3 องค์กรร่วมส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้รับสังคมสูงอายุ

 

สวทช. กศน. มสพช. รวมพลังผลักดันการจัดการความรู้และส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการเพื่อความพร้อมรองรับสังคมสูงอายุ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.) จัดพิธีลงนามความร่วมมือ “การวิจัยและพัฒนาระบบการจัดการความรู้สนับสนุนเครือข่ายบูรณาการด้านผู้สูงอายุและคนพิการ” เมื่อ วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ณ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป้าหมายการสร้างความร่วมมือและกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกองค์กรภาคีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ โดยเฉพาะส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลที่รอบด้าน การเสริมสมรรถนะการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรด้านการจัดการความรู้ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง และการสื่อสารเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ต่อยอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาเพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมสุขภาวะ โดยมีนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน

นางสาววันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า นโยบายในการนำงานวิจัยของ สวทช. ไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งในด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือแพทย์ และแพลตฟอร์มสำหรับการลงนามในครั้งนี้เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการจัดการความรู้สนับสนุนเครือข่ายบูรณาการด้านผู้สูงอายุและคนพิการ ในรูปแบบของเว็บไซต์ “รวมพลัง” ซึ่งบรรจุข้อมูลและช่องทางเชื่อมต่อไปยังแหล่งความรู้ที่จำเป็น รวมไว้ ณ จุดเดียว เสมือนเป็น one-stop-service เรื่องสิทธิและบริการสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ คลังปัญญา-ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งเรียนรู้ ตลอดจนมุมความรู้สำหรับคนทำงาน โดยจะมีการคัดเลือกข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อให้บุคลากรติดตามสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะระบบคลังปัญญา-ภูมิปัญญาท้องถิ่นจะมีหน้าจอเข้าสู่ระบบ และนำเสนอข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ “รวมพลัง” ให้เห็นได้อย่างชัดเจน

ในการออกแบบระบบสารสนเทศมีแนวคิดเพื่อการใช้งานที่สะดวก สำหรับกลุ่มบุคลากรนักวิชาชีพ ภาคประชาสังคม กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ ครอบครัว ตลอดจนผู้ดูแล ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลได้ง่ายและสะดวก เพิ่มสมรรถนะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เกี่ยวกับการดูแลด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม เทคโนโลยี รับรู้ถึงสถานการณ์ที่อาจจะมีความอ่อนไหว ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นทุนฐานรากของสังคมไทยเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสภาวะภัยพิบัติทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดขึ้นด้วย นอกจากนี้ สวทช. ยังกำหนดรูปแบบการบำรุงรักษา ระบบความปลอดภัย การทำงานของระบบที่เสถียร เพื่อให้ภาคีเครือข่ายทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และใช้ประโยชน์ได้ในพื้นที่ทั่วประเทศได้ต่อไป

ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า เครือข่ายบุคลากร กศน. ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ทุกระดับต่างมีบทบาทการส่งเสริมการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยตลอดชีวิต โดยเฉพาะประเด็นการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุและการเตรียมความพร้อมสังคมสูงอายุ ซึ่งสอดรับภายใต้นโยบาย กศน. WOW ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งที่จะทำให้บุคลากร กศน. สามารถจัดการรวบรวม จัดทำเนื้อหาและร่วมบริหารจัดการข้อมูลคลังปัญญา-ภูมิปัญญาผู้สูงอายุ และแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพภายใต้การดำเนินงานของภาคีเครือข่าย กศน. ครอบคลุมในพื้นที่ ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือกับ สวทช.และ มสพช. และความต่อเนื่องของการดำเนินการร่วมกันเรื่องระบบข้อมูลบูรณาการและช่องทางสื่อสาร คือ สาระที่ได้จากการจัดการความรู้บนเว็บไซต์รวมพลัง (www.thaisynergy.org) ซึ่งเป็นเว็บไซต์กลางที่ร่วมกันพัฒนาขึ้น โดยได้เชื่อมโยงกับเว็บไชต์ของ กศน. (www.nfe.go.th) และ มสพช. (www.thaiichr.org)

แพทย์หญิงสุพัตรา ศรีวณิชชากร เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.) กล่าวถึงภารกิจหลักขององค์กร คือ การสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชนที่เชื่อมต่อกับนโยบายรองรับสังคมสูงอายุของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรภาคีที่ดำเนินงานทั้งภาครัฐ ชุมชน ท้องถิ่นและภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่และส่วนกลาง การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เป็นวาระนโยบายและแนวทางการทำงาน มสพช. ประการหนึ่งที่ต้องการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของทีมนำการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินงานผู้สูงอายุบูรณาการ การจัดการความรู้เพื่อให้เกิดองค์ความรู้จากพื้นที่เชื่อมโยงกับทิศทางนโยบาย การบริหารจัดการข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ระบบข้อมูลคลังปัญญา-ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการพัฒนางานผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องทั้งในระบบการสื่อสารสาธารณะผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลต่อคุณภาพการพัฒนาเครือข่ายงานผู้สูงอายุในระดับพื้นที่และสังคมสูงอายุที่มีสุขภาวะต่อไป

 

 

 

 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก  https://mgronline.com/science/detail/9630000045775

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *