มทร.ธัญบุรี ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ออกแบบและพัฒนากระบวนการผลิตถ่านอัดแท่ง สำหรับคนพิการ

ทีมนักวิจัยภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ธัญบุรี ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ภายใต้โครงการการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนากระบวนการผลิตถ่านอัดแท่งที่เหมาะสมกับการทำงานของคนพิการ ลงพื้นที่ต้นแบบ ชุนชนบ้านหนองปลาไหล อ.เมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี นำทีมโดย ผศ. ดร.ศิริชัย ต่อสกุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการและหัวหน้าโครงการวิจัย

ผศ.ดร.ศิริชัย ต่อสกุล เปิดเผยว่า ตามยุทธศาสตร์ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์มุ่งเน้น การพัฒนางานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป้าประสงค์เพื่อให้มีงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ ที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ และนานาชาติ งานวิจัย สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม และงานสร้างสรรค์บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสถานประกอบการ ชุมชน สังคม เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาหน่วยงานของมหาวิทยาลัยและคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทีมนักวิจัยของภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ได้รับอนุมัติทุนอุดหนุนจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ให้ดำเนินการวิจัยเรื่อง “การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนากระบวนการผลิตถ่านอัดแท่งที่เหมาะสมกับการทำงานของคนพิการ” ซึ่งขณะนี้งานวิจัยได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จึงทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมาย คือ ชุนชนบ้านหนองปลาไหล อ.เมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี

ทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาการทำงานของคนพิการให้สามารถทำงานร่วมกับคนปกติได้ โดยพัฒนาและออกแบบเครื่องจักรที่เหมาะสมกับการทำงานโดยคนพิการ เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำงาน และสร้างรายได้ให้กับคนพิการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ ซึ่งเป็นผลงานของทีมนักวิจัยและนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ประกอบด้วย นายกิตติพงศ์ วงษ์มหิงส์ นายภูวไนย มาขำ นายพงษ์สิทธิ์ วรรณภาค นายกิตติศักดิ์ บุญชู นายคมสันต์ เมืองมูล และนายอุดมศักดิ์ วัฒนกูล โดยมีอาจารย์ ชวลิต อินปัญโญ และผศ.ดร.กุณฑล ทองศรี เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบและสิ่งประดิษฐ์พัฒนากระบวนการผลิตถ่านอัดแท่งที่เหมาะสมกับคนพิการ เป็น “โรงงานต้นแบบตั้งอยู่ที่ชุนชนบ้านหนองปลาไหล อ.เมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี” สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ประกอบด้วย 1. การปรับปรุงและออกแบบเครื่องบดถ่าน 2. ออกแบบท่อทางออกผงถ่าน 3.การปรับปรุงและออกแบบเครื่องผสมผงถ่าน 4.ปรับปรุงและออกแบบระบบลำเลียงส่วนผสมผงถ่าน5.ปรับปรุงและออกแบบเครื่องอัดถ่าน 6. ปรับปรุงและออกเตาอบถ่านอัดแท่ง สำหรับช่วยสังคม โดยเฉพาะคนพิการให้ทำงานได้จริง เพิ่มสร้างอาชีพใหม่ และมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

โดย นายกิตติพงศ์ วงษ์มหิงส์ ตัวแทนนักศึกษาในการออกแบบสิ่งประดิษฐ์ในครั้งนี้ เล่าว่า เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตถ่านอัดแท่งที่เหมาะสมกับคนพิการ คนพิการมีรายได้จากการทำงาน สามารถทำเป็นอาชีพได้ และสร้างองค์ความรู้ในการออกแบบและพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมขนาดย่อมให้เหมาะสมกับคนพิการ จึงนำปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนพิการในเรื่องของอาชีพ การใช้ชีวิตของคนพิการ มาประยุกต์กับระบบเศรษฐกิจของสังคมในปัจจุบัน โดยเล็งเห็นว่าการผลิตถ่านอัดแท่งน่าจะเหมาะกับการสร้างอาชีพของชุมชน เป็นการสร้างพลังงานทดแทนขึ้นมาใช้อีกทั้งยังขายและสร้างเป็นอาชีพได้ สอดคล้องตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยการพัฒนากระบวนการผลิตถ่านอัดแท่งที่เหมาะสมกับคนพิการ เพื่อให้คนพิการมีรายได้จากการประกอบอาชีพ มีงานทำลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม โดยทางคณะผู้จัดทำได้ออกแบบและสร้างกระบวนการผลิตถ่านอัดแท่งที่สามารถให้คนพิการสามารถทำงานได้สะดวก ไม่เกิดความเมื่อยล้า มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายในขณะทำงาน ทำให้คนพิการสามารถทำงานได้เหมือนคนปกติ และสามารถทำงานร่วมกับคนปกติได้ เพื่อเป็นต้นแบบแนวทางในการสร้างอาชีพในชุมชนที่มีคนพิการ เพื่อเกิดเป็นอาชีพในการร่วมกันพัฒนาประเทศต่อไป

ทางด้าน นายวีระพงษ์ วงษ์ยา ชาวบ้านหนองปลาไหล ลุงมีอาการการเคลื่อนไหวขาขวาอ่อนแรง ปัจจุบันไม่ได้ทำงาน เลี้ยงหลานอยู่ที่บ้าน เล่าว่า ไม่มีรายได้อะไร อยู่บ้านมีหน้าที่รับส่งหลานไปโรงเรียน เมื่อรู้ข่าวว่าอาจารย์และนักศึกษาของทางมหาวิทยาลัยเข้ามาสร้างเครื่องจักร และอยากสร้างอาชีพให้กับคนพิการ ตลอดจนคนที่ไม่มีอาชีพไม่มีรายได้ ลุงเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ได้เป็นชาวบ้านต้นแบบที่เข้ามาทำงานในโรงงานแห่งนี้ ซึ่งนักศึกษาให้คำแนะนำในการทำงาน และมีระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งลุงมีหน้าที่ในการผสมส่วนผสมผ่านเครื่อง “รู้สึกดีที่ตนเองมีโอกาสได้มาทำงานตรงนี้ ต่อไปจะได้มีรายได้”

ผู้สนใจผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่ง จากคนพิการ ผลิตจากกะลามะพร้าว โดยถ่ายมีคุณสมบัติ ไฟแรงติดนาน ไม่มีสะเก็ดไฟ และขี้เถ้าน้อย ไร้ควัน เหมาะสำหรับหมูกระทะ จิ้มจุ่ม ปิ้งย่าง สั่งซื้อหรือเข้าเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบ ได้ที่ บริษัท ช.เอื้อศิริ เทคโนโลยี จำกัด 43/4 ม.5 ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี โทร.082-914-4645

 

ขอบคุณ… http://www.thaipr.net/education/841913

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *