‘ความพิการต้องไม่เป็นเรื่องในเข่ง’ คุยกับมณเฑียร บุญตันเมื่อโควิด-19 สร้างวิถีชีวิตใหม่

 

ภาพและบทความจาก ThisAble.ME

 

ผ่านมาร่วม 3 เดือน ตั้งแต่โควิด-19 เชื้อไวรัสไข้หวัดแพร่กระจายไปทั่วโลก ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ได้รับกระทบจากการระบาดในครั้งนี้จนทำให้คนในทุกกลุ่มได้รับผลกระทบกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จากทั้งมาตรการเคอร์ฟิว ล็อคดาวน์ การเว้นระยะห่าง การปิดห้างร้านสถานบริการต่างๆ และความหวาดกลัวต่อการแพร่ระบาด จนเกิดมาตรการเยียวยาออกมาเป็นระยะ ทั้งเงินเยียวยากลุ่มอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การแจกอาหาร รวมไปถึงเงินเยียวยาคนพิการ และเงินเยียวยากลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ

 

อย่างไรก็ดี มีเสียงวิพากษ์หนาหูถึงเรื่องการเยียวยาที่ล่าช้า และเข้าไม่ถึงคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการที่ดูเหมือนจะเป็นคนกลุ่มท้ายๆ ที่ได้รับการช่วยเหลือ ชวนคุยกับมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา ถึงปัญหาและมาตรการเยียวยาที่เข้าไม่ถึงคนพิการในช่วงโควิด-19 ไปจนถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องสิทธิคนพิการตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

 

 

การต่อสู้เรื่องสิทธิคนพิการในไทยเป็นอย่างไร

มณเฑียร: ตอนนี้เมืองไทยอยู่ในแนวคิดรัฐเข้มแข็ง มีระบบราชการเป็นแขนเป็นขา ฉะนั้นรัฐในความหมายนี้จึงไม่ได้สะท้อนความเป็นประชาชนเท่าไหร่ เห็นแต่ความนามธรรม ไม่รู้ว่ารัฐคืออะไร ชาติคืออะไร

ความเข้มแข็งของประเทศในมุมมองผมคือสังคมเข้มแข็งและคิดว่าประเทศนี้จะเจริญได้ก็ต้องมีดุลยภาพระหว่างรัฐเข้มแข็งกับสังคมเข้มแข็งและยึดประชาชนเป็นหลัก ตัวชี้วัดคือประชาชนต้องเข้มแข็ง อยู่ดีกินดี มีบทบาทชี้นำนโยบายเรื่องต่างๆได้ ต่างจากรัฐเข้มแข็งที่เราไม่รู้เลยว่าใครชี้นำ ประโยชน์สุขของคนโดยรวมคือใคร เราไม่เคยเห็นหน้าค่าตา เมื่อคนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปมีอำนาจก็มักมีแนวโน้มเป็นรัฐเข้มแข็ง และจะเชียร์สังคมเข้มแข็งก็ต่อเมื่อตัวเองไม่มีอำนาจ

คนพิการภาคประชาสังคมก็ไม่ใช่สายแข็ง ที่ผ่านมาคนพิการพยายามเกาะเกี่ยวไปกับรัฐ วิพากษ์วิจารณ์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการบ้าง หน่วยงานรัฐบ้าง แต่ไม่เคยพุ่งชนเหมือนสายสิ่งแวดล้อม อย่างมากคนพิการก็ไปประท้วงหวย พอเขาให้หวยเราก็กลับบ้านใครบ้านมัน เขาแจกยาหอมมาเราก็พอใจ ฉะนั้นคนพิการจึงไม่ใช่ภัยคุกคามของรัฐ ผู้มีอำนาจไม่มองว่าคนพิการเป็นปฏิปักษ์  อย่างมากก็แค่รำคาญ ไม่ไปไกลพอจะก่อเชื้อไฟได้

ที่ผ่านมาคนพิการใช้หลายกลยุทธ์ในการทำงานกับภาครัฐ ทั้งวิพากษ์ ติติง เจรจาต่อรอง ผมคิดว่าได้ทุกแบบหากรักษาจุดยืนในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการและเมื่อไหร่ที่มีโอกาสจะต้องนำเสนอนโยบายกับผู้บริหาร ผมไม่มีสิทธิอยู่ในพรรคการเมืองเพราะเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งดีอย่างเสียอย่าง ตอนนี้ผมคุยได้ทุกพรรค ตอนเจอคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ก็ยังบอกให้ช่วยเชียร์ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมหน่อย แกก็ยินดี เราไม่ได้เป็นศัตรูกับใครในทางการเมืองแต่ทำงานเชิงประเด็นเสียมากกว่า

 

สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เห็นอะไรบ้าง

อาจเป็นโชคดีของรัฐบาล ที่เรามีระบบสาธารณสุขค่อนข้างดี มี อสม.เป็นล้านคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่ทำงานโยงไย ถักทอกันแน่นหนาและจัดการปัญหาของโรคระบาดได้ดี จุดเปลี่ยนที่ดีคือเมื่อนายกฟังหมอและนักวิชาการแทนทหาร แต่ก็ยังใช้ พรก.ฉุกเฉินเป็นกลไกทำให้คนเสียเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเราจะมีสาธารณสุขหรือมาตรการดีเท่าไหร่ ศัตรูของคนพิการคือ Social Distancing ที่แยกคนพิการออกจากสังคม อาชีพของคนพิการส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส พบปะผู้คน เมื่อทำไม่ได้รายได้ก็เป็นศูนย์ คนตาบอดแทบเลี่ยงการสัมผัสผู้คนไม่ได้เมื่อต้องเดินทาง เขาขับรถเองไม่ได้ ไม่มีรถส่วนตัว ฉะนั้นจึงได้รับผลกระทบแรงมากจากโควิด-19 คนไม่มีงานก็ยังคงไม่มีงาน คนที่มีงานก็ตกงาน ไม่ว่าจะนวด ขายของตามแหล่งท่องเที่ยว ขายสลากหรือแสดงความสามารถและถึงแม้จะมีการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมแต่กลับไปได้ไม่ไกลในระบบสังคม ดังจะเห็นจากประวัติศาสตร์คนพิการในโลกสมัยใหม่ที่มักอยู่ในสังคมเมือง อันเนื่องจากคมนาคมขนที่ดี โครงสร้างพื้นฐานต่างเจริญในเมือง ทั้งที่จริงแล้ว 60% ของคนพิการอยู่ชนบทในภาคเกษตรกรรม แต่กลับไม่มีการบันทึก ฉะนั้นถ้าจะเปลี่ยนวิธีคิด คนพิการก็ควรได้ก้าวออกมาจากหลังห้อง เป็น Active Citizen ในภาคเกษตรกรรมเพื่อทำให้เรื่องการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อคนทั้งมวลหันความสนใจไปสู่ชนบทมากขึ้น

หลายคนบอกว่า อย่าไปเสียเวลากับเรื่องคนพิการ เราก็แย้งว่า คนพิการนั้นมีอยู่เพียงแต่เขาไม่มีผลผลิต เป็นแค่ผู้อาศัยในบ้านที่ได้รับเบี้ยความพิการเดือนละ 800 บาท ทำให้เขามีอำนาจต่อรองในครอบครัวน้อย แต่ถ้าเมื่อใดเขามีอำนาจต่อรอง มีกำลังซื้อมากขึ้น เช่น ใช้สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ได้ อาจเป็นฝ่ายการตลาดให้ครอบครัว อำนาจของเขาก็กลับมา สมาคมคนตาบอดลงทุนสร้างโรงคัดแยกผลิตผลทางการเกษตรที่กาฬสินธุ์ เป็นการเกษตรมาตรฐานสูง เพื่อกดดันให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร เข้าถึงได้ ชีวิตคนพิการในชนบทจะไม่ใช่คนที่ไม่รู้จะทำอะไร ทฤษฎีว่าคนพิการอยากได้ดีต้องเข้าเมือง คงไม่ได้ผลแล้ว เราต้องกระจายโอกาสให้ไกลมากที่สุดด้วย คนในเมืองก็อยู่กันไป แต่อีก 60% ในท้องไร่ท้องนา ต้องเข้าถึงโอกาสได้ด้วย

 

 

เยียวยาเพราะคนพิการกดดัน

สิ่งที่รัฐเยียวยาคนพิการในตอนนี้ทั้งหมดเกิดจากการโดนคนพิการกดดัน คนไม่รู้จะนึกว่าอยู่ดีๆ รัฐบาลก็ใจดีกับคนพิการ แต่ไม่ใช่เลย คนพิการยกพวกไปกดดันทุกที่ ทำข้อเสนอไปที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และข้อเสนอจากวุฒิสภาไปเป็นสิบๆ ฉบับ ฉะนั้นไม่มีคำว่าอยู่ดีๆ เขาก็ให้คนพิการ ขนาดเป็นข้อเสนอผ่านมติกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (คพช.) เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ใน 4 มาตรการ กลับมีมาตรการเดียวที่เป็นรูปธรรมคือเงินเยียวยา 1,000 บาท จ่ายครั้งเดียว ก็เพิ่งสำเร็จเมื่อ 29 พ.ค. โดยอ้างว่าเงินนี้เป็นเงินนอกงบประมาณ กรมบัญชีกลางไม่มีระเบียบให้จ่ายเงินกองทุนไปที่บัญชีคนพิการ จึงรอให้คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 28 เม.ย.ถึงได้เริ่ม

อย่างไรก็ดี คนพิการ 4 แสนกว่าคนไม่มีบัญชี ไม่มีทางที่เงินจะถึงมือได้เร็ว แค่เงิน 1,000 บาทใช้เวลา 3 เดือนกว่า เงินเยียวยา 5,000 บาทเราก็อดหลับอดนอนรับโทรศัพท์ให้คนที่กรอกไม่เป็น เข้าถึงไม่ได้บางครั้งกรอกเสร็จแล้วระบบส่ง OTP ไปที่โทรศัพท์ คนตาบอดก็อ่านโทรศัพท์ปุ่มกดเครื่องละ 500 บาทไม่ได้ กว่าจะหาคนช่วยอ่านก็หมดเวลา การเข้าถึงเงิน 5,000 บาทจึงไม่ใช่เรื่องง่าย คิดจะกู้เงิน ธนาคารบางที่ก็ไม่ให้กู้ หรือไม่ให้เปิดบัญชีด้วยซ้ำไปเพราะเห็นเป็นคนพิการ ข้อเสนอของ คพช.เรื่องกู้ฉุกเฉิน 10,000 บาท ก็ยังไม่ออก เพราะต้องไปแก้ระเบียบกองทุนก่อน ต้องไปเยี่ยมบ้าน ฯลฯ ฉุกเฉินก็คือไม่ฉุกเฉิน

 

ระบบดีที่ ต้องกล้าเปลี่ยน

ระบบราชการแบบนี้เดินต่อไม่ได้หรอก ยิ่งเจอโควิด-19 ยิ่งเห็นได้ชัดเลยว่าไม่สามารถเข้าสู่ New Normal ได้ ผมรณรงค์ให้กองทุนคนพิการเปลี่ยนสภาพเป็นนิติบุคคลแบบ สสส.กว่า 10 ปีแล้ว ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ พก.ก็ไม่เอาด้วย อยากรักษากองทุนไว้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้มีเงินนอกระบบหล่อเลี้ยงกิจการกรม พก.มี 2 บทบาท หนึ่ง เป็นกรมในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีหน้าที่ดำเนินกิจการตาม พรบ.บริหารราชการแผ่นดิน สอง เป็นเลขา คพช. ต้องตรวจสอบการเข้าถึงสิทธิของคนพิการจากทุกกระทรวง และนำเสนอผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิการเข้าถึงสิทธิ แล้วรายงานต่อที่ประชุม คพช. แต่พก.ให้ความสำคัญกับหน้าที่กรมมากกว่าเป็นเลขาฉะนั้นเมื่อมองว่าตัวเองเห็นกรมและมีงบประมาณน้อย กองทุนจึงจำเป็น และปัญหาที่มีจึงวนไปเรื่อยๆ

