บอร์ดการศึกษาคนพิการ เห็นชอบ แผนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) เน้นคนพิการต้องเรียนรู้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยวิถีพอเพียง
วันนี้ (15ก.พ.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการเป็นประธานว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) โดยสาระหลักในแผนดังกล่าวจะสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ใช้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 จนสิ้นสุดแผนปี 2564 อย่างไรก็ตามแผนดังกล่าวจะต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้แผนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่าคนพิการต้องเรียนรู้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยวิถีพอเพียง มียุทธศาสตร์หลัก 8 ยุทธศาสตร์ได้แก่ 1.การขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 2.การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาพิเศษทุกระดับ ทุกระบบ 3.พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรองรับการจัดการศึกษาระบบดิจิทัล 4.ส่งเสริม สนับสนุน การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ที่มุ่งยกระดับมาตรฐานการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ 5.เร่งผลิต พัฒนา และจัดระบบบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรฐานวิชาชีพ 6.พัฒนาประสิทธิภาพการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศ 7.พัฒนาระบบงบประมาณ และทรัพยากรทางการศึกษาสำหรับคนพิการ และ8.พัฒนาระบบบริหารจัดการแบบองค์รวมเชิงบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ซึ่งที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตขอให้กลับไปจัดทำแผนปฏิบัติให้สอดรับด้วย
เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้หารือการจัดการศึกษาพิเศษในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การศึกษาคนพิการ การศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ และการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส โดยมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางและเห็นว่าควรจะมีการนิยามให้ชัดเจน และมีข้อเสนอให้ใช้คำว่าการจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นพิเศษเพื่อให้ครอบคลุมทั้งคนพิการและผู้ที่มีความสามารถพิเศษ โดยได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาสำหรับผู้มีความจำเป็นพิเศษขึ้นมีตนเป็นประธาน เพื่อพิจารณาและจัดทำข้อเสนอแนะการจัดการศึกษาคนพิการ และการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ ที่ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตลอดชีวิต ทั้งในเรื่องของการทำงาน บุคลากร และงบประมาณ ที่บูรณาการทุกหน่วยงานทุกสังกัด รวมถึงนำเสนอโครงสร้างในการบริหารจัดการว่าควรจะมีหน่วยงานขึ้นมาใหม่หรือไม่ จะทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติ สนับสนุน หรือควบคุมกำกับ และควรสังกัดหน่วยงานใดหรือเป็นหน่วยงานอิสระ โดยให้เร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นภายใน 2 เดือน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา จากนั้นให้จัดทำรายละเอียดว่าจะออกเป็น พ.ร.บ.โดยเฉพาะหรือไม่
ขอบคุณ… https://www.dailynews.co.th/education/627475