โฆษก ศบค.แถลงผู้ป่วยยืนหนึ่ง เสียชีวิต 1 สะสม 55 ราย ย้ำตรวจสอบร้านค้าไม่ได้หวังเอาผิด แค่ขอให้ร่วมมือ แนะพบเห็นแม่ค้าไม่สวมหน้ากากช่วยกันเตือน ส่วนการวิ่งในสวนสาธารณะ ห่วงรัศมี 10 เมตรละอองฝอยปลิว แนะเดินสวมหน้ากากแทน ด้านปลัดเกษตรฯ ย้ำคนที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้ไปก่อน 15 พ.ค. เพื่อรอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท
วันนี้ (6 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงข่าวสถานการณ์ประจำวัน ระบุว่า ผู้ป่วยรายใหม่ในวันนี้ 1 ราย เป็นหญิงอายุ 17 ปี ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ทำงานนวดที่ประเทศรัสเซีย กลับมาวันที่ 3 พ.ค. ผ่านกระบวนการ State Quarantine ที่จังหวัดสมุทรปราการ มีไข้ ไอ หายใจเหนื่อย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,989 ราย ใน 68 จังหวัด หายป่วยแล้ว 14 ราย หายป่วยสะสม 2,761 ราย รักษาอยู่ 173 ราย
เสียชีวิต 1 ราย สะสมรวม 55 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นชายอายุ 69 ปี สัญชาติออสเตรเลีย เป็นผู้จัดการโรงแรมที่จังหวัดพังงา มีอาการป่วยตั้งแต่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา พบติดเชื้ออักเสบของปอดอย่างรุนแรง ส่วนผลผู้ที่ตรวจเกณฑ์สงสัย 40 รายที่จังหวัดยะลา เบื้องต้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่าไม่พบผู้ป่วย ยืนยันไม่ได้เป็นผลบวก วันนี้กระทรวงสาธารณสุขจะแถลงในรายละเอียด โดยผู้ป่วยเข้าข่าย PUI จำนวน 54,600 ราย ผู้ป่วยยืนยัน 768 ราย คิดเป็น 1.41% กรมการแพทย์ได้ปรับเกณฑ์มีอาการคล้ายไข้หวัดให้ตรวจหาเชื้อได้เลย ซึ่งประชาชนควรมีส่วนร่วมด้วย ยิ่งตรวจเยอะยิ่งมีโอกาสได้เจอ
สถานการณ์โลก ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,727,295 ราย รักษาตัว 49,248 ราย รักษาหายแล้ว 1,241,331 ราย เสียชีวิต 258,326 ราย สหรัฐอเมริกายังเป็นอันดับหนึ่ง ผู้ป่วยสะสม 1,237,633 ราย รายใหม่เพิ่มขึ้น 24,798 เสียชีวิตสะสม 72,271 ราย รองลงมา สเปน อิตาลี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 62 ทวีปเอเชียพบอินเดียอันดับ 1 รองลงมาปากีสถาน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
กรุงนิวเดลีขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 70% หลังมีมาตรการผ่อนปรนแล้วประชาชนแห่ไปซื้อจนเกิดความวุ่นวาย ส่วนกัมพูชายกเลิกการจัดงานวิสาขบูชาบนภูเขาอุดง เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ การแจกจ่ายข้าวสารอาหารแห้งและสิ่งของจำเป็นของสถานทูตและสถานกงสุลในมาเลเซีย ให้ความช่วยเหลือแล้ว 29,491 ราย การนำคนไทยที่ตกค้างกลับประเทศ วันนี้มีเที่ยวบินจากพม่า เยอรมนี ปากีสถาน พรุ่งนี้มีเกาหลีใต้ และแอฟริกาใต้ ยอดคนไทยกลับประเทศสะสม 4,637 คน ใน 27 ประเทศ ส่วนกระบวนการ State Quarantine สะสม 12,847 ราย กลับบ้านได้แล้วสะสม 3,921 ราย พบเชื้อสะสม 85 ราย
การกระทำความผิดในช่วงเคอร์ฟิว พบออกนอกเคหสถาน 699 ราย ส่วนมากคือ ออกมาทำธุระ อื่นๆ และเดินทางกลับที่พัก ชุมนุมมั่วสุม 104 ราย ส่วนมากคือ ดื่มสุรา ลักลอบเล่นการพนัน และอื่นๆ ยิ่งเปิดให้ขายสุราได้ยิ่งเปิดให้มีการชุมนุมมั่วสุมผิดกฎหมาย ส่วนชุดตรวจกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลาย 12,996 ราย พบปฏิบัติตามมาตรการ 12,547 ราย ไม่ปฏิบัติตาม 449 ราย ส่วนมากร้านอาหาร ร้านค้าปลีก-ตลาดฯ ร้านตัดผม แต่ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ แนวโน้มดีขึ้น อยากจะให้ทำตาม 100% เพื่อป้องกันและควบคุมโรคได้ เกิดความปลอดภัย
ช่วงตอบคำถาม เมื่อถามว่า ศบค.มีบทลงโทษร้านค้าและกิจการที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอย่างไร ชี้แจงว่า ตามข้อกฎหมายมีการกำหนดโทษเพื่อให้เกิดความร่วมมือ แต่เจตนาไม่ได้ต้องการถูกลงโทษ มีตัวอย่างดีๆ ทั้งคนร่วมมือและไม่ร่วมมือ เช่น ลงโทษคนที่ไม่สวมหน้ากากด้วยการวิดพื้น กระโดดตบภายในหมู่บ้าน ซึ่งดีต่อสุขภาพ ทำให้ไม่พบผู้กระทำผิดซ้ำ ร้านค้าต่างๆ ถ้าแม่ค้าไม่สวมหน้ากากอนามัย แนะนำให้เตือนกันเมื่อพบเห็น เพราะละอองฝอยจากน้ำลายอาจปนเปื้อนในอาหาร
ส่วนการวิ่งในสวนสาธารณะต้องสวมใส่หน้ากากหรือไม่นั้น ชี้แจงว่า การเข้าไปในสวนสาธารณะก็เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ได้มีโอกาสออกกำลังกาย ตอนนี้เดินดีที่สุดโดยให้ใส่หน้ากากอนามัย แต่ถ้าวิ่งออกกำลังกายแล้วสวมหน้ากาก อากาศที่จะเข้าไปด้วยไม่เพียงพอ แนะให้ดูในระยะ 10 เมตร มีคนหรือไม่ ถ้ามีคนก็ไม่ควร เพราะมีละอองฝอยกระจายในรัศมี 10 เมตร แม้อนุญาตก็ให้วิ่งในที่เปิดโล่ง แต่ถ้ามีคนเยอะแนะนำให้เดินสวมหน้ากาก ซึ่งการเดิน 30 นาทีก็ได้ผลดีเหมือนการวิ่ง
ในตอนท้าย นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า วันนี้วันวิสาขบูชา ถ้าจะทำบุญก็เวียนเทียนที่บ้านตามมติของมหาเถรสมาคม การขอพรพระที่สำคัญ คือ การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงมาตรการเยียวยาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ได้รวบรวมข้อมูลเกษตรกรจากหน่วยงานต่างๆ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้รวบรวมฐานข้อมูล 7 หน่วยงาน ประมาณ 8.3 ล้านคนให้กระทรวงการคลังตรวจสอบการซ้ำซ้อนกับมาตรการที่ช่วยเหลืออยู่ โดยชุดแรกจะส่งให้ ธ.ก.ส.เพื่อวางแผนการโอนเงิน โดยเกษตรกรที่ยังไม่มีบัญชี ธ.ก.ส.สามารถแจ้งบัญชีธนาคารไหนก็ได้ที่มีอยู่
ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้ปรับปรุงทะเบียน หรือยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร เชิญชวนให้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึง 15 พ.ค.นี้ เพื่อที่จะให้การช่วยเหลือตั้งแต่เดือน พ.ค.ถึง ก.ค. 2563 ส่วนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนในปี 2562/2563 ไม่ต้องทำอะไร เพราะส่งรายชื่อไปแล้ว แต่จะมีเกษตรกรประมาณ 1 ล้านคนที่ขึ้นทะเบียนใหม่ โดยให้ขึ้นทะเบียนกับผู้นำท้องถิ่นหรืออาสาสมัครเกษตร ไม่ต้องไปถึงสำนักงานเกษตรอำเภอ จะเริ่มทยอยจ่ายตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. เหมือนโครงการเราไม่ทิ้งกัน
เมื่อถามว่า ถ้ายังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ติดต่อที่เกษตรอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ ประมงอำเภอ โดยรัฐมนตรีกำชับให้อำนวยความสะดวกทุกวันไม่มีวันหยุด ภายในวันที่ 15 พ.ค. ส่วนเกษตกรที่รับจ้าง เช่น กรีดยาง และขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าได้รับความช่วยเหลือ ส่วนสมาชิกในครัวเรือนที่ซ้ำซ้อนและลงทะเบียนโครงการเราไม่ทิ้งกัน เป็นไปตามรายชื่อที่ทะเบียน ขึ้นชื่อเฉพาะผู้นำครัวเรือน ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีบัญชี ธ.ก.ส. สามารถแจ้งบัญชีธนาคารที่มีอยู่ได้เช่นกัน
นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้แจงมาตรการช่วยเหลือผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส เช่น ลดหนี้กองทุนให้กู้ยืมต่างๆ ลดดอกเบี้ยโรงรับจำนำของรัฐ ขยายเวลาตั๋วจำนำและลดดอกเบี้ยรับจำนำ กลุ่มคนพิการจะได้รับเบี้ยรายเดือนตามปกติเดือนละ 800 บาท ครม.มีมติเห็นชอบได้รับเพิ่มเป็น 1,000 บาทกับผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และจ่ายเงินเยียวยา 1,000 บาทแก่ผู้พิการภายในเดือน พ.ค. 2563 ส่วนกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มเด็กอ่อน ได้จัดสรรเงินกองทุนคุ้มครองเด็กและเงินบริจาคต่างๆ นำนมผงไปให้ที่บ้าน แทนศูนย์เด็กอ่อนที่ปิดชั่วคราว
ส่วนความเดือดร้อนของประชาชนช่วงนี้ เช่น รายได้ลดลง อาหาร สิ่งของอุปโภคบริโภค ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน มีศูนย์รับเรื่องราว 1300 มีสายโทรมาวันละ 2 หมื่นราย ส่วนอีกโครงการหนึ่งใช้ชุมชนดูแลชุมชน โดยกรุงเทพฯ มี 286 ชุมชน ได้ลงไปสำรวจชุมชนว่ามีความต้องการอย่างไรบ้าง ขาดแคลนเรื่องใด พบ 230 ชุมชนต้องการสนับสนุนอาหาร จึงได้จัดทำในรูปแบบครัวกลาง หรือธนาคารอาหาร ในรูปแบบเหมาะสมกับวิถีชีวิตของชุมชน เช่น ต้องการเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เฉพาะช่วงเย็น ยังมี 2,000 ชุมชนในกรุงเทพฯ ที่จะต้องดูแลเพิ่ม ส่วนต่างจังหวัดทำในลักษณะคล้ายกัน
นอกจากนี้ กระทรวงยังทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นช่วยเหลือคนไร้บ้าน คนเร่ร่อนร่วมกับมูลนิธิ พบสถานการณ์ดีขึ้น มีคนกลับต่างจังหวัดได้ หรือมีการแจกอาหารในจุดต่างๆ มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยกับกระทรวง และมีศูนย์รับบริจาคกลาง กระทรวง พม. เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือทั่วประเทศอีกด้วย
เมื่อถามว่า จะให้เงินกองทุนคนพิการ 1,000 บาทแก่ผู้พิการ 2.2 ล้านคน มีการแยกประเภทหรือไม่ ยืนยันว่ามีบัตรคนพิการของกระทรวงอยู่ ครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่จำเป็นต้องถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนเบี้ยคนพิการที่ได้เงินเพิ่มเดือนละ 1,000 บาทเดือนตุลาคม คือผู้มีรายได้น้อยและอายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วนกลุ่มคนไร้บ้านที่ผ่านมาพยายามชักชวนให้เข้ามาอยู่สถานที่ดูแล มีคนเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ 200 คน ต่างจังหวัด 400-500 คน แต่มีอีกส่วนหนึ่งเลือกที่จะอยู่แบบอิสระ ก็มีการแจกหน้ากาก แอลกอฮอล์ ให้ข้อมูลการดูแลตัวเองและแจกอาหาร
ขอขอบคุณ https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000047267