 

 

เรื่องเบี้ยความพิการ เดิมทีมีมติ คพช. ตั้งแต่เดือน ธ.ค.62 ขอปรับจาก 800 เป็น 1,000 ถ้วนหน้า คอนเส็ปของการให้คือต้องถ้วนหน้า ไม่ใช่หลักการความจำเป็นเฉพาะบุคคล เพราะเรามีสวัสดิการแตกแยกย่อยตามสภาพอยู่แล้ว เบี้ยคือสัญลักษณ์ว่าเกิดเป็นคนพิการนั้นมีต้นทุนในการดำรงชีวิตมากกว่า รัฐจึงต้องช่วยเสริมพลัง ฉะนั้นการขึ้นเบี้ยแต่ละครั้งจึงควรเท่ากัน ปรากฎว่า ครม.มีมติในเดือนม.ค.63 ให้ขึ้นเป็น 1,000 บาท เฉพาะคนมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราก็ยื่นกลับไปให้ทบทวน จนวันที่ 30 มี.ค.ก็มีมติขึ้นเบี้ยสำหรับเด็กอายุไม่ถึง 18 ปี  ทำให้อีก 8 แสนคนไม่ได้ขึ้นเบี้ย เกิดเป็นความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ อิจฉาริษยากันเองและรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ตอนนี้เราก็เสนอเข้า ครม.อีก เป็นอย่างนี้อยู่หลายรอบ และไม่ใช่เพียงเรื่องนี้ แต่นโยบายคนพิการส่วนใหญ่มักพบปัญหาแบบเดียวกัน

 

การเลือก (selective) และการรวม (inclusive)

Inclusive คือทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ เช่น Inclusive education ก็คือการเรียนรวม ได้แก่การจัดบรรยากาศการเรียนการสอน กฎเกณฑ์ ระบบสื่อ สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับคนทุกข้อจำกัด ผมจึงแปล Inclusive society ว่าสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ต่างจาก Selective ที่ทำให้เกิดการเลือก คนที่มีอำนาจมากกว่าก็มีแนวโน้มจะถูกเลือกมากกว่า ส่วนคนชายขอบไม่มีโอกาสได้ถูกเลือก แล้วใครเป็นคนตัดสินว่าใครควรได้หรือไม่ได้ หากดูตัวอย่างอย่างการลงทะเบียนเยียวยา 5,000 บาท จะเห็นว่ารัฐพยายามบอกว่า คนรวยจะถูกตัดออกเพราะไม่มีคุณสมบัติ แต่ปรากฏว่าคนที่ถูกตัดออกกลายเป็นคนที่เข้าไม่ถึงการลงทะเบียน ไม่ใช่คนขาดคุณสมบัติ ฉะนั้นการสร้างเงื่อนไขจึงเสี่ยงต่อการทำแล้วได้ไม่คุ้มเสีย

 

 

คนพิการอยู่ตรงไหนในระบบการเมืองไทย

อย่างมากก็เป็นผู้ที่ได้รับการดูแล ยังไม่ถึงขั้นเป็นพาร์ทเนอร์และ Active citizen แม้กฎหมายเราล้ำหน้าแต่การทำงานของระบบราชการ รัฐบาล หรือผู้บริหารระดับสูง ทำให้คนพิการถูกปฎิบัติดีกว่าผู้ได้รับการสงเคราะห์มาเล็กน้อย หลังจากทำงานกัดไม่ปล่อยกันมากว่า 40 ปีเราก็เป็นเพียงกลุ่มเปราะบางที่เสียงดัง รัฐอาจมองว่าคนพิการดื้อจังเลย ยอมๆ ไปบ้างก็ได้แต่ไม่เคยบอกว่า คนพิการเป็นพลเมือง ต้องให้เกียรติ ต้องเชิญมาเป็นหุ้นส่วนในการตัดสินใจ เรายังไปไม่ถึงขั้นนั้น

จะเห็นว่าการผ่านกฎหมายต่างๆ มักเกิดขึ้นในช่วงที่มีการยึดอำนาจ เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการที่สภาฯ ไร้ระเบียบ เถียงกันในเรื่องที่ไม่ควรเถียง เล่นเกมกันมากเกินไป พอเล่นเกมจบ ก็เหนื่อยปิดสมัยประชุม สภาผู้แทนราษฎรไทยจึงไม่มีประสิทธิภาพ พอเป็นสภาระบบรัฐประหาร ซึ่งเป็นสิ่งไม่ดี แต่ว่าคนที่ทำรัฐประหารเขามีเป้าหมายในบางเรื่อง ถ้าเรื่องไหนไม่ใช่เป้าหมาย เขาก็ปล่อยให้กฎหมายผ่านแบบง่ายๆ หลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 เอ็นจีโอดันกฎหมายทันสมัยได้เยอะมาก เป็นเรื่องที่ไม่เป็นภัยคุกคามกองทัพเขาก็ไม่สนใจ คนพิการก็ได้อานิสงส์จากเรื่องพวกนี้ ขณะที่สภาปกติเรื่องคนพิการอยู่คิวสุดท้าย  และแม้ว่าจะมีกรรมการคนพิการนั่งพิจารณาและมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านคนพิการอีกจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจเต็มที่ในการตัดสินใจในตอนจบโดยเฉพาะในขั้น ครม. เพราะเราไม่มีแม้แต่เสียงเดียว ฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่า ราชการจะให้ความคิดเห็นอย่างไร

 

“เหนื่อยกันหมดแล้ว กลับบ้านเถิดอาจารย์พรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่ ผมเจอคำพูดแบบนี้ตลอด” มณเทียรกล่าว

 

เรื่องคนพิการมักถูกเข้าใจผิดในหลายด้าน เช่น เรื่องบัตรทองที่เมื่อคนพิการมีอาชีพ สิทธิของเขาถูกยกเข่งไปอยู่ประกันสังคม คนพิการเองไม่ต้องการเพราะสิทธิของบัตรทองนั้นสะดวกกว่า ก็มาร้องเรียน แต่รัฐบาลก็แก้ไขกลายเป็นว่า ให้คนพิการเหมาเข่งไปอยู่บัตรทอง ทำให้คนที่สะดวกใช้ประกันสังคมโวยวายอีก ต้องแก้กลับ สะท้อนให้เห็นว่าประเด็นที่เราคิดว่าง่ายน่าจะจบแค่ชั่วโมงเดียว อาจกินเวลาแก้ถึง 2 ปี

 

 

อะไรที่คนพิการต้องรักษาไว้ในแง่การต่อรองทางการเมือง

ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ไม่ควรเสียเรื่องการมีส่วนร่วมระดับนโยบายและต้องไม่มองว่า คนพิการเป็นเรื่องในเข่ง แต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าไปอยู่ในกระบวนการกระแสหลัก อย่างเรื่องเงินกู้สี่แสนล้านบางคนก็บอกว่า คนพิการไม่ต้องไปยุ่ง ยุ่งเฉพาะเงินกองทุนคนพิการก็พอแล้ว ทั้งที่สี่แสนล้านเป็นเงินของประชาชนทุกคน คนพิการก็เป็นประชาชน ดังนั้นโจทย์ของคนพิการในอนาคตคือมุ่งสู่กระแสหลักให้มาก รักษาจุดเฉพาะเอาไว้ ควบรวม 2 อย่างแบบไฮบริดจ์ เราไม่สามารถทิ้งเรื่องเฉพาะของคนพิการ ไม่สามารถปิดโรงเรียนเฉพาะสำหรับคนพิการได้เพราะโรงเรียนรวมไม่ได้ตอบโจทย์คนพิการได้ทุกคน ดังนั้นด้านหนึ่งที่ทำก็คือผลักให้คนพิการเข้าสู่โรงเรียนเรียนรวมให้ได้มากที่สุด ขณะที่ก็ต้องผลักโรงเรียนเฉพาะความพิการที่ตอบโจทย์คนพิการบางกลุ่ม นโยบายทุกอย่างจึงคิดเป็นบะหมี่สำเร็จรูปไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง อย่ารังเกียจการเมือง ไม่ว่าการเมืองนั้นจะอยู่ในรูปแบบไหน จะเป็นเผด็จการ อำนาจนิยม เสรีประชาธิปไตย ระบบหลายพรรค หรือพรรคเดียวแบบจีน คนพิการต้องอยู่ในทุกที่ ทุกพรรคและต้องเป็นประชาชนที่แอคทีฟสามารถพูดความต้องการได้เต็มที่

