“บิ๊กตู่”ประกาศแล้วพรก.ฉุกเฉิน! สู้ภัยโควิด-19 เป็นเวลา 1 เดือน เริ่ม 26 มี.ค. ถึงปลายเดือนเม.ย.

 

วันที่ 24 มี.ค.2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในรูปแบบใหม่ จากเดิมรัฐมนตรีทุกคนจะต้องมาประชุมร่วมกันที่ทำเนียบรัฐบาล แต่วันนี้เป็นการประชุมผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ ที่ห้อง 301 ตึกบัญชาการ โดยที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ประกาศเคอร์ฟิว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ไปจนถึงปลายเดือนเมษายน เป็นระยะเวลา 1  เดือน โดยเบื้องต้นจะใช้ 14 มาตราในการควบคุมสถานการณ์

 

หลังจากนั้นเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้แถลงข่าวด่วนที่ทำเนียบรัฐบาล  ในการประกาศนำพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการแผ่นดินในสถาการณ์ฉุกเฉิน (ประกาศเคอร์ฟิว) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ที่ล่าสุดไทยพบผู้ป่วยสะสม 827 ราย เสียชีวิต 4 ราย และมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องดังกล่าว

 

โดยระบุว่า ที่ประชุมมีมติให้ประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะประกาศใช้วันที่ 26 มี.ค. นี้ เมื่อประกาศแล้วจะจัดตั้งคณะกรรมการที่รับผิดชอบต่อไป

 

สำหรับสาระสำคัญของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีทั้งหมด 19 มาตรา

 

มาตรา 4 ในพระราชกำหนดนี้ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบ หรือ อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือ อาจทำให้ประเทศ หรือ ส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือ การกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบ หรือ การสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้นครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือ การป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง

มาตรา 5 วรรคสอง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด “แต่ต้องไม่เกินสามเดือนนับแต่วันประกาศ”

 

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศขยายระยะเวลาการใช้บังคับออกไปอีกเป็นคราว ๆ คราวละไม่เกินสามเดือน

 

มาตรา 5 วรรคสาม เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงแล้ว หรือ เมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ หรือ สิ้นสุดกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น

 

มาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินคณะหนึ่ง ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ

 

มาตรา 9 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือ ป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด

 

(1) ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ เป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น

(2) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ

(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

 

มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกมาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.banmuang.co.th/news/politic/185129

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *