)
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว พร้อมพูดถึงมาตรการการป้องกันและรับมือกับไวรัสโควิด-19 ภายของอุทยานฯ น้ำตกเจ็ดสาวน้อยว่า
“เบื้องต้นทางอุทยานฯ มีการดูแลในเรื่องความสะอาดให้มากขึ้น อย่างในห้องน้ำก็จะให้เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดบ่อยขึ้น มีสบู่ล้างมือ ส่วนในอนาคตอาจมีในเรื่องของเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องดูแลสุขภาพของตัวเจ้าหน้าที่เองก่อนให้สุขภาพดีแข็งแรงเพื่อไม่ให้เป็นพาหะ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
อช. น้ำตกเจ็ดสาวน้อย อุทยานแห่งชาติใกล้กรุงฯ
สำหรับอุทยานแห่งชาติเจ็ดสาวน้อย มีพื้นที่ 26,238.00 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 129 ของประเทศไทย ที่ทำการอุทยานตั้งอยู่ หมู่ 9 บ้านแก่งหลุ ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี
อุทยานแห่งชาติเจ็ดสาวน้อย เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกใต้พระบารมีในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ถูกยกฐานะขึ้นมาจากวนอุทยานน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ที่จัดตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2523 โดยกองบำรุงสมัยนั้น เป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งนับตั้งแต่มีการยกฐานะขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติเจ็ดสาวน้อย มีการจัดการที่ดีขึ้นผิดหูผิดตา มีระเบียบ มีความสะอาดมากขึ้น
ลานนับดาว จุดกางเต็นท์ อช.น้ำตกเจ็ดสาวนน้อย (ภาพ : อช. น้ำตกเจ็ดสาวน้อย)
อุทยานแห่งชาติเจ็ดสาวน้อย มีน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เป็นชั้นหินปูนที่สวยงาม 7 ชั้น ไหลลดหลั่นกัน ท่ามกลางบรรยากาศที่ร่มรื่น
นอกจากน้ำตกเจ็ดสาวน้อย อุทยานแห่งนี้ยังมี “สะพานข้ามภาค” เป็นสะพานทางเดินสร้างทอดข้ามระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน โดยมีลำน้ำเป็นตัวแบ่งอาณาเขตของจังหวัดสระบุรีกับนครราชสีมา
สะพานข้ามภาค (ภาพ : เพจ อช.น้ำตกเจ็ดสาวน้อย)
และ“น้ำตกเกาะสีชัง” ที่ตั้งอยู่ห่างจากน้ำตกเจ็ดสาวน้อยประมาณ 1 กม. ซึ่งวันนี้แม้น้ำตกเกาะสีชังจะยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายของนักท่องเที่ยว แต่ว่าก็เป็นน้ำตกที่มีความชุ่มฉ่ำสวยงามน่าเที่ยวไม่น้อย
นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ยังเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีการนำร่องอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องของ “อารยสถาปัตย์” เพื่อผู้พิการในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ (เช่นเดียวกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่)
ทางลาดอารยสถาปัตย์เพื่อผู้พิการใน อช.น้ำตกเจ็ดสาวน้อย (ภาพ : เพจ สำนักอุทยานแห่งชาติ)
โดยภายในอุทยานฯ น้ำตกเจ็ดสาวน้อย ได้มีการจัดทำทางลาดสำหรับรถเข็นวีลแชร์เพื่อผู้พิการอยู่ในหลายจุดด้วยกัน ได้แก่ ที่ลานจอดรถ, ห้องน้ำสำหรับผู้พิการ 2 แห่ง, ศูนย์รักษาความปลอดภัย (เพื่อให้ผู้พิการได้ไปแจ้งเหตุหรือขอความช่วยเหลือได้สะดวก), ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (เพื่อให้ผู้พิการได้ไปสอบถามข้อมูลในด้านต่าง ๆ ได้สะดวก), เส้นทางขึ้นไปชมน้ำตก ซึ่งทำเป็นทางลาดให้ผู้ที่ต้องใช้วีลแชร์สามารถขึ้นไปได้ถึงชั้น 4 และจุดชมวิวที่ข้ามไปทางฝั่งนครราชสีมา นอกจากนี้ทาง อช.น้ำตกเจ็ดสาวน้อยยังมีวีลแชร์ให้บริการนักท่องเที่ยวอีก 3 คัน