สรุป พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน รัฐไม่ทิ้งใคร ช่วยกันพยุงเศรษฐกิจต้านโควิด-19

 

สรุป พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน รัฐไม่ทิ้งใคร ออกมาตรการช่วยพยุงเศรษฐกิจ ต้านการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ทำให้หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะประชาชนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ หนักสุด คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว ที่กระทบกันเป็นห่วงโซ่ในระบบเศรษฐกิจ

 

โดยรัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน (คลิกดูฉบับเต็ม ที่นี่) โดยมีแผนการใช้เงินดังนี้

 

1. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

วงเงิน 45,000 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบกระทรวงสาธารณสุข

 

 – เพื่อรองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชย และค่าเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้ชำนาญการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

– โครงการเพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซันป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์

 

– เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษาป้องกันควบคุมโรค พัฒนาทางการแพทย์เพื่อการฟื้นฟูด้านสาธารณสุขของประเทศ

 

– เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายการกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดโควิด

 

– เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดโควิด

 

2. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

วงเงิน 555,000 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบกระทรวงการคลัง

 

– โครงการเราไม่ทิ้งกัน เยียวยาเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จำนวน 14 ล้านคน คาดใช้งบประมาณ 2.4 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มิ.ย. 63)

 

– เยียวยาเกษตรกร ครัวเรือนละ 15,000 บาท รวม 10 ล้านครัวเรือน คาดใช้งบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 7 มิ.ย. 63)

 

– เยียวยากลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย คนพิการ เด็กแรกเกิด และผู้สูงอายุ รับคนละ 3,000 บาท จำนวน 13 ล้านคน คาดใช้งบประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พ.ค. 63)

 

3. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด

 

วงเงิน 400,000 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบกระทรวงการคลัง

 

– แผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยครอบคลุมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลทุนท่องเที่ยวและบริการ

 

– แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยการส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิต และผลิตภัณฑ์ของธุรกิจชุมชนที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนายความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งการสร้างการเข้าถึงช่องทางการตลาด พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน

 

– แผนงานหรือโครงการส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชนรวมถึงการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชน เพื่อให้สภาวะการบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติได้โดยเร็ว

 

–  แผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิตเพื่อพัฒนาประเทศในระยะต่อไป

 

 

เงิน 1 ล้านล้าน กู้กันแบบไหน

 

สำหรับประเด็นเรื่องการกู้เงินนั้น นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้โพสต์อธิบายเรื่องดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า รัฐบาลมีเครื่องมือในการกู้เงินทั้งเครื่องมือระยะยาว เช่น การขายพันธบัตร ที่เรียกว่า  “เราไม่ทิ้งกัน” ตั้งแต่อายุ 5-50 ปีให้นักลงทุนสถาบัน การขายพันธบัตรออมทรัพย์ให้ประชาชน (พันธบัตร “เราไม่ทิ้งกัน” 5 หมื่นล้าน เกลี้ยงในพริบตา เหตุดอกเบี้ยงาม)

 

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการกู้จากองค์การระหว่างประเทศหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และเครื่องมือระยะสั้น เช่น การออกตั๋วเงินคลัง การกู้เงินผ่านสถาบันการเงินในรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) หรือเงินกู้โดยการทำสัญญา (Term loan) ซึ่งภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านนี้ก็จะกระจายการกู้เงินไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในเครื่องมือใดเครื่องมือนึงเป็นการเฉพาะ (สบน.กู้เพิ่มอีก 5 หมื่นล้าน)

 

โดยรัฐบาลจะทยอยกู้เงินตามความต้องการใช้เงินผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน และเยียวยาเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้รัฐบาลาไม่จำต้องกู้เงินทั้ง 1 ล้านล้าน ซึ่งการจะกู้เป็นจำนวนเท่าไร ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้เงิน

 

ทั้งนี้ ถ้าหากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจฟุบนาน งบประมาณปี 2564 ใช้ไม่เพียงพอในการดูแลประชาชนและเศรษฐกิจ ก็อาจจะต้องกู้จนครบจำนวน 1 ล้านล้าน แต่ถ้าพวกเราช่วยกันแล้วคุมโรคอยู่ ทุกๆ อย่างค่อยๆ ผ่อนคลาย เศรษฐกิจเริ่มหมุน คนกลับมามีรายได้ เงินงบประมาณ 2564 ดูแลได้อย่างเพียงพอ ก็อาจจะไม่ต้องกู้จนครบ 1 ล้านล้านบาทก็เป็นได้

 

อย่างไรก็ตาม จากการประมาณการ หากต้องกู้เงินครบ 1 ล้านล้านบาท ภายใน 30 ก.ย. 64 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะสามารถกู้ได้ตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ คาดว่าหนี้สาธารณะของไทย ณ 30 ก.ย. 64 จะอยู่ที่ 57.96% ของ GDP ซึ่งยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่ประกาศกำหนด Debt/GDP ไว้ที่ 60%

 

ทั้งนี้ การที่ Debt/GDP ที่ระดับ 60% นี้ เป็นระดับหนี้พึงมีในสภาวการณ์เศรษฐกิจที่ปกติ แต่ในสภาวการณ์ที่ไม่ปกติ หากมีความจำเป็นต้องมีเงินเพื่อดูแลประชาชนและเศรษฐกิจเพื่อให้เดินต่อไปได้ และสามารถกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และอาจทำให้หนี้สาธารณะเกินระดับ 60% ไปบ้างก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เมื่อเศรษฐกิจกลับมาเจริญเติบโต สัดส่วนดังกล่าวก็จะกลับมาอยู่ในภาวะปกติ

 

ยังมี พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง

 

นอกจากนี้ ยังมีโดยร่าง พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับมีไว้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. โดยส่วนนี้ไม่มีการกู้เงินหรือนำเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศมาใช้แต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงการจัดสรรสภาพคล่องภายในประเทศเท่านั้น โดย พ.ร.ก.ดังกล่าวประกอบไปด้วย

– ร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ. …. หรือที่เรียกว่า พ.ร.ก. soft loan 500,000 ล้านบาท

 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ธปท.เป็นตัวกลางจัดสภาพคล่องปล่อยเงินกู้ผ่านธนาคารให้ SMEs นำไปหมุนเวียนในธุรกิจ จากนั้นเมื่อครบ 2 ปี สถาบันการเงิน หรือ ธนาคารก็ต้องเอากลับมาคืน ธปท. โดยสินเชื่อนี้จะให้ดอกเบี้ย 2% สำหรับ SMEs ที่วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท และให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือ SFIs พักชำระหนี้ 6 เดือน ให้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท

 

– ร่างพระราชกำหนดการสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ก. BSF) หรือ กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF)

 

โดยกองทุน BSF จะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน โดยแบงก์ชาติจะเข้าไปช่วยในกรณีจำเป็น เพื่อแก้ไขกรณีที่กลไกตลาดไม่ทำงาน และป้องกันการตื่นตระหนกที่อาจลุกลามกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน โดยจะให้ความช่วยเหลือกับบริษัทที่มีคุณภาพดีแต่ขาดสภาพคล่องจากการทำงานที่ไม่ปกติของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่ง BSF เป็นมาตรการ หลังพิง (backstop) ระยะสั้น เมื่อตลาดทำหน้าที่ได้ตามปกติ ความเชื่อมั่นกลับคืนมา บทบาทของ BSF ก็จะยุติลง

 

(ขอบคุณข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย และเฟซบุ๊กแพตริเซีย มงคลวนิช)

 

 

ขอขอบคุณ  https://www.thairath.co.th/news/business/1862493

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *