วันพืชมงคล 2563 นี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรม 5 ค่ำ เดือน 6 แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปี 2563 นี้จะปรับรูปแบบการจัดพิธีโดยจะประกอบพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าว และประกอบพิธีไถหว่านในแปลงนาทดลอง สวนจิตรลดา ในวันที่ 10 – 11 พฤษภาคม 2563
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เผยแพร่กำหนดการและรายละเอียดพระราชพิธีผ่านทางเว็บไซต์พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดอาราธนาให้สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเสด็จไปทรงเป็นประธานในการประกอบพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ในวันอาทิตย์ ที่ 10 พฤษภาคม 2563 โดย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
ประวัติวันพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ความสำคัญวันพืชมงคล
เมื่อกล่าวถึงพระราชพิธีพืชมงคล และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ทั้ง 2 พิธีนี้มีความสำคัญแยกกัน ดังนี้
พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีทำขวัญพืชพรรณธัญญาหารที่พระมหากษัตริย์ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของทั้งข้าว และพืชจำพวกงา มีพระสงฆ์มากระทำพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์พืช ให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง
ปีนี้จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดอาราธนาให้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เพื่อประกอบพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานเนื่องในวันพืชมงคล ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชประเพณีที่องค์พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้นำพิธี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรที่หวั่นภยันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเพาะปลูกให้มีศรัทธาและมั่นใจ ด้วยการบวงสรวงเทวดา ด้วยพิธีเสี่ยงทายทำนายความสมบูรณ์ของปริมาณน้ำ สภาพดินฟ้าอากาศ
เกษตรกรส่วนหนึ่งจึงถือเอาวันพืชมงคล คือ วันเริ่มต้นฤกษ์หว่านไถ
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีมาแต่อดีต แต่เว้นไปในช่วงปี พ.ศ. 2479 – 2503 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพระราชพิธีนี้ทุกปีสืบมามิได้ขาด
วันพืชมงคล เป็นงานใหญ่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นแม่งาน และจะคัดเลือกผู้ร่วมพิธีหว่านไถตามความเหมาะสม ดังนี้
พระยาแรกนา มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทาย และดำเนินการกระทำพิธีหว่านไถ
เทพีคู่หาบทอง และเทพีคู่หาบเงิน คัดเลือกจากข้าราชการหญิงในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป ที่มีสถานะโสด
พระโคแรกนา กรมปศุสัตว์เป็นผู้คัดเลือกพระโคที่มีลักษณะดีตามเกณฑ์พระโคแรกนาขวัญ มีกิริยามารยาทเรียบร้อย สอนง่าย มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง จำนวน 2 คู่
คันไถ คันไถไม้สมอ ประกอบด้วยชุดคันไถ แอกเทียมพระโค ฐานรอง และธงสามชาย ซึ่งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี สร้างถวายให้เป็นคันไถประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พันธุ์ข้าวพระราชทาน เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการปลูกในโครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา 5 สายพันธุ์
สัตยาธิษฐาน การเสี่ยงทาย ทำนายความสมบูรณ์ของปริมาณน้ำฝน และการเจริญเติบโตของพืชพันธุ์ จากผ้านุ่งของพระยาแรกนา และอาหารของพระโค ดังนี้
ผ้านุ่งของพระยาแรกนา พระยาแรกนาต้องตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบผ้านุ่งจากพานโตก โดยเป็นผ้าลาย 3 ผืน มีความหมายตามขนาดของผ้า
- ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำมาก นาในที่ดอนได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
- ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำพอดี ข้าวกล้าในนาได้ผลสมบูรณ์ ผลาหาร มังสาหารอุดมสมบูรณ์
- ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ดอนเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
อาหารพระโค พระโคจะเลือกอาหาร 7 อย่าง มีคำทำนาย ดังนี้
- ข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
- ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
- น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์
- เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
ในปี 2563 นี้ กรมการข้าวได้บรรจุข้าวพันธุ์พระราชทาน บรรจุใส่ซองพลาสติกเพื่อแจกจ่ายเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรตามประเพณีนิยม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป
ที่มา : พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์