เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกต่างเฝ้าระวังและตื่นตระหนก เช่นเดียวกับคนพิการ คนแก่และเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งที่คนมักเรียกรวมๆ ว่ากลุ่มเปราะบาง พวกเขานั้นมีความเสี่ยงที่จะอาการหนักมากกว่ากลุ่มอื่นหากได้รับเชื้อเข้าไป
ชวนคุยกับนายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ถึงสถานการณ์ของโควิด-19 ความรุนแรง การปฏิบัติตัว และการดูแลตัวเองของคนกลุ่มเปราะบาง รวมไปถึงคนรอบข้างว่าพวกเขาควรจะต้องรับมือกับการระบาดครั้งใหญ่นี้อย่างไร
โควิด-19 คืออะไร
นายแพทย์อนุพงศ์: ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โควิด-19 เป็นโรคใหม่ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ การระบาดของโรคนี้เริ่มต้นที่อู่ฮั่น ประเทศจีน หลังจากนั้นก็กระจายออกไปทั่วโลก จากภายในจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สู่ศูนย์กลางการระบาดที่ยุโรป ดังจะเห็นจากสถานการณ์ในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์และอังกฤษ อัตราการเสียชีวิตของคนในอิตาลีมีมากกว่าประเทศจีน ขณะที่ยอดรวมผู้ป่วยติดเชื้อในจีนมี 80,000 กว่าคน เสียชีวิตอยู่ที่ 3,000 กว่าคนแต่ยอดรวมอิตาลีอยู่เกือบ 30,000 คน แต่เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน
นอกจากนี้แต่ละประเทศก็มีความพร้อมเรื่องการจัดการไม่เท่ากัน เนื่องจากเป็นโรคใหม่ เรารู้จักผู้ป่วยมากขึ้นผ่านอาการทางคลินิกจากจีน และมีข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการตรวจระดับสารพันธุกรรมจึงจะรู้ว่าลำดับสารพันธุกรรมของโควิด-19 หรือซาร์-โควี-2 เป็นเชื้อตัวเดียวกันกับซาร์-โคโรน่าไวรัสที่ทำให้เกิดเกิดโรคซาร์ในปี 2002-2003 จนมีคนเสียชีวิตไปประมาณ 700-800 คน หลังจากนั้นมาเชื้อดังกล่าวก็อยู่ไม่ได้และสูญหายไป อย่างไรก็ดีปัจจุบันซาร์-โควี-2 ปรากฏขึ้นมาและค่อนข้างรุนแรงมากขึ้น ขยายตัวทั่วโลก จนกลายเป็นสถานการณ์ Global Pandemic หรือการระบาดทั่วโลก
ความรุนแรงของโรค
อาการทางคลินิกหรืออาการป่วยส่วนใหญ่ที่ทำให้คนมาหาหมอเกือบ 80% เป็นอาการเบาและ 20% เป็นอาการรุนแรง ใน 20% นั้นมี 5-6% ที่ปอดอักเสบรุนแรงจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ข้อมูลยังแสดงให้เห็นอีกว่า บุคคลที่เสี่ยงสูงคือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวร่วม ไม่ว่าจะเป็นความดันสูง เบาหวานหรือโรคหัวใจล้วนเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต แต่เนื่องจากโรคนี้เกิดขึ้นใหม่ทุกคนไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค จึงมีโอกาสติดเชื้อเหมือนกันทุกคนแต่ความรุนแรงไม่เท่ากัน เด็กก็ติดได้ แต่อาการไม่รุนแรง คล้ายๆ หวัดน้ำมูก แต่เชื้อยังไม่ได้โจมตีปอดหรือถุงลมปอด อย่างที่บอกว่า แม้ 80% จะไม่รุนแรงแต่ก็ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงบริการตรวจ จากที่ไม่รุนแรงอาจมีปัจจัยร่วมบางอย่างที่ทำให้กลายเป็นผู้ป่วยรุนแรงได้