อีกเรื่องที่สำคัญอย่างเศรษฐกิจ ระยะนี้นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจับมือกับธุรกิจ เรียกว่า Business and human right คนพิการต้องรู้จักจังหวะนี้ เปลี่ยนภาพลักษณ์เดิมที่ยึดกับสวัสดิการสังคมให้เป็นผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งมาจากกระแสธุรกิจ ในสหรัฐอเมริกาบริษัท ไอซีทียักษ์ใหญ่ตอบโจทย์คนพิการเพราะรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ออกกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง ที่บีบให้ไมโครซอฟท์ แอปเปิ้ลและกูเกิ้ลต้องออกแบบเทคโนโลยีที่คำนึงถึงคนพิการ ปรากฏว่าเมื่อผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายทั่วโลกก็เกิดอิทธิพลต่อตลาดและคนพิการนิยมใช้กันมาก แต่กลับไม่เกิดขึ้นในตลาดเอเชีย ฉะนั้นถ้าเราต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง เราต้องสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงตัวเอง เอาผลกำไรจากการเปลี่ยนแปลงเป็นตัวดึงดูด หากคุณไปคุยกับทิม คุก เขาจะมองว่าคนพิการเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีประโยชน์ เป็นฐานลูกค้า ยิ่งทำให้คนใช้สินค้าเขามากเท่าไหร่กิจการก็ยิ่งขยายฐาน แต่บ้านเรากลับมองว่า คุณต้องดูแลและบริจาคให้คนพิการ สำหรับบ้านเราการคิดยังอยู่ในยุคนั้น ถ้าเราคิดว่าคนพิการเป็นผู้ได้รับการสงเคราะห์ ภาคธุรกิจก็จะไม่มีแรงจูงใจเพียงพอ

 

คนพิการในฐานะปัจเจกสามารถขับเคลื่อนงานคนพิการได้อย่างไร

ผมเชื่อในเรื่องการรวมตัว เราต้องสร้างบรรยากาศให้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือไม่ ได้รวมตัวกันภายใต้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อให้เกิดสังคมที่เข้มแข็ง คนพิการเองจะต้องมีกลุ่ม มีพวก มีชมรม มีคลับ หรือสมาคม อีกทั้งคนพิการก็ต้องเข้าไปอยู่ในชุมชนอื่นที่ไม่ใช่เรื่องเฉพาะความพิการ ในที่ที่คนอื่นมองเห็น เป็นส่วนหนึ่งของทุกชุมชน ทุกอาชีพและไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องคนพิการเพราะคนพิการก็มีความสนใจหลากหลาย เป็นมนุษย์คนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีคุณสมบัติเดียว

ในช่วงโควิด-19 คนพิการอาจได้รับผลกระทบมาก แต่ผลกระทบครั้งนี้อาจทำให้เราเข้มแข็งขึ้น คนพิการหลายคนต้องเสาะแสวงหาโอกาสใหม่ เพื่อให้มีความปกติใหม่ หลายเรื่องก็เป็นประโยชน์กับเรา โดยเฉพาะเมื่อไทยพยายามบอกว่าตัวเองเป็นฮับ ฉะนั้นคุณต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงทำให้โอกาสผลักดันสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้มีมากขึ้น ผมว่าเราต้องมองทุกอย่างเป็นโอกาส  หากเราน้อยเนื้อต่ำใจว่าคนพิการทำยังไงก็เอื้อมไม่ถึง เราก็คงไม่มีวันไปถึง

 

 

ขอขอบคุณ  https://thisable.me/content/2020/07/638

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *