โรคหายาก กับ การเข้าถึงอย่างเท่าเทียมในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ในปี 2562 สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติได้ปลดล็อค 24 โรคหายาก เข้าสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ด้วยความหลากหลายของกลุ่มโรคหายาก จึงยังคงครอบคลุมไม่ทั่วถึงโรคหายากที่ในปัจจุบันมีมากกว่า 7,000 โรคทั่วโลก
โรคหายาก หากวินิจฉัยและรักษาช้าจะทำให้มีผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถเข้าถึงการรักษา เนื่องด้วยสิทธิในการรักษาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ สปสช. ยังครอบคลุมไม่ทั่วถึงโรคหายากอื่นๆ อาทิ โรคพอมเพ, โรคเอ็มพีเอสชนิดที่ 1, โรคเอ็มพีเอสชนิดที่ 2, โรคพราเดอร์-วิลลี่, โรคหายากทางผิวหนัง, โรคทางระบบประสาท และโรคกล้ามเนื้อหัวใจโต เป็นต้น
ศ.พญ.ดวงฤดี วัฒนศิริชัยกุล ประธานเครือข่ายเวชพันธุศาสตร์ฯ และกุมารแพทย์โรคพันธุกรรมของโรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า 80% ของโรคหายาก มีสาเหตุมาจากทางพันธุกรรม จึงทำให้ป้องกันได้บางโรคเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าพันธุกรรมของพ่อหรือแม่ผิดปกติเสมอไป บางกรณี เป็นการกลายพันธุ์เกิดขึ้นใหม่ เป็นอุบัติเหตุทางพันธุกรรม ถ้ากรณีแบบนั้นยากที่จะป้องกัน แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว วินิจฉัยเร็ว อาจจะมีทางแก้ไขต่อไป โรคหายากอีกจำนวนหนึ่งเป็นพันธุกรรมแบบที่พ่อและ/หรือแม่มียีนแฝงอยู่ ปัจจุบันจึงเริ่มมีการตรวจยีนแฝงหลายโรคก่อนมีบุตรแต่ยังมีข้อจำกัดหลายประการ การตรวจคัดกรองโรคในเด็กแรกเกิดจึงยังมีความสำคัญและจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้น
“กลุ่มโรคหายากสามารถรักษาให้หายได้บางโรค แต่ใน 7,000 โรค มีเพียง 5-6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มียารักษา ยาหนึ่งตัวอาจจะรักษาแค่ 3 – 10 คนในประเทศ หรือยาบางตัวอาจจะรักษาเป็นหลักร้อยคน หากเทียบกับยาทั่วไปที่มีคนใช้เยอะ กลับเสียค่าขึ้นทะเบียนและใช้เวลาถึง 2 ปีเท่ากัน ดังนั้นในต่างประเทศทีมีระบบการดูแลรักษาโรคหายากจึงใช้วิธีสนับสนุน เช่น มาตรการทางภาษีสำหรับบริษัทที่คิดค้นยาโรคหายากเพื่อเป็นแรงจูงใจในการพัฒนายา และให้สิทธิในการขยายเวลาในการจำหน่ายยา อย่างไรก็ตาม ยารักษาโรคหายากในประเทศไทย ขึ้นทะเบียนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ที่เหลืออีก 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเพราะขายได้น้อย ทำให้แพทย์ที่รักษาโรคหายากต้องขอบริจาคยาจากต่างประเทศ หรือหาซื้อกันเอง ซึ่งมีจำกัด จึงอยากวิงวอนให้องค์การอาหารและยา รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข หาแนวทางช่วยเหลือใจการจัดหายาเหล่านี้ให้มีในประเทศและอยู่ในระบบที่เบิกจ่ายได้ รวมถึงการสำรองยาฉุกเฉินในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ด้วย”
ปรียา สิงห์นฤหล้า ประธานมูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก ประเทศไทย ในฐานะคุณแม่ที่มีลูกป่วยเป็นโรคหายาก กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับโรคหายากของบ้านเรายังขาดอยู่ การก่อตั้งมูลนิธิเมื่อ 2 ปีก่อนจึงเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้พบโรคหายากมากขึ้นกว่า 300 โรค รวมถึงการเข้าถึงยา แพทย์ ค่าใช้จ่าย การสร้างเครือข่ายเพื่อรวมพลังผู้ป่วย โดยในเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา มีการขับเคลื่อนจนเป็นรูปธรรม เกิดการปลดล็อค 24 โรคหายากแรกให้อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยในเฟสต่อไป เราจะพยายามรวบรวมจำนวนผู้ป่วยโรคหายากจากทั่วประเทศเพื่อให้ได้สถิติข้อมูลมากที่สุด สร้างเครือข่ายให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงสร้างชมรมผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะเราต้องดูว่าทำอย่างไรให้ประตูเปิดกว้างขึ้น ครอบคลุมกลุ่มโรคหายาก ยารักษาโรค และการตรวจมากขึ้น เพราะเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เมื่อเดือนตุลาคม 2562 สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ ได้ขยายสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง ครอบคลุม 24 โรคหายากแรกซึ่งเป็นโรคพันธุกรรมเมแทบอลิก ชนิดความผิดปกติของสารโมเลกุลเล็ก ที่มีอาการรวดเร็ว รุนแรง ฉุกเฉิน แต่สามารถรักษาและป้องกันการเกิดซ้ำได้ โดยเริ่มใช้สิทธิได้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถวินิจฉัยได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยต่างจังหวัด
โดยแพทย์ที่โรงพยาบาลต้นทางจะได้รับคู่มือแนวทางในการพิจารณาอาการเบื้องต้นที่อาจเป็นโรคหายาก และสามารถส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้รวดเร็วมากขึ้น โดย 7 สถาบันหลักที่สามารถดูแลผู้ป่วย 24 โรคพันธุกรรมเมแทบอลิกข้างต้น ได้แก่ รพ.จุฬาลงกรณ์, รพ.ศิริราช, รพ.รามาธิบดี, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ, รพ.พระมงกุฎเกล้า, รพ.ธรรมศาสตร์ และรพ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น อย่างไรก็ตาม สิทธิดังกล่าว ครอบคลุมเฉพาะผู้ป่วยใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการขยายให้ครอบคลุมมากขึ้นต่อไป
นพ. จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องได้สิทธิขั้นพื้นฐาน ป้องกันการล้มละลายจากการรักษาพยาบาล เรื่องโรคหายาก การประกาศเป็นสิทธิประโยชน์ งบประมาณจะไม่เปล่าประโยชน์อย่างแน่นอน สิทธิจะเป็นของประชาชน ที่ผ่านมาเรามีการขับเคลื่อนทั้งหาคำนิยาม, คำจำกัดความ และการจัดการระบบบริการ ตั้งแต่เครือข่าย เพื่อให้คนที่อยู่ใกล้เข้าถึง เกิดการดูแลรักษา และส่งต่อ ทำอย่างไรให้เกิดการป้องกัน หากเกิดโรคแล้วไม่พิการ หรือภาวะแทรกซ้อน เป็นสิ่งที่เราต้องคิดต่อ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน
“นอกจากนี้ ต้องพยายามค้นหาผู้ป่วย โดยการสร้างเครือข่าย เก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลศูนย์ และทำให้แพทย์เข้าใจถึงสิทธิประโยชน์ ลดภาระให้โรงพยาบาล ลดการผลักภาระให้ผู้ป่วย เรามีคณะทำงานบัญชียาหลักแห่งชาติที่พิจารณาตามเกณฑ์และเงื่อนไขโดยมองเรื่องความคุ้มค่า ประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงต้องคิดยุทธศาสตร์ด้านการจัดการโดยเฉพาะเรื่องราคา ขอให้มีความเชื่อมั่นและศรัทธา ว่าพวกเรากำลังทำงานใหญ่และมีเป้าหมายชัดเจน ต้องไม่ท้อถอย เราทำวันนี้ไม่ได้เพื่อตัวเรา แต่ทำเพื่อเด็กที่เกิดขึ้นมาใหม่และคนที่ยังไม่เข้าถึง”
ร.ต.อ.นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงนายแพทย์ทรงคุณวุฒิและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้โรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่งมีศักยภาพในการรับมือหลายโรค เชื่อว่าเรื่องนี้หากไม่เกิดขึ้นกับใคร คงไม่ตระหนัก การดูแลเรื่องโรคหายาก ยังต้องมีรายละเอียดอีกหลายเรื่องและเชื่อว่าอนาคตจะทำได้ดีขึ้น รวมถึงการที่พบว่าแพทย์ต้องหิ้วยามาเองจากต่างประเทศเพื่อนำมาช่วยผู้ป่วยโรคหายาก แต่โดนศุลกากรจับตรวจ ไม่ควรให้เกิดขึ้นอีกเด็ดขาด เรื่องเหล่านี้ควรจะต้องนำมาพิจารณาแก้ไขช่วยเหลือ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะต้องนำมาหารือกันเพื่อหาแนวทางร่วมกัน
เฌอ (นามสมมุติ) วัย 29 ปี ผู้ป่วยโรคพอมเพ (Pompe) เป็นหนึ่งในโรคพันธุกรรมกลุ่มแอลเอสดี ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคหายาก เกิดจากการขาดเอนไซม์ที่ย่อยสลายสารโมเลกุลใหญ่ที่เรียกว่า ไกลโคเจน ซึ่งอยู่ในเซลล์โดยเฉพาะเซลล์กล้ามเนื้อและกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งปัจจุบัน โรคนี้ยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง เล่าว่า ได้ตรวจพบว่าตนป่วยเมื่อ 10 ปีก่อน เนื่องจากรู้สึกเหนื่อยง่าย, ปวดท้องบ่อย จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หมอสังเกตเห็นว่าอาการคล้ายกับคนเป็นโรคพอมเพจึงขอเจาะชิ้นเนื้อส่งตรวจที่ รพ.จุฬาฯ ร่วมกับเจาะเลือดส่งไปตรวจที่ประเทศไต้หวัน ผลออกมาว่าเป็นโรคนี้ ซึ่งโรคนี้ทำให้กล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจอ่อนแรง ตอนนอนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งน้องชายคนเล็กก็ตรวจพบว่าเป็นโรคพอมเพเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรม
ปัจจุบัน เฌอต้องออกจากงานประจำมาทำอาชีพอิสระ เนื่องจากไม่สามารถทำงานที่ใช้แรงมากๆ ได้ รวมถึงต้องลางานบ่อยๆ เพื่อมาพบแพทย์ สำหรับการรักษาต้องให้ยาเอนไซม์ทดแทนทุกๆ 2 สัปดาห์ไปจนตลอดชีวิต ซึ่งยามีราคาสูง ขวดละราวๆ 7 หมื่นบาท ในช่วงแรกได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทที่ผลิตยา กระทั่งตอนนี้ รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้ช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากครอบครัวไม่สามารถจ่ายค่ารักษาในส่วนนี้ได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่อยากให้ทางรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยสนับสนุน
“อยากจะฝากบอกภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า อยากให้เห็นถึงความสำคัญกับบางโรคที่คนเป็นน้อยแต่ค่าใช้จ่ายแพงมาก อยากให้คุณหมอได้มีความรู้และข้อมูลเพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะหากวินิจฉัยได้เร็ว ก็จะเป็นประโยชน์มากกับผู้ป่วย รวมถึงเรื่องการรณรงค์ให้คนได้รับรู้มากขึ้น ให้คนไทยได้ตระหนัก และรู้ตัว เพื่อให้รักษาทัน รวมถึงอยากให้มีสิทธิรักษาที่ครอบคลุม เพื่อให้คนที่ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น”
และนี่คือเสียงสะท้อนถึงปัญหาจากผู้ที่เป็นโรคหายาก ที่หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต โรคหายาก จะมีสิทธิรักษาที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้ง ยารักษาโรค และการตรวจที่มากขึ้น ไม่ใช่เพียง 24 โรคหายากในปัจจุบันเท่านั้น
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก https://www.springnews.co.th/alive/lifestyle/631516