ตอนนี้เรามียาต้านไวรัสแล้ว และพยายามที่จะจัดแจงให้กับเคสที่รุนแรง โดยยาดังกล่าวมาจากประเทศญี่ปุ่นและจีน ตั้งแต่ตอนที่ญี่ปุ่นผลิตเพื่อไว้รักษาโรคซาร์ อีกส่วนได้มาจากการเป็นเพื่อนที่ดีกับจีน อย่างไรก็ตาม ยายังถือว่ามีจำกัดโดยเฉพาะในสถานการณ์ขณะนี้ของเราผ่านระยะการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศโดยนักท่องเที่ยว ทั้งจากอู่ฮั่น หรือคนไทยที่ไปอู่ฮั่น อีกทั้งเราไม่ได้ห้ามเดินทางท่องเที่ยว จึงยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเรื่อยๆ เกิดการระบาดระยะที่ 2 หรือเฟส 2 คือมีการติดเชื้อจากคนไทยสู่คนไทยด้วยกัน มีลักษณะเกี่ยวพันเป็นกลุ่มก้อน กลุ่มก้อนแรกคือกลุ่มสถานบันเทิงที่ทองหล่อ หลังสวนและสุขุมวิท อีกก้อนคือสนามมวย ทั้งรายการต่อเนื่องวันที่ 5 และ 6 มีนาคม ในสนามมวยลุมพินีและรามอินทรา ซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างประเทศเข้าชม จากวันที่ 6 มีนาคมถึงวันนี้ แม้จะพ้นระยะเวลา 14 วันแล้ว แต่เราก็ยังเจอผู้ป่วยจากสนามมวย แสดงให้เห็นว่า เมื่อได้รับเชื้อร่างกายจะสู้ เราไม่รู้เลยว่าจะออกอาการเมื่อไหร่ และการออกอาการไม่จำเป็นต้องมีไข้ทุกคน มีเพียง 40-50 % เท่านั้นที่มีไข้ การไม่มีไข้จึงไม่ได้การันตีว่าไม่มีเชื้อ
การกักตัวเอง 14 วันถือเป็นมาตรการเบื้องต้น และเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล บางคนก็ไม่ให้ความร่วมมือในช่วงแรกที่เราสู้เฟส 2 แต่พอเรารู้ว่า ต้องเข้าเฟส 3 อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็พยายามออกประกาศกระทรวงเรื่องเขตติดโรคตามกฎหมาย โดยไม่รับคนจากจีน เกาหลีใต้ อิตาลีและอิหร่าน และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามกฎหมายมีอำนาจติดตามคนเดินทางกลับมาตลอดระยะเวลา 14 วัน
คนต้องปรับตัวอย่างไร
ในตอนนี้คนคือตัวเชื้อโรค ถ้าตัวเชื้อโรคมีการเดินทาง มีการไปสังสรรค์ชุมนุมและปล่อยเชื้อในชุมชน เชื้อจะระบาด แต่หากมีเชื้ออาการเบาก็สามารถยู่ดูแลตัวเองที่บ้านแยกจากคนอื่น หากอาการดีขึ้นจึงสามารถเจอคนอื่น สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือต้องดูแลรับผิดชอบสังคมด้วยการใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก็เพียงพอแล้ว จะช่วยให้เอาโรคออกไปน้อยลง
