SACICT ชวนคนไทยอุดหนุน “หน้ากากจากหัวใจชุมชน”

พรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ

พรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ

 

ในช่วงที่หลายชีวิตต้องประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สูญเสียงานและรายได้ส่งผลต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ห่างไกลซึ่งเหมือนเคราะห์ซ้ำจากภาวะภัยแล้ง ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้

 

นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT มีภารกิจในการสืบสานพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชนินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมสนับสนุนงานศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นต่างๆ จึงได้ลงพื้นที่ไปส่งเสริมการผลิตหน้ากากผ้าภายใต้ชื่อโครงการ “หน้ากากจากหัวใจชุมชน” แก่ชาวบ้านและประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งได้ใช้ผ้าฝ้ายจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถมาเป็นวัตถุดิบ และนำมาออกแบบตัดเย็บโดยฝีมือชาวบ้านในชุมชนหัตถกรรมที่มีครูช่างศิลปหัตถกรรมเป็นศูนย์กลาง โดยประเดิมที่แรกที่ชุมชนหัตถกรรมย้อมผ้าสีธรรมชาติหนองบัวแดง ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน 11 หมู่บ้าน ใน 2 อำเภอของจังหวัดชัยภูมิ คือ อำเภอหนองบัวแดง และ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ ซึ่งภายในชุมชนมีทั้งแรงงานหนุ่มสาวซึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้พิการ ซึ่งทุกกลุ่มสามารถเข้ามาร่วมโครงการได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉินทำให้ประชาชนต้องอยู่ในที่พักอาศัย เป็นโอกาสที่เอื้อให้ใช้เวลาว่างมาทำงานศิลปหัตถกรรมที่บ้านเพื่อเพิ่มพูนรายได้

 

 

 

ขณะนี้มีชาวบ้านร่วมโครงการ จำนวนกว่า 200 ราย ในกว่า 85 หลังคาเรือน ดำเนินการผลิตในลักษณะต่างคนต่างทำที่บ้านของตนเองโดยไม่มีการรวมกลุ่ม มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 30,000 ชิ้นต่อเดือน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 8,000-12,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้หน้ากากผ้านำไปซักและนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ยังช่วยลดปริมาณขยะจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้งอันจะเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ทั้งนี้ SACICT ได้เร่งขยายโครงการไปยังชุมชนหัตถกรรมรวม 38 ชุมชนทั่วประเทศโดยตั้งเป้าหมายผลิตให้ได้ 500,000 ชิ้น สำหรับหน้ากากแห่งความสุขนี้เป็นที่น่ายินดีว่ามีภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุน อาทิ แบรนด์กระทิงแดง ซึ่งหากภาคเอกชนใดสนใจสั่งซื้อเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปดำเนินกิจกรรม CSR ของบริษัทสามารถแจ้งความประสงค์มายัง SACICT ได้” นายพรพล กล่าว

 

ครูอนัญญา เค้าโนนกอก ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2554 ผู้นำชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ

ครูอนัญญา เค้าโนนกอก ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2554 ผู้นำชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ

 

ครูอนัญญา เค้าโนนกอก ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2554 ผู้นำชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เล่าว่า ตอนนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ไม่มีน้ำมาเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ไม่มีงานไม่มีเงิน เมื่อ SACICT ส่งเสริมให้ทำหน้ากากทางเลือกหาตลาดให้ จึงเป็นโอกาสดีที่คนในหมู่บ้านได้มีงานทำมีรายได้มาจุนเจือครอบครัวในยามที่เกิดวิกฤติทั้งจากโควิดและภัยแล้ง สำหรับจุดเด่นของหน้ากากผ้าของชุมชน คือนำผ้าของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯซึ่งสวยงามโดดเด่นด้วยสีสันอันเป็นเอกลักษณ์มาออกแบบตัดเย็บร่วมกับผ้าฝ้ายออร์แกนิกจากฝ้ายที่ปลูกแบบไร้สารเคมีของชุมชนเอง ผ่านกระบวนการเข็นฝ้ายด้วยมือและย้อมสีธรรมชาติจาก ประดู่ ครั่ง คำแสด คราม ขมิ้น และมะเกลือ เป็นหน้ากากแบบคละลายหลากสีสัน ผ่านการซักทำความสะอาดอย่างดีเพื่อตัดเย็บเป็นหน้ากาก 2 ชั้น มีช่องสำหรับใส่ Filter เพิ่มได้ เนื่องจากเป็นเส้นใยธรรมชาติ จึงสวมใส่สบายให้สัมผัสที่ดีและมั่นใจได้ว่าไม่ระคายเคืองผิวหนัง ที่สำคัญเป็นหน้ากากที่ทำด้วยหัวใจของชาวบ้านทุกคน

 

 

SACICT ขอเชิญชวนคนไทยและสังคมไทยสนับสนุนหน้ากากจากหัวใจชุมชนที่ผลิตจากผ้าศิลปาชีพ ได้ช่วยให้อีกหลายครอบครัวในพื้นที่ห่างไกลมีความสุข ได้เห็นรอยยิ้มจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีมื้ออาหารที่อิ่มท้อง เด็กๆ ได้มีอนาคตสดใส คนชราได้รับการดูแล คนพิการได้รู้สึกถึงคุณค่าในตนเอง เป็นการต่อลมหายใจให้แก่ชาวบ้านและผู้คนที่กำลังเดือนร้อนจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งถือเป็นความร่วมมือร่วมใจของคนไทยที่ช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ โดยผู้สนใจสามารถร่วมแบ่งปันความรู้สึกดีๆ ด้วยการสั่งซื้อหน้ากากแห่งความสุขนี้ได้ที่ ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง 092-3254655 หรือสั่งซื้อได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแอพลิเคชั่น SACICT Shop ทั้งระบบ IOS และ Android สอบถามเพิ่มเติม 1289

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก  https://siamrath.co.th/n/151505

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *