รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม 2563 ตอน รัฐบาลแจกเงิน กระเป๋าฉีกแน่ ถมไม่เต็ม รอบเดียวก็เกินพอ
มาตรการเยียวยาในการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลกับผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ณ ตอนนี้ มี 8 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 กลุ่มของแรงงานในระบบ ที่มีอยู่ประมาณ 11 ล้านคน โดยสำนักงานประกันสังคมดูแลให้อยู่
กลุ่มที่ 2 กลุ่มแรงงานอิสระ ที่กระทรวงการคลังรับมาดำเนินการในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน”ที่เยียวยาเงิน 5,000 บาท 3 เดือน มีผู้ผ่านเกณฑ์ 15 ล้าน
กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มเกษตรกร ได้รับครอบครัวละ 5,000 บาท มีประมาณ 10 ล้านคน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการแล้ว
กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ทั้งข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจหรือจะเป็นหน่วยงานของราชการท้องถิ่น มีประมาณ 3 ล้านคน รัฐบาลดูแลยังไม่มีการลดวันหรือลดเงินเดือน โดยทั้ง 4 กลุ่มนี้ มีประมาณ 40 ล้านคน
แต่ก็ยังมีอีก 4 กลุ่ม ที่ยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือมาตรการของภาครัฐคือ ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 5 กลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนพิการมีอยู่ประมาณ 13 ล้านคน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำลังเสนอมาตรการเพื่อการดูแลกลุ่มนี้อยู่
กลุ่มที่ 6 กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย มี 14.6 ล้านคน แต่หากหักจำนวนการเยียวยาที่ไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มอื่นๆ จะเหลือกลุ่มนี้เพียง 2.4 ล้านคน
กลุ่มที่ 7 กลุ่มที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ และมีการร้องเรียนกันมากในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 1.7. ล้านคน ขณะนี้กระทรวงการคลังมีนโยบายชัดเจนที่จะกลับมาดูให้ใหม่
และกลุ่มที่ 8 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางสังคมกรณีฉุกเฉิน ประมาณ 1 ล้านคน โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีมาตรการรองรับไว้แล้ว
เบ็ดเสร็จแล้วภาครัฐจะต้องดูแลคน ประมาณ 60 กว่าล้านคน ทั้งหมดนี้ต้องดูไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนกัน แม้จะดูเหมือนค่อนข้างครอบคลุมแล้ว ทว่า ในแต่ละโครงการกลับมีเงื่อนไขที่อาจทำให้ประชาชนไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างที่ควรจะเป็น เช่น มาตรการเยียวยาเกษตรกร ครัวเรือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน แต่ในทางปฏิบัติพบว่า ยังมีปัญหาอยู่ เพราะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน ก่อนปี 2562 และปัจจุบันยังคงเป็นเกษตรกรอยู่ ยังไม่ได้รับการเยียวยา เหตุเพราะยังไม่ปรับปรุงข้อมูลเกษตรกรให้เป็นปีปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีหลายพื้นที่ยังประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่สามารถเพาะปลูกได้ เมื่อไม่มีการแจ้งปลูก จึงไม่สามารถปรับปรุงข้อมูลเกษตรกรได้ ตรงนี้หากมีการผ่อนปรนเงื่อนไขอาจจะช่วยเกษตรกรกลุ่มนี้ที่มีประมาณ 1.7 ล้านคนได้ ซึ่งเป็นผู้เดือดร้อนจริงๆ
ขณะเดียวกัน เกษตรกรกลุ่มนี้ก็ไม่สามารถไปขอเยียวยาจากมาตรการเราไม่ทิ้งกันได้ เพราะติดล็อกเรื่องความเป็นเกษตรกร จึงเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด
อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นปัญหา แม้จะได้รับการดูแล แต่ไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นัก ก็คือ “ผู้ป่วยติดเตียง” ที่รัฐจะให้เดือนละ 1,000 บาท แต่สำหรับผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เงินจำนวนนี้แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะคนเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายมากกว่าคนปกติ
หลังจากมหกรรมแจกทั่วไทยรอบนี้แล้ว ปัญหามีอยู่ว่า ในรอบหน้ารัฐบาลจะเอาเงินที่ไหน มาแจกอีก เพราะเงินก้อนที่ให้ไปก้อนนี้ อยู่กันได้ไม่เกินสามเดือน ขณะที่ความต้องการเยียวยายังมีต่อไป ไม่ให้ก็อดตาย เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่มีงานทำ
เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็ต้องหาทางอัดเงินเข้าไปช่วยอีก แต่จะให้อย่างไรให้คุ้มค่าเงินและได้ประโยชน์กับทั้งคนรับ และสังคม นี่ต่างหากเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องคิดหนัก
ที่เห็นแล้วตอนนี้ มีเงินก้อนใหญ่ ประมาณหกแสนล้านบาทที่รัฐบาลเตรียมไว้ กำหนดใช้เงินในเป้าหมายเพื่อพัฒนาสังคมเกษตรกรรม ซึ่งจะรองรับคนตกงานได้ส่วนหนึ่ง แต่ควรมีการบริหารจัดการให้ดี ต้องไม่ใช่เงินปันสุขแจกกันฟรี
เงินก้อนนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อเอามาจ้างคนตกงาน คนทำงานได้ค่าจ้าง ใครไม่ทำก็ให้อดไป และสิ่งที่ทำก็ต้องเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนให้กับบ้านเมือง เช่นการทำระบบน้ำเพื่อการเกษตรอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นคลองส่งน้ำชลประทาน หรือหนองน้ำบ่อน้ำเพิ่อการเกษตรในหมู่บ้าน
ในระหว่างปัญหาโควิดนี้ รัฐบาลควรทำตัวเป็นนายจ้าง ประชาชนเป็นแรงงาน ทำงานได้ค่าจ้าง หากทำได้เช่นนี้ เงินกู้ที่เป็นภาระคนทั้งประเทศ ก็จะเกิดผลดีรอบด้าน สามารถแก้ปัญหาคนตกงาน แถมยังได้สร้างระบบน้ำเพื่อการเกษตร ให้เป็นประโยชน์ตามแผนที่รัฐบาลต้องการได้
ถ้าไม่อาศัยข่วงนี้ก็ถือว่าทิ้งโอกาสทองไป เพราะคนตกงานได้มีงาน โดยเข้ามาเป็นคนงานขั่วคราวของรัฐ ซึ่งผลผลอยได้อีกอย่าง ที่เกิดตามมา ก็เป็นความภาคภูมิใจที่คนเหล่านี้จะได้เห็นสิ่งที่เขาลงมือลงแรงทำ ไม่ว่าจะเป็นห้วย หนองคลอง บึง หรือต้นไม้ สักต้นที่พวกเขาปลูก เห็นแล้วก็จะเกิดความภูมิใจ เกิดความรักถิ่นฐานบ้านเกิดขึ้นมา
การที่รัฐบาล แจกเงินอย่างเดียว กระเป๋าฉีกแน่ และยังถมไม่เต็ม รอบเดียวก็เกินพอแล้ว สู้ ใช้เงินกู้เป็นการลงทุนพื้นฐานให้สังคมชนบท แจกเงินแลกแรงงาน ซึ่งจะเป็นโครงการที่ดีที่สุด ต่อการเยียวยาคน และพัฒนาฟื้นฟูบ้านเมือง