เปิด 8 มาตรการเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจ จากปัญหาโรคระบาด โควิด 19 แจกเงินคนละ 5,000 บาท – ให้สินเชื่อฉุกเฉินดอกเบี้ยต่ำ – ยืดการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงมาตรการระยะที่ 2 ในการดูแลเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จากกรณีที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด โควิด 19 สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อเป็นการสกัดเชื้อไวรัสโคโรน่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม เป็นต้นไป
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Live NBT2HD
โดย มาตรการระยะที่ 2 สำหรับเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน มีทั้งสิ้น 8 มาตรการ ได้แก่..
เพิ่มสภาพคล่อง
1. สนับสนุนเงิน คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) : ให้เงินเยียวยาแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ระบบประกันสังคม จากการปิดที่เสี่ยงต่อการระบาดชั่วคราว จำนวน 3 ล้านคน
สำหรับผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม : เพิ่มสิทธิกรณีว่างงาน 50 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้าง โดยกรณีนายจ้างไม่ให้ทำงาน รับเงินไม่เกิน 180 วัน และกรณีรัฐสั่งหยุด รับเงินไม่เกิน 90 วัน โดยธนาคารกรุงไทย จะเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ
2. สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อราย : วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.1 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
3. สินเชื่อพิเศษ 50,000 บาทต่อราย : โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อ วงเงิน 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.35 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน มีหลักประกัน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
4. สำนักงานธนานุเคราะห์ รับจำนำดอกเบี้ยต่ำ : เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบ โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกิน 0.125 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ระยะเวลา 2 ปี
ลดภาระ
5. ยืดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : เลื่อนกำหนดเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2563
6. หักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น : เพิ่มวงเงินลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท เมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป
7. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์
เพิ่มทักษะ
8. ฝึกอบรมมีเงินใช้ : ฝึกอบรม เพิ่มทักษะอาชีพหรือจัดกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้, ขยายฝึกอบรมผ่านภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือกองทุนหมู่บ้าน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เฟซบุ๊ก Live NBT2HD
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก https://money.kapook.com/view222858.html