เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ร่างกายก็อ่อนแอลงเป็นธรรมดา เนื่องจากมีการใช้ร่างกายมาหนักหนาพอสมควร รวมถึงดวงตาก็เช่นกัน เมื่ออายุเพิ่มขึ้นก็มักมีปัญหาสายตาตามมา ในผู้สูงอายุควรหมั่นเฝ้าระวังเป็นพิเศษและเอาใจใส่สม่ำเสมอโดยการพบแพทย์เป็นประจำเพื่อป้องกันโรคร้าย
จากผลวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ ศูนย์โรคตาและหูแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ระบุว่า พบเชื้อแบคทีเรียชื่อ C. pneumonia ในเนื้อเยื่อดวงตาของผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุจำนวน 5 คนใน 9 คน แต่ไม่พบในเนื้อเยื่อดวงตาของคนปกติ เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในเนื้อเยื่อดวงตา การติดเชื้อซ้ำๆ จะทำให้หลอดเลือดฝอยในดวงตาทำงานได้ไม่เต็มที่ เป็นเหตุให้เลือดไปหล่อเลี้ยงดวงตาไม่เพียงพอ เมื่อเนื้อเยื่อดวงตาขาดออกซิเจนเพราะเลือดไหลเวียนไม่สะดวก จึงเป็นเหตุให้จอประสาทตาเสื่อม และหากติดเชื้อบ่อยๆ จะทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
นอกจากหมั่นดูแลดวงตาไม่ให้เกิดการติดเชื้อแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยถนอมสายตาได้ คือ การรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอ ธาตุสังกะสี วิตามินอี และวิตามินซี เช่น ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ผักใบเขียวเข้ม ฟักทอง พมะม่วงสุก อาหารทะเล ธัญพืชต่างๆ ซึ่งช่วยให้มองเห็นในแสงสลัว ป้องกันการเกิดต้อกระจก อาการตาบอดกลางคืน หากขาดวิตามินเหล่านี้จะทำให้เยื่อบุตาขาวแห้ง ย่น เป็นแผล ตามมาด้วยกระจกตาแห้ง ขรุขระ อ่อนแหลว และท้ายสุด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจตาบอดได้
ใส่ใจดวงตาผู้สูงอายุ ป้องกันการเกิดโรคร้าย
อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่า “ตา” เป็นอวัยวะที่สำคัญมาก ถึงแม้โรคเกี่ยวกับตาจะไม่ทำให้เสียชีวิต แต่อย่าลืมว่าดวงตาเสียแล้วซ่อมไม่ได้ ซึ่งบางครั้งอาการผิดปกติเกี่ยวกับตาอาจไม่แสดงในระยะแรก มารู้อีกทีก็ป่วยขั้นรุนแรงไปแล้ว ดังนั้น ควรให้ความใส่ใจและตรวจสุขภาพตาเป็นประจำเพื่อการมองเห็นที่สดใสไปอีกนาน ลองมาดูกันว่าอาการใดเข้าข่ายมีปัญหาหรือเป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาบ้าง
โรคต้อหินถือเป็นอีกหนึ่งโรคยอดนิยมที่ผู้สูงอายุเป็นกันมาก ทั้งยังเป็นโรคที่อันตรายเพราะความรุนแรงของโรคอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นได้ มี 2 แบบ ได้แก่ ต้อหินมุมปิดและต้อหินมุมเปิด การรักษาคือการหยอดตาเพื่อลดความดันลูกตา ให้อยู่ในระดับที่ไม่ทำลายประสาทตา และการรักษาด้วยการทำเลเซอร์ โรคต้อหินไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่ช่วยรักษาอาการไม่ให้แย่ลง เพื่อการมองเห็นได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และผู้ที่ปวยเป็นโรคต้อหินต้องหมั่นหยอดยาอย่างสม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามกำหนดไม่ให้ขาดเพื่อตรวจความดันตาเป็นประจำ ถ้าหากรู้สึกว่าการมองเห็นแคบลงหรือมีอุบัติเหตุอาจไปพบแพทย์ก่อนเวลานัดได้