ในตอนนี้สถานการณ์การปิดสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทำให้คนทะลักกลับต่างจังหวัด ทั้งที่เราคาดคะเนว่าอาจเกิดในช่วงสงกรานต์ สิ่งที่เรากังวลที่สุดก็คือเชื้อจะเคลื่อนย้าย เพราะเมืองหลวงมีคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยมาก เมื่อคนออกไปใครบางคนที่มีเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการอาจกลับบ้านและไม่ได้แยกตัว 14 วัน เขาไม่ได้ถูกบังคับให้กักเพราะไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย แต่คนจากกรุงเทพฯ คือคนทั่วไปที่บางคนอาจจะมีเชื้อและบางคนก็ไม่มี แต่เราไม่รู้หรอกว่าใครมีใครไม่มี สิ่งที่เราเห็นคือทุกคนก็ไปรวมกันที่หมอชิต สายใต้ ใช้รถขนส่ง 8-12 ชั่วโมงในสิ่งแวดล้อมแคบๆ แอร์คอนดิชันเดียวกัน ทำให้มีโอกาสที่จะแลกเชื้อกัน ฉะนั้นคนที่กลับไปแล้วก็ถือว่าท่านเสี่ยงแล้ว ควรกักตัวเองที่บ้าน 14 วันก่อนเจอญาติผู้ใหญ่หรือเด็กๆถ้าท่านรักเขาท่านต้องอยู่ห่างๆ เขา เว้นระยะห่างทางสังคม
คนที่เป็นประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการหรือคนที่นอนติดเตียง กลุ่มนี้หลายคนภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าคนอื่น ฉะนั้นการที่พี่น้องประชาชนจากกรุงเทพฯ ออกไป อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อคนเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมแต่ก็เกิดขึ้นแล้ว คนที่ยังไม่กลับหรือคิดว่าจะกลับภายในสัปดาห์ก็ขอร้องว่าท่านอย่ากลับเลย ท่านอยู่ที่กรุงเทพฯและเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อที่ทำให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายกว่านี้
สำหรับคนพิการ ผมเข้าใจว่าแต่ละสมาคมน่าจะต้องมีช่องทางในการสื่อสารซึ่งกันและกัน สิ่งที่ปฏิบัติเพิ่มจริงๆ ก็ไม่ได้มากกว่าคนทั่วไป ถ้าสัมผัสอะไรก็ต้องล้างมือด้วยสบู่ มีแอลกอฮอล์เจลติดไว้ หน้ากากอนามัยต้องไม่ขาด ฉะนั้นผมคิดว่า คนพิการควรได้รับการสนับสนุนเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆ และถ้าไม่มีการสนับสนุนเกิดขึ้น ควรเรียกร้องไปที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
อาการแบบไหนคือโควิด-19
ในสถานการณ์ที่เรายังอยู่เฟส 2 สิ่งสำคัญที่สุดที่ดูคือคุณไปเกี่ยวข้องกับแหล่งแพร่โรคยังไง ถ้าคุณไม่มีประวัติเกี่ยวข้องอะไรกับการแพร่โรคเลยโอกาสป่วยน้อยมาก ตอนนี้แหล่งแพร่โรคก็จะมีหลักใหญ่ ที่สนามมวย สถานบันเทิง พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมศาสนาที่กัวลาลัมเปอร์ รวมไปถึงคนไทยที่กลับจากปอยเปต
สำหรับคนธรรมดาทั่วไปโควิด-19 ไม่ได้ติดง่ายหากจะติดต้องโดนคนที่มีเชื้อจามใส่หน้าในระยะ 1-2 เมตร โอกาสที่เดินสวนกันแล้วติดนั้นมีน้อย ฉะนั้นวิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุดคือทุกคนใส่หน้ากากอนามัยตั้งแต่ต้น ทั้งป่วยและไม่ป่วย เราเรียนรู้เรื่องนี้ตั้งแต่มีไข้หวัด 2009 ซึ่งขัดแย้งกับฝั่งตะวันตกที่มองว่าคนใส่หน้ากากคือคนป่วย อาจเพราะความรู้ของคนตะวันตกมีมากกว่าโดยเฉลี่ยและมีวินัยมากกว่าคนไทยที่ขอความร่วมมือก็เฉยๆ คุณก็ไม่ให้ความร่วมมือเต็มที่ตั้งแต่ไข้หวัด 2009 จึงบอกว่าถ้าคุณไม่ป่วยก็ใส่ป้องกันตัวเอง ไม่ได้ผิด และใส่หน้ากากผ้าก็พอสำหรับผู้คนทั่วไปเพราะเราเจอภาวะขาดแคลนโรงงานผลิต
หน้ากากที่ขาดแคลนและการกักตุนสินค้า
หน้ากาก n95 สามารถผลิตได้เพียงโรงงานเดียวในประเทศไทย จึงทำให้ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่พอ หน้ากากอนามัยจึงควรใช้เพียงเวลาออกไปที่ชุมชนหรือเวลาที่สงสัยว่าตัวเองป่วย เป็นหน้ากากผ้าก็เพียงพอแล้ว นอกจากนี้ควรล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ และสามารถใช้แอลกอฮอล์เจลบ้างเมื่อไม่สะดวกล้างมือ
มีตัวอย่างดีๆ จากต่างประเทศที่อำนวยความสะดวกให้คนสูงอายุซื้อของก่อน เราต้องคิดให้ครบวงจร อาจให้คนแก่ คนพิการ หมอและพยาบาลซื้อก่อนเพราะเขาเป็นกลุ่มที่ต้องทำงานตลอด คนออกนโยบายต้องกล้าคิดจัดการเรื่องพวกนี้ ถ้าเราสร้างความเชื่อมั่นว่า ร้านอาหารไม่ได้ปิด ช้อปปิ้งมอลล์ไม่ได้ปิด ร้านของชำ ซุปเปอร์มาร์เก็ตยังเปิดตลอดและมีของตลอด มีตัวชี้วัดว่าแค่ไหนคือการกักตุน ก็ไม่อนุญาตขาย เพื่อกระจายสินค้าให้คนที่ต้องการได้อย่างทั่วถึง ถ้าทำแบบนี้ได้ก็จะเกิดความมั่นใจว่าของจะไม่ขาด เมื่ออยากได้ก็ไปซื้อ
สถานการณ์และจำนวนที่เพิ่มขึ้น
จากรายงานเมื่อวันที่ (23 มีนาคม) เพิ่มขึ้น 122 คน รวมแล้วมี 722 คน เป็นตัวเลขกราฟช่วงขาขึ้น พร้อมที่จะท้าทายพวกเราทุกคน จุดนี้เป็นจุดเวลาทอง ถ้าเราไม่ช่วยกันก็จะมีเคสพุ่งขึ้นเหมือนกับอิตาลีหรืออิหร่าน แต่ถ้าเราช่วยกันและเข้าใจความปรารถนาดีตามแคมเปญ ‘หยุดอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ จะทำให้สถานการณ์การพุ่งเป็นกราฟเอกซ์โพเนนเชียลนั้นเบี่ยงขวา หน่วงช้าๆ ก่อนเข้าสู่เฟส 3 ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรุนแรงสามารถเข้าสู่ระบบโรงพยาบาลที่มีอยู่อย่างจำกัดได้เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นห้องแยกโรคความดันลบซึ่งป้องกันไม่ให้เชื้อออก ซึ่งห้องเหล่ามีสำหรับผู้ป่วยหนักในไทยมีเพียง 200-300 ห้อง และเราไม่สามารถสร้างโรงพยาบาลสนามภายใน 10 วันเหมือนกับจีนได้ และอาจไม่มีความจำเป็นต้องทำแบบนั้นหากคนหยุดอยู่บ้าน ปัจจุบันการปิดสถานที่ต่างๆใช้เกณฑ์ 14 วัน เรายังไม่ถึงขั้นล็อคดาวน์ แต่ชัตดาวน์บางอย่าง หากมีการล็อคดาวน์อย่างจริงจังเหมือนอู่ฮั่น จะต้องห้ามคนนอกเข้า ห้ามคนในออก ปิดการเดินทางสาธารณะทั้งหมด
