ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิต รวมทั้งการดูแลรักษาสุขภาพซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญที่เทคโนโลยีสามารถช่วยให้แพทย์ พยาบาลทำงานได้รวดเร็วและมีความแม่นยำยิ่งขึ้น ล่าสุด กทปส. มอบทุนสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชั่น “สมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุผ่านระบบดิจิทัล บล็อกเชน” ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเตือนภัยปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ ผู้พิการ แม่และเด็กในการเข้ารับการรักษาพยาบาล หวังเป็นต้นแบบในงานสาธารณสุขไทย
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า จากแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในสถิติเชิงสังคม รวมถึงการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้บริการโทรคมนาคมสาธารณะสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ส่งเสริมการพัฒนาระบบโทรคมนาคมเฉพาะทางสำหรับผู้พิการ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายสามารถใช้ประโยชน์จากบริการโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน ชุมชนและสังคม เพื่อรองรับการพัฒนาไปสู่สังคมดิจิทัล
เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการสมุดบันทึกสุขภาพและอาหารปลอดภัยบนเพอร์มิชชั่นบล็อกเชน โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จากปัญหาการใช้สมุดบันทึกสุขภาพที่เป็นกระดาษสมุดในปัจจุบัน มีการสูญหายบ่อยครั้ง ทําให้ข้อมูลที่บันทึกไว้สูญหายและไม่สามารถกู้คืนได้ รวมถึงการแชร์ข้อมูลในสมุดบันทึกสุขภาพระหว่างหน่วยบริการสุขภาพ หน่วยงานกำกับนโยบาย ไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีกลไกที่จะทําให้ข้อมูลเป็นข้อมูลที่ตรงกัน (singlesource of truth) ระหว่างหน่วยงาน ทางด้านหน่วยงานฝ่ายนโยบาย ได้แก่ กรมอนามัย สํานักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งหน่วยงานระดับชุมชน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล องค์การบริหารงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด ไม่มีข้อมูลจากเจ้าของข้อมูลโดยตรงเพียงพอ เพื่อการติดตามดูแลและวางแผนสุขภาพประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ปัญหาที่เจ้าของข้อมูล (ผู้สูงอายุ ผู้พิการ แม่และเด็ก) ไม่สามารถนําข้อมูลของตนเองไปใช้โดยหน่วยงานอื่นได้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาในการส่งเสริมและสนับสนุน โดยทาง กทปส. ได้มอบทุนพัฒนาและวิจัยให้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการพัฒนาแอปพลิเคชั่น “โครงการสมุดบันทึกสุขภาพและอาหารปลอดภัยบนเพอร์มิชชั่นบล็อกเชน” ขึ้น
สำหรับ “โครงการสมุดบันทึกสุขภาพและอาหารปลอดภัยบนเพอร์มิชชั่นบล็อกเชน” ซึ่งได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจาก กทปส. ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กสทช. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กรมอนามัย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครื่องมือ (สมุดบันทึกสุขภาพและอาหารปลอดภัย) มาช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเตือนภัยปัญหาสุขภาพ สําหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ แม่และเด็ก ด้วยเฟรมเวิร์ก permissioned blockchain
ซึ่งจะเป็นต้นแบบในงานสาธารณสุขไทย นอกจากนี้ยังได้นําระบบไปใช้งานในพื้นที่นําร่อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และลดทัศนคติเชิงลบต่อการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) จากการได้รับข่าวสารผ่านผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต และสังคมออนไลน์ที่สับสน แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนนโยบายและชุมชน
ทั้งนี้ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการขับเคลื่อนและดำเนินโครงการสมุดบันทึกสุขภาพและอาหารปลอดภัยบนเพอร์มิชชั่นบล็อกเชน ในครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่นสมุดบันทึกสุขภาพและอาหารปลอดภัย ที่พร้อมใช้งานสําหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ แม่และเด็กเพื่อบันทึกสุขภาพของแต่ละคนอยู่ในรูปแบบดิจิทัล อีกทั้งยังทำให้กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ แม่และเด็ก มีข้อมูลเพื่อการดูแลสุขภาพของตนเองที่เสมือนมีข้อมูลติดตัวตลอดเวลาเมื่อไปตรวจรักษาหรือฉีดวัคซีน รวมถึงยังทำให้แพทย์ผู้รักษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการรักษาพยาบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ตรงกัน โดยจะมีระดับการเข้าถึงข้อมูลที่ต่างกันเพื่อป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล
ล่าสุดกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากรแกนนำระดับศูนย์อนามัยและพื้นที่ในการใช้โปรแกรม Long Term Care (3C) และแนวทางการใช้งานสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุผ่านระบบดิจิทัล บล็อกเชน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและศึกษาดูงาน โครงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นสมุดบันทึกสุขภาพ ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพญาชมพู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกันนี้มีการบรรยายและสาธิตการใช้งานแอปพลิเคชั่นให้กับ ผู้แทนแม่และเด็ก ผู้สูงอายุและผู้พิการ
โดย นายอลงกต กองมณี หัวหน้าโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนางมัลลิกา ตะติยาพรพันธ์ผอ.รพ.สต.บ้านพญาชมพู และมีการอภิปราย ปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะในการใช้งานจริงในพื้นที่เพื่อให้เกิดการนำระบบไปใช้ในพื้นที่นำร่องให้เกิดประโยชน์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และลดทัศนคติเชิงลบต่อเทคโนโลยีบล็อกเชน โดย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสารภี
นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ กล่าวเสริมว่า กทปส. มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมได้ครอบคลุมและทั่วทุกพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การพัฒนาบุคลาการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยในปี 2561 กทปส. ให้ทุนสนับสนุน “โครงการสมุดบันทึกสุขภาพและอาหารปลอดภัยบนเพอร์มิชชั่นบล็อกเชน”
โดยมีประชาชนที่เข้าใช้งานระบบนำร่องในช่วงแรกประมาณ 1,000 คน ในเขตการดูแลของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล 6 แห่ง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้โครงการสมุดบันทึกสุขภาพและอาหารปลอดภัยบน เพอร์มิชชั่นบล็อกเชน จะเป็นเครื่องมือและกลไกขับเคลื่อนประเทศ พร้อมยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต-สุขภาพของประชาชนไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ แม่และเด็ก ให้มีสุขภาพที่ดีปลอดโรคด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล บล็อกเชน
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก https://www.thereporter.asia/th/btfp-blockchain/