อาการมองเห็นวงม่านตาตัวเองเวลากระพริบตาและมองเห็นแสงวงม่านตาเมื่อหลับตาระยะหนึ่งแล้วหายไป อาจเกิดจากการทานยาบางชนิดที่ทำให้ความดันตาสูงขึ้น ส่งผลให้การหักเหแสงผิดเพี้ยนไป จึงเห็นแสงเป็นวงๆ หากมีการพบแพทย์เพื่อตรวจสายตาทุก 6 เดือนแล้วไม่พบความผิดปกติ อาการดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด เป็นเพียงผลข้างเคียงของยาที่ทานเท่านั้น แต่ถ้าหากไม่ได้มีการพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจตาโดยละเอียดอีกทีจะดีที่สุด
อาการมีขี้ตามากขณะตื่นนอน มีอาการคันตาร่วมด้วย อาจเกิดจากเวลานอนหลับตาไม่สนิท ทำให้ระคายเคืองตา และเกิดน้ำตา จึงมีขี้ตาออกมามาก โดยทั่วไปอาการนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เว้นแต่ถ้าหากขี้ตามีสีเขียวหรือเหลือง อาจเป็นสัญญาณบอกเหตุของโรคบางอย่างได้
การใช้น้ำตาเทียมในคนที่มีปัญหาตาแห้ง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการทานยาบางชนิด ข้อแนะนำคือหากมีอาการตาแห้งไม่มาก ให้ใช้น้ำตาเทียมชนิดที่หยอดวันละ 4 ครั้ง จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงของสารกันเสีย แต่ถ้าหากเป็นมากก็ให้ใช้ตามจำนวนครั้งตามที่ต้องการได้เลย โดยส่วนใหญ่แล้วน้ำตาเทียมไม่ค่อยมีผลกระทบมากนัก และไม่ตีกับยาชนิดอื่น
ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาตาสั้นอยู่แล้ว หากพบว่าตัวเองมีอาการมองเห็นพร่ามัวมากกว่าปกติ อาจเพิ่งไปตัดแว่นใหม่มาไม่นาน แต่ก็พบว่ามีปัญหาในการมองเห็นอีก มีความเสี่ยง 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ตาสั้นมากขึ้น ต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อมจากอาการตาสั้น หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ จากสายตาสั้น ดังนั้นแนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจตาโดยละเอียดจะดีที่สุด และรักษาได้ทันการ ถ้าหากพบว่าเป็นโรคที่ต้องได้รับการผ่าตัด เช่น โรคต้อหิน การผ่าตัดคนที่มีปัญหาสายตาสั้นจะทำได้ยากกว่าคนที่มีสายตาปกติ เพราะมีโอกาสที่จอประสาทตาจะฉีกขาดได้มากกว่าคนที่มีสายตาปกติ
โรคมุมตาแคบ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อหินฉับพลันและต้อหินมุมปิด หากมุมตายังไม่แคบมากสามารถปล่อยทิ้งไว้ก่อนเพื่อดูอาการได้ หรือจะทำเลเซอร์เพื่อรักษาเลยก็ได้เช่นกัน แต่ในคนที่มุมตาแคบมากควรเลเซอร์ทันทีเพื่อรักษาอาการ แต่ในคนที่ยังเป็นไม่มากและยังไม่เลเซอร์ทันทีนั้น ควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และทำการรักษาไปตามอาการ ส่วนมากการเลเซอร์เพื่อรักษาโรคมุมตาแคบไม่มีผลข้างเคียงมากนัก มีเพียงความดันตาขึ้นในช่วงแรกแต่ก็จะลดลงหลังทำเลเซอร์ในระยะต่อมา หรืออาจเป็นต้อกระจกเร็วขึ้นแต่ไม่มาก รวมถึงอาจมีตาอักเสบแต่ไม่รุนแรง
ทั้งหมดนี้เป็นความรู้เกี่ยวกับโรคตาส่วนหนึ่ง เพื่อทำการศึกษาร่วมกันช่วยให้ระมัดระวังและสังเกตตัวเองรวมถึงคนรอบข้างอย่างสม่ำเสมอ ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันและรักษาดวงตาให้อยู่กับเรานานๆ คือหมั่นตรวจตาอยู่เสมอ อย่าปล่อยปะละเลยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะการตรวจพบโรคในระยะต้นจะรักษาได้ดีกว่าการตรวจพบโรคในระยะที่เป็นขั้นรุนแรงแล้วเสมอ
ข้อมูลจาก: นิตยสารชีวจิต ฉบับ 147 และ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ขอขอบคุณ https://goodlifeupdate.com/healthy-body/207473.html