ในเฟส 3 นิยามไว้ว่า เป็นการระบาดหรือการกระจายของเชื้อในวงกว้าง คำว่าวงกว้างคือต้องเกิดหลายที่โดยที่ไม่มีอะไรสัมพันธ์กันเลย อย่างตอนนี้มี 2 แหล่งใหญ่ทำให้เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ยังสามารถหาความเชื่อมโยงของการเกิดโรคระบาดได้ หากคนใกล้ชิดไม่ป่วยในระยะ 14 วันก็แปลว่าเคลียร์ แต่หากมีคนป่วยที่เชียงใหม่ นครนายกและลพบุรีโดยไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศและไม่มีประวัติมาที่สนามมวยหรือไปทองหล่อและเกิดเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ทำให้อีกหลายคนในเชียงใหม่ติดเชื้อ หรือแม้แต่กรณีที่ควบคุมสนามมวยไม่จบในเจเนเรชันที่ 1 เกิดเป็นเจเนอเรชันที่ 2 3 และ 4 ก็แปลว่าเกิดการระบาด เมื่อนั้นก็ประเทศไทยเข้าสู่เฟส 3 และจะมีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลถ้าหากไม่ได้มีการเตรียมการที่ดี
การรับมือคนติดเชื้อเป็นอย่างไร
เมื่อเจอผู้ป่วย ทีมสืบสวนจะต้องซักประวัติว่า ระหว่างป่วยและก่อนป่วยเขาไปที่ไหนมาบ้าง เจอใคร เกี่ยวข้องกับใคร และเก็บตัวอย่างเชื้อในคนใกล้ชิด หากเก็บแล้วไม่มีใครป่วยก็โชคดี แปลว่าเราน็อคดาวน์จบที่นั่น แต่ถ้าเจอก็เอาเข้ามารักษาแต่เนิ่นๆ ไม่ให้แพร่เชื้อต่อ
ถ้าพูดถึงการรักษาในแบบอุดมคติ ห้องแยกความดันลบน้ันดีที่สุด แต่ว่าเราไม่ได้มีห้องความดันลบเยอะ ห้องความดันลบและห้องที่ดัดแปลงเป็นห้องแยกความดันลบมีอยู่ประมาณ 200-300 ห้อง และมีห้องแยกแบบพิเศษสามารถเอาคนเข้าไปอยู่ได้จำนวนหนึ่ง การคาดกรณ์ของอาจารย์ศิริราชระบุว่าใน 30 วันจะมีคนเสียชีวิตประมาณ 4,485 คน มีคนป่วยอาการหนักประมาณ 17,000 คน ถ้าทั้งหมดถูกกระจายตัวก็ยังสามารถรับมือได้ แต่ถ้าทั้งหมดอยู่ที่กรุงเทพฯ เราไม่สามารถรับมือได้ถึงแม้จะรวมทรัพยากรและโรงพยาบาลของรัฐ กทม.หรือเอกชนก็แล้ว ทรัพยากรก็ยังอาจจะอยู่แค่หลักพันต้นๆ
ถึงเวลานั้นเราอาจต้องจำแนกผู้ป่วย กรณีรุนแรงต้องห้องแยกโรคหรือห้องเรียกความดันลบ ต้องบริหารจัดการส่งต่อผู้ป่วยตามไปตามโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ เช่น โรงพยาบาลราชวิถีทรวงอกและนพรัตน์ คนป่วยน้อยถ้าไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้เราก็มีคอนเสปต์ที่เรียก วอร์ดสามัญ สำหรับผู้ติดเชื้อ 14 วัน
หากถามว่า จะรับมือคนพิการป่วยคนติดเตียงอย่างไร ก็ต้องบอกว่ายากมากที่จะเคลื่อนย้ายคนไข้ออกมาเพื่อรับการรักษาที่โรงพยาบาล และไม่มีทางเอาเครื่องช่วยหายใจ ทรัพยากรพยาบาลต่างๆ ไปไว้ที่บ้านได้ ฉะนั้นจะต้องปกป้องประชากรกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ให้มาก คนรอบข้างต้องเข้าใจการทำ Social distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม ปฏิบัติตามคำแนะนำเคร่งครัด เพราะคุณอาจมีเชื้อแต่ไม่มีอาการ จะดูแลคนที่บ้านได้อย่างไรหากทำงานหาเช้ากินค่ำที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คน เช่น คนขับแท็กซี่ จึงต้องเข้าใจว่าตัวเองอาจเป็นคนเอาเชื้อให้คนที่บ้าน
ไม่มีงาน ไม่มีเงิน คนจะอยู่อย่างไร
พนักงานร้านนวดหลายคนหาเช้ากินค่ำ ไม่รู้ว่าเขาแต่ละคนมีอีกกี่คนที่ต้องดูแล ฉะนั้นรัฐต้องมีมาตรการ ยิ่งออกมาเร็วจะยิ่งดีเพื่อไม่ให้ประชาชนตระหนก คนไม่มีอะไรทำ อาชีพก็ไม่มี ค่าครองชีพก็ไม่มี กลับบ้านค่าครองชีพต่ำ เขาคิดแบบนี้ไปโทษเขาไม่ได้ มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจและสังคมควรมีเพื่อทำให้คนมั่นใจว่า นายจ้างจะต้องถูกช่วยเหลือจากรัฐบาลเท่าไหนแล้วเขาจะได้จากนายจ้างเท่าไหร่
เจ็บป่วยได้ แต่ต้องมีความเป็นอยู่ที่ดี
บางกลุ่มเปราะบางอย่างผู้ต้องขัง ก็เป็นกลุ่มที่น่ากังวล แม้จะมีโครงการ ‘ราชทัณฑ์ปันสุข เพื่อชาติศาสน์กษัตริย์’ ที่ทำงานในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกในเรือนจำและสุขาภิบาลสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานพยาบาลต่างๆในโรงเรือน แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าความเสี่ยงอยู่ตรงไหน หากความเสี่ยงไม่ได้อยู่ภายใน แสดงว่าความเสี่ยงจะมากับผู้ต้องขังรายใหม่ ก็ต้องอย่าให้คนที่อยู่มาก่อนสัมผัส แปลว่าจะต้องมีโซนที่ขังแยกผู้ต้องขังใหม่ 14 วัน หากเขาเคลียร์ไม่มีอาการต่างๆ ก็โอเค แต่ถ้ามีอาการก็ต้องรักษา ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวยังเป็นแค่คำแนะนำ ที่ผ่านมาความจำกัดในเรื่องสถานที่แออัดจึงทำให้ไม่ได้ทำขั้นตอนเหล่านี้เลย แม้คนที่เข้ามาใหม่อาจจะตรวจสุขภาพ แต่ตรวจเสร็จตอนเช้า บ่ายก็เข้าไปในแดนแล้ว จึงมีความเสี่ยงที่บางคนอาจจะเอาเชื้อมาให้ นอกจากนี้ โควิด-19 อาจจะมาจากคนอื่น เช่น ผู้ต้องขังชั้นดีที่ออกมาทำงานข้างนอก ญาติที่มาเยี่ยม หรือมาจากผู้คุมก็ได้ถ้าไม่สะอาดพอ ฉะนั้นเราต้องรู้ทางเข้าของเชื้อทั้งหมด และอุดรูรั่วให้ได้ แก้ปัญหาให้ถูก เกาให้ถูกที่คันเป็นเรื่องที่เหมาะสมกว่า ไม่จำเป็นต้องชัตดาวน์ทุกอย่าง แต่ต้องดูว่าโครงสร้างแบบไหนต้องอนุญาต ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อต่อคนยากไร้ และมีผลต่อคุณภาพชีวิตของเขา
ผมคิดว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะร่าเริงแจ่มใส ไม่จำเป็นต้องอยู่แบบเหงา เครียด เซ็ง ในประเทศจีนระหว่างที่เขากำลังกักตัวอยู่ด้วยกันเขาก็มีเอนเตอร์เทนเมนท์ ให้คนป่วยได้ขึ้นมาขยับเส้นขยับร่างกาย ต้องมีอะไรที่บาลานซ์ ระหว่างการเจ็บป่วยและอารมณ์ที่ดี ของพวกนี้เป็นสิ่งที่เราต้องใส่เข้าไป
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก https://thisable.me/content/2020